ชี้ 3 ปัจจัยหลักกุมชะตา "เอ็ม คอมเมิร์ซ" ไทย

 

ชี้ ผู้ใช้บริการ, ผู้ให้บริการเนื้อหา, หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บเงิน 3 ปัจจัยหลัก กุมชะตาเอ็ม คอมเมิร์ซไทยรุ่งหรือดับ ในขณะที่ภาพความต้องการใช้มือถือไทย แม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่ก็มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2544 ทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตในลักษณะก้าวกระโดด หรือประมาณ 100% จากตลาดรวม ทั้งยังคาดว่า อัตราการเติบโตเช่นนี้ จะมีต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี

 

โดยปัจจุบันไทย มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 10 ล้านรายจาก จำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคน และหากพิจารณาถึงสภาพของตลาดแล้ว คาดว่า จะสามารถ ขยายตลาด ไปได้อีก 30 ล้านเลขหมาย ดังนั้น โอกาสที่จะทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเอ็ม คอมเมิร์ซ จึงมีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ต ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ ไอ-โหมด ขณะที่ ผู้ผลิตอุปกรณ์แถบประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป มีความพยายามที่จะพัฒนาเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้มีระบบการทำงานง่ายยิ่งขึ้น โดยหวังผลักดันการค้าด้านนี้ขยายตัวมากขึ้นอีก

 

สำหรับประเทศไทยบริการโทรศัทพ์เคลื่อนที่ ซึ่งสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้นั้น มีข้อจำกัดอยู่มาก ทำให้ตลาด ไม่ขยายตัว มากนัก โดยเฉพาะปัญหาของเนื้อหาที่มีจำนวนน้อย และใช้งานได้เพียงภาษาอังกฤษเท่านั้น จึงส่งผลให้ ตลาดโมบาย ดาต้าคอมมูนิเคชั่น ไม่เติบโตเท่าควร รวมถึงบริการต่างๆ ที่จะออกมาให้บริการนั้น ขึ้นอยู่กับการผลักดัน ของผู้ให้บริการเป็นหลัก เนื่องจากโครงสร้างตลาดยังอยู่ในระบบผูกขาด

 

3 องค์ประกอบสร้างตลาด

..วิชุดา ณ สงขลา ผู้จัดการธุรกิจไร้สาย อินเทอร์เน็ต โซลูชั่น บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การทำธุรกรรม ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะเอ็ม คอมเมิร์ซ นั้น มีปัจจัยประกอบหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีโครงข่าย ที่สามารถรับส่งข้องมูล (ดาต้าคอมมูนิเคชั่น) รวมทั้งเครื่องลูกข่าย ที่นำมาใช้งาน ที่ต้องรับการใช้ดาต้า ที่มีผู้ผลิตพยายามที่จะทำการพัฒนาให้มีการใช้งานง่าย เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ขณะที่ แนวทางการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นจริงได้ต้องประกอบด้วย

1. ผู้ใช้บริการ (User )

2. ผู้ให้บริการเนื้อหา (Content) ที่ต้องทำความตกลง ส่วนแบ่งรายได้กับผู้ให้บริการ และ

3. หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บเงิน (Payment service Provider) ซึ่งหน่วยงานหลังนี้มีความสำคัญมาก โดยผู้ให้บริการจะทำหน้าที่จัดเก็บเงินเอง

โดยการซื้อขายสินค้า และบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ยังมีการใช้บริการในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน โดยมีทั้งใช้เพื่อความบันเทิง(Entertainment) เช่น การซื้อบัตรชมภาพยนตร์ การดาวน์โหลดเกม และเพลง เป็นต้น น..วิชุดา กล่าวอีกว่า ในแถบยุโรปได้คาดการณ์ว่า จะมีการโทรศัพท์เคลื่อนที่รับส่งข้อมูลเพิ่มเป็น 28% ของจำนวน ผู้ใช้บริการ 171 ล้านเลขหมาย ในปี 2548 จากปัจจุบันที่มีการใช้งานเพียง 10% จากจำนวนผู้ใช้บริการ ทั้งหมด 75 ล้านเลขหมาย ส่วนของประเทศไทยก็คาดว่า น่าจะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ

 

ขณะที่ การสร้างตลาดมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วย องค์ประกอบของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาโครงข่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ซึ่งมีความรวดเร็ว และสามารถรับส่งข้อมูลในระบบมัลติมีเดีย และการนำระบบจีพีอาร์เอสมา ซิมทูคิดระบบรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรม หรือการซื้อขายที่เกิดขึ้น โดยนำเทคโนโลยีการเชื่อมระหว่างอุปกรณ์เข้าด้วยกันระบบบูลธูท และการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์การ์ดต่างๆ ส่วนการผลักดันให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งานนั้น จะเน้นความพยายามที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้งาน เช่น การรับส่ง ข้อมูลสั้น (เอสเอ็มเอส) การให้ผลประโยชน์คู่ค้า และผู้พัฒนาเนื้อหาดอทคอม ซึ่งในประเทศไทย ยังมีเนื้อหาสนับสนุนการใช้น้อย รวมถึงความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลแต่ละครั้งที่มีการทำธุรกรรม

 

การสนับสนุนด้านเนื้อหาจำเป็นมาก

ทั้งนี้จะพิจารณาได้จากประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จในการให้บริการไอโหมดได้นั้น เพราะให้ความสำคัญ ต่อการพัฒนาเนื้อหาข้อมูลเป็นหลัก โดยมีผู้พัฒนาเนื้อหาข้อมูลในปริมาณมาก โดยมีเนื้อหาด้านการเงิน อย่างเดียว ประมาณ 200-300 ไซต์ ทำให้มีแรงจูงใจที่จะเข้าใช้ระบบมากขึ้น พร้อมกันนี้ อนาคตผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยังเตรียมเข้าสู่การพัฒนาเคลื่อนลูกข่าย ให้สามารถบันทึกบาร์โค้ดสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ด้วย ทั้งนี้เมื่อนำเครื่องสแกนกับบาร์โค้ดของสินค้า ตัวเลขจะแสดงหน้าจอ ทำให้เจ้าของเครื่อง สามารถนำตัวเลขที่ปรากฏนั้น ไปสั่งซื้อสินค้า หรือการซ่อมบำรุงเครื่องกลที่จำนวนอะไหล่จำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ก็สามารถที่นำโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าจ่อที่เลขหมายอะไหล่ เครื่องก็จะบันทึกข้อมูล เพื่อส่งต่อไปที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเมื่อมีการสั่งซื้ออะไหล่ทดแทนของเก่าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย

 

สำหรับปัญหา และอุปสรรคการดำเนินของเอ็ม คอมเมิร์ซ ที่มีส่งต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ที่จะใช้บริการดังกล่าว หรือไม่คงขึ้นอยู่กับ 1. ระบบรักษาความปลอดภัย (Security) 2. ความเร็วในการส่งข้อมูล( Data Rates) 3. ข้อจำกัดของโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Handset limitation) 4. เนื้อหา (Content) และ  5.ระบบเปย์เมนท์ (Payment methods)

 

เอไอเอสอยู่ในขั้นพัฒนาระบบ

..วรรณนี ศรีวิเศษ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาแอพพลิเคชั่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ธุรกิจเอ็ม คอมเมิร์ซ ที่เอไอเอส ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ประกอบด้วย โมบายแบงกิ้ง, โมบายบุ๊คกิ้ง, โมบายเปย์เมนท์, โมบายคิดเก็ต, โมบายเกม, โมบายมิวสิคและโมบายคลาสโตเมอร์แคร์ ทั้งนี้รูปแบบเนื้อหาดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ยังเป็นเฉพาะกลุ่มนักศึกษา และคนที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ จะเข้าใจการใช้เทคโนโลยีที่สร้างความคล่องตัวในการดำเนินชีวิต

 

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของบริการเอ็ม คอมเมิร์ซในเบื้องต้นนั้น มีการกระตุ้นผู้ใช้บริการ โดยส่งข้อความและส่วนลด ถึงผู้ใช้บริการโดยตรง และสามารถเข้าไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ หรือการให้ข้อมูลถึงผู้ใช้ในพื้นที่ ซึ่งมีการจัดกิจการส่งเสริมการขายเหล่านี้ เป็นต้น "ตลาดบริการโทรศัพท์พรีเพดที่มีอัตราเติบโตสูงมากนั้น การพัฒนาบริการให้ใช้งานกับพรีเพด เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ให้รอบคอบ และมีแนวทางความเป็นไปได้ในอนาคต" ..วรรณนี กล่าว

 

โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ควรจะเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งญี่ปุ่นมอง ว่า อี-เมล์บริการเด่น (Killer Content) ที่กระตุ้นให้มีการใช้โทรศัพท์อินเทอร์เน็ตสูงถึง 46% จากเนื้อหาทั้งหมด อินเทอร์เน็ต 54% จากจำนวนผู้ใช้บริการ 32,156,000 เลขหมาย มีพอรทัลไซต์ถึง 3,000 เวบไซต์ และมีเนื้อหา มากถึง 53,534 เวบไซต์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.