เผย 4 ปัจจัยหลัก บีบวงการธุรกิจมือถือปรับตัว

ชี้หัวใจหลักอยู่ที่เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้ใช้เปลี่ยน ผู้ค้าปรับตัวหาทางรอด

 

4 ปัจจัย บีบผู้ค้า-ผู้ผลิต-ผู้ให้บริการโทรมือถือปรับตัว

ผู้ค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ชี้ 4 ปัจจัยหลัก ครอบคลุมตั้งแต่ด้านเทคโนโลยี จนถึงพฤติกรรมผู้ใช้บริการที่ปรับเปลี่ยนไป ขับดันผู้ประกอบการในธุรกิจด้านนี้ของไทยต้องปรับโฉม เพื่อความอยู่รอด และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ในยุคที่กลไกตลาดแบบเสรีเริ่มเข้ามามีบทบาท นับจากดีแทค ประกาศปลดล็อกอีมี่ และตามมาด้วยทีเอ ออเร้นจ์ "จุดพลุ" การแข่งขันรอบใหม่ ที่มุ่งขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้ซื้อเครื่องใหม่ และผูกใจผู้ใช้บริการรายเดิม ด้วยโปรโมชั่นหลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกัน กลไกตลาดนำเข้าเครื่องลูกข่ายแบบเสรีดังกล่าว ก็ส่งผลกระทบโดยตรงกับโอกาสทำกำไรต่อเครื่องที่ลดน้อยลง เพราะจะมีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น ระหว่างผู้ค้ารายใหญ่ๆ ที่อยู่ในธุรกิจนี้อยู่แล้ว และทำธุรกิจที่อยู่ในระบบ กับผู้ค้าหน้าใหม่รายย่อย หรือผู้ที่เข้าไปหิ้วเครื่องเข้ามาเองจากต่างประเทศ (Smugling) ซึ่งแทบจะไม่มีต้นทุนดำเนินการเลย

 

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของผลกระทบทางอ้อมแล้ว การแข่งขันทุกรูปแบบของทั้งผู้ค้า และผู้ให้บริการ ทำให้ "ต้นทุน" ด้านการใช้บริการลดต่ำลง และลูกค้ามีกำลังซื้อเข้ามา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการเพิ่มโอกาสขยายฐานตลาดของผู้ประกอบการ จากปริมาณลูกค้าใหม่ ที่มีประมาณการณ์ไว้ว่าน่าจะมีอีกไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน จากประชากรโดยรวมของประเทศ

 

4 ปัจจัยขับดันตลาด

นายศิริชัย ลาภมหานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือไออีซี กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย

1. เทคโนโลยี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากด้านเสียง (วอยซ์) สู่บริการด้านข้อมูล (ดาต้า) นับเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้ฐานผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายวงกว้างขึ้น ส่งผลให้ตลาดเติบโตตามไปด้วย

2. กลไกตลาดแบบเสรี โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาล ในการเปิดเสรีตลาดสื่อสาร ซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นจากผู้ให้บริการบางรายใช้กลยุทธ์ปลดล็อกอีมี่ เป็นเครื่องมือในการแข่งขันแล้ว ดังนั้นในอีกไม่นานเชื่อว่าผู้ให้บริการทุกรายคงไม่กล้าล็อกอีมี่อีกต่อไป รวมทั้งจะหันมาแข่งกันปรับโครงสร้างค่าบริการ (airtime tariff) ให้ลดต่ำลง หรือสอดคล้องกับผู้บริโภคมากขึ้น

3. ผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ โดยผู้ใช้บริการจะเริ่มแตกเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะการใช้งาน (นิช มาร์เก็ต) ดังนั้นผู้ให้บริการ จึงจำเป็นต้องจัดทำแพ็กเกจค่าบริการ หรือการตลาดที่หลากหลาย และให้มูลค่าเพิ่มแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละกลุ่มผู้ใช้งาน

4. คุณสมบัติการทำงานรูปแบบใหม่ๆ (feature) ของอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ก็เช่น การใช้งานในลักษณะของเครื่องมือเลขาอิเล็กทรอนิกส์ (พีดีเอ) หรือการรวมการใช้งานทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ และพีดีเอ อยู่ในเครื่องโทรศัพท์ ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้งาน และวิถีการทำธุรกิจ เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป

 

นอกจากนี้ แนวโน้มการเข้ามาของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคที่ 3 (3จี) ที่จะสร้างให้เกิดมาตรฐาน "เดียวกัน" ของระบบสื่อสารไร้สายผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากเดิมที่โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละระบบ จะมีการใช้งานย่านความถี่ที่แตกต่างกันออกไป ยังทำเพิ่มโอกาสในการผลิตเครื่องลูกข่ายของซัพพลายเออร์ในคราวละจำนวนมากๆ ที่สามารถทำตลาดได้ทั่วโลก กับทุกระบบ ทุกผู้ให้บริการได้ ขณะเดียวกัน การแข่งขันระหว่างผู้ผลิต (ซัพพลายเออร์) ก็จะรุนแรงตามไปด้วย ทำให้แต่ละค่ายต้องนำ "จุดแข็ง" ที่มีอยู่เข้ามาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อสร้างจุดเด่น และจุดแตกต่างในตลาด เช่น ค่ายญี่ปุ่น มีจุดแข็งด้านจอภาพ และฟังก์ชั่นของการให้บริการเนื้อหาด้านบันเทิง ขณะที่ผู้ผลิตจากประเทศจีน จะมีจุดเด่นของตัวสินค้าที่ราคาไม่สูงนัก เพราะมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนการผลิต ทั้งในส่วนของค่าแรง และจำนวนผลิตแบบแมส โพรดักต์ โดยจุดแข็ง และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันของผู้ผลิตแต่ละค่าย จะเป็นตัวกำหนด "ตำแหน่ง" ของสินค้ายี่ห้อ หรือรุ่นนั้นๆ

 

ตลาดไทยขยับลงกลุ่ม "ซี"

สำหรับแนวโน้มของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันเริ่มขยับเข้าไปในกลุ่มผู้ใช้บริการระดับ "C" มากขึ้น ดังนั้นปัจจัย "ด้านราคา" จะเข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องอย่างมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสของเครื่องลูกข่ายที่กำหนดราคาระดับปานกลาง-ต่ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เริ่มขยายวงออกมาในแนวกว้างมากขึ้น ก็ผลักดันให้บรรดาผู้ผลิตเครื่อง จำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตที่ตอบสนองต่อ "วัฒนธรรมท้องถิ่น" มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการตอบสนองการใช้งานภาษาไทย (Thai Input)

 

โดยเขาเชื่อว่านับจากนี้ไป บรรดาผู้ผลิตค่ายต่างๆ จำต้องพัฒนาเครื่องลูกข่ายรุ่นที่รองรับการให้บริการข้อมูลภาษาไทย ออกมาสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น จากที่ผ่านมามักมองเฉพาะการทำเมนูภาษาไทยเท่านั้น ขณะที่เครื่องรุ่นที่รองรับการใช้งานภาษาไทยอย่างเต็มตัวนั้น ยังจำกัดอยู่บางยี่ห้อ บางรุ่น "เราเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวด้านนี้บ้างแล้ว จากการที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส มาร์เก็ตติ้ง (เอดับบลิวเอ็ม) นำเข้าเครื่องลูกข่ายยี่ห้อ เอ็น-จอย (N-joy) จากประเทศจีนเข้ามาทำตลาด โดยตั้งราคาเพียง 3,900 บาท แต่ก็สามารถรองรับบริการที่เป็นภาษาไทยได้" นายศิริชัยกล่าว

 

ผู้ให้บริการต้องผลักดัน

ด้านนายวิบูลย์ เรืองเกรียงสิน ผู้อำนวยการบริหารสายงานการตลาดและการขาย บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาเครื่องลูกข่ายที่รองรับภาษาไทยได้นั้น แบ่งได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. Mobile Terminated (MT) ได้แก่ มีเมนูภาษาไทย, รับข้อความภาษาไทยได้ และ 2. Mobile Originated (MO) ที่สนับสนุนการป้อนข้อความภาษาไทย โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตต่างๆ ทยอยส่งเครื่องในรูปแบบแรกออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในรูปแบบที่สองนั้น มีหลายรายที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา เช่น อัลคาเทล, ซีเมนส์ และมีบางรายเช่น โนเกีย เท่านั้นที่เริ่มส่งสินค้าเข้าตลาดแล้วบางรุ่น

 

สาเหตุที่การพัฒนาเครื่องที่สนับสนุนการป้อนข้อความภาษาไทยค่อนข้างล่าช้า เพราะการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะอำนวยความสะดวก ในการใช้งานภาษาไทยยุ่งยากพอสมควร และในกรณีที่ผู้ผลิต (ซัพพลายเออร์) ร่วมมือกับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์นอกกลุ่ม ก็จำเป็นต้องมีการเปิดเผยซอร์สโค้ดของซอฟต์แวร์ในตัวเครื่องของยี่ห้อนั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม เขามั่นใจว่าภายในปีนี้จะเห็นความเคลื่อนไหวจากหลายยี่ห้อ เพราะในส่วนของผู้ให้บริการเอง ก็คงต้องผลักดันให้มีเครื่องรุ่นที่รองรับการใช้งานภาษาไทยออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มโอกาสของรายได้จากช่องทางใหม่ๆ ในการใช้บริการด้านข้อมูล ซึ่งจะเสริมกับค่าบริการจากการโทร (แอร์ไทม์)

 

ความหลากหลายมากขึ้น

นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า จากนี้ไปตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยแบ่งตามกลุ่มการใช้งานได้ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ มุ่งใช้งานด้านเสียง (วอยซ์ เซ็นทริกซ์) และมองการใช้งานด้านลูกเล่น (ฟีเจอร์) ของเครื่องลูกข่าย ทั้งนี้ เขายอมรับว่าฐานลูกค้าใหม่ๆ มีแนวโน้มที่จะมีตลาดคอนซูเมอร์เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะให้ความสนใจเรื่องของราคาเครื่องลูกข่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากโอกาสของการขายในตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะส่งผลให้มีต้นทุนนำเข้าต่อเครื่องที่ต่ำลง เพราะมีการนำเข้าคราวละปริมาณมากๆ ดังนั้นก็สามารถกำหนดราคาเครื่องที่สอดคล้องกับกำลังซื้อได้มากขึ้นด้วย โดยในส่วนของเครื่องที่มุ่งลูกค้าในกลุ่มใช้งานด้านเสียงเป็นหลักนั้น ก็จะมีราคาต่ำกว่าเครื่องรุ่นที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ เพิ่มเติม ทำให้สอดคล้องกับตลาดแต่ละกลุ่ม

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.