รายงาน : นักวิเคราะห์ชี้อุตสาหกรรมมือถือส่อเค้าถดถอยทั่วโลก

ชิคาโก - นักวิเคราะห์เผยผลประกอบการไตรมาสสองสะท้อนจุดอับตลาดมือถือ ระบุ เหตุเศรษฐกิจซบเซาบีบผู้บริโภคลดกำลังซื้อ ขณะที่ผู้ผลิตแข่งหั่นราคาดุเดือดหวังแย่งส่วนแบ่งตลาด ด้านโนเกียนำทีมปรับลดตัวเลขประกอบการขนานใหญ่ ส่วนโซนี่ อีริคสันสวนกระแสเผยยอดขายเครื่องจีเอสเอ็มเพิ่ม 85%

 

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ผลประกอบการประจำไตรมาสล่าสุดที่ผู้ผลิตมือถือยักษ์ใหญ่ 4 ราย จากทั้งหมด 5 ราย ได้เปิดเผยไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังตกอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตต้องแข่งขันกันลดราคาอย่างดุเดือด

 

นายจอร์มา ออลลิล่า หัวหน้าฝ่ายบริหารของบริษัทโนเกีย เจ้าตลาดอันดับหนึ่ง กล่าวว่า ความซบเซาทางเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคพากันลังเลใจที่จะซื้อมือถือรุ่นที่มีราคาแพงๆ "ผลประกอบการโนเกียส่งสัญญาณให้เห็นว่าส่วนต่างทางการตลาดกำลังลดน้อยลง นั่นหมายความว่าการแข่งขันในตลาดมือถือจะต้องดุเดือดมากยิ่งขึ้น และผมมั่นใจว่าเราจะได้เห็นการลดราคาขนานใหญ่จากผู้ผลิตแทบทุกราย" นายชอว์น แคมป์เบลล์ หัวหน้าบริษัท แคมป์เบลล์ แอสเสท เมเนจเมนท์ กล่าว

 

เช่นเดียวกับโนเกีย ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ อันได้แก่ บริษัท โมโตโรล่า อิงค์., บริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์, บริษัทโซนี่ อีริคสัน และบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่ง ต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อส่วนแบ่งตลาดของตน ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายเริ่มมีอำนาจในการกำหนดราคาจำหน่ายมือถือมากขึ้น ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงสุดในอุตสาหกรรมนั้น ผู้ผลิตท้องถิ่นก็ใช้กลยุทธ์หั่นราคากันอย่างดุเดือดจนทำให้ผู้ผลิตต่างชาติไม่สามารถเข้าแข่งขันได้

 

บริษัท โนเกีย ซึ่งได้รายงานผลกำไรในช่วงไตรมาสที่ 2 ไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า รายได้ของตนเพิ่มขึ้นเพียง 2% แม้ยอดจำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นราว 14% พร้อมเตือนว่า การแข่งขันด้านราคา และภาวะเงินดอลลาร์อ่อนตัวจะทำให้อัตราการเติบโตของไตรมาสที่ 3 สูงไม่ถึง 10% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ขณะที่นักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า หากแม้แต่ผู้นำอุตสาหกรรมอย่างโนเกีย ยังคาดว่า ตนจะมีส่วนต่างผลกำไรลดลง ผู้ผลิตรายอื่นที่มีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่ามาก น่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากยิ่งกว่า

 

ด้านบริษัท โมโตโรล่า ผู้ผลิตอันดับสอง รายงานว่า ยอดจำหน่ายมือถือประจำไตรมาสที่ 2 ของตนลดลงถึง 13% ขณะที่บริษัท ซัมซุง แห่งเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า สามารถจำหน่ายมือถือไปได้ราว 12 ล้านเครื่อง ซึ่งน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ราว 1 ล้านเครื่อง และได้แต่ภาวนาว่า ตนจะยังสามารถรั้งตำแหน่งอันดับสามไว้ได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม บริษัทร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่น-สวีเดน "โซนี่ อีริคสัน" กลับกลายเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่มีผลประกอบการน่าพอใจ ทางบริษัท กล่าวว่า โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ของตนเริ่มติดตลาดแล้ว โดยยอดจำหน่ายมือถือระบบจีเอสเอ็มในปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 85% จากตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว

 

ทั้งนี้ บริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ ดาต้าเควสต์ คาดประมาณว่า อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีมูลค่าทั้งหมดสูงถึง 64,000 ล้านดอลลาร์นั้น มียอดจำหน่ายมือถือราว 423 ล้านเครื่องในปี 2545 ขณะที่ยอดขายในปี 2544 อยู่ที่ระดับ 412 เครื่อง และคาดว่าในปีนี้จะมียอดขายทั้งหมด 440 ล้านเครื่อง กระนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังคงไม่เชื่อมั่นต่อคำกล่าวอ้างของผู้ผลิตทั้งหลาย ที่ยืนยันว่าตนจะต้องมีผลประกอบการดีขึ้นในไตรมาสหน้า "ในไตรมาสที่ 3 ทั้งโนเกีย โมโตโรล่า และซัมซุง จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ และต่างก็คาดหวังว่า ตนจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ผมว่านี่คงไม่เกิดขึ้นแน่นอน" นายไบรอัน โมดอฟฟ์ นักวิเคราะห์อุปกรณ์ไร้สายแห่งบริษัท ดอยช์ แบงก์ ซิเคียวริตี้ กล่าว พร้อมเสริมว่า การเพิ่มยอดขายอาจยังพอเป็นไปได้ แต่บริษัทเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาอย่างหนัก

 

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ ยังกล่าวอีกว่า การแข่งขันในตลาดมือถือขณะนี้ดุเดือดมาก จนทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถขายมือถือรุ่นใหม่ๆ ได้ หากไม่มีการลดราคาขนานใหญ่ไปพร้อมๆ กัน อาทิ ในสหรัฐอเมริกา บริษัท เวอริซอน ไวร์เลส ต้องลดราคาโทรศัพท์โมโตโรล่ารุ่นใหม่ลงถึง 300 ดอลลาร์ จนมีราคาจำหน่ายเหลือเพียงแค่เครื่องละ 50 ดอลลาร์ ในช่วงเทศกาลวันหยุดปีที่แล้ว "อุตสาหกรรมนี้จะเริ่มอิ่มตัวขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมที่เติบโตเต็มที่ คุณจะต้องทำให้ผู้คนเชื่อว่าพวกเขาจะต้องซื้อขายสินค้ารุ่นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่จัดการยากมาก" นางเจน ชวิก หัวหน้าฝ่ายบริหารบริษัทที่ปรึกษาโชสเต็ก กรุ๊ป กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.