จับชีพจร "อุตสาหกรรมมือถือโลก" "

 

ในตลาดโลกที่มีขนาดเล็กลง นวัตกรรมใหม่ ซึ่งดึงดูดใจผู้บริโภคในภูมิภาคหนึ่งกำลัง จะกลายเป็นแนวโน้มระดับโลก ด้วยอัตราการเติบโตอย่าง ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และกระบวนการนี้ ได้ส่งผลกระทบกับโครงสร้างอำนาจของหลายอุตสาหกรรม ทั้งคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ แต่สำหรับในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ไม่มีอุตสาหกรรมไหนได้รับผลกระทบดังกล่าวมากเท่ากับอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ เนื่องจาก รูปลักษณ์ใหม่ๆ หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือยุคปัจจุบัน เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในโลกได้เกือบทุกปี ประกอบกับผู้บริโภคที่ต้องการความอิสระในการเดินทาง มองหานวัตกรรมใหม่ล่าสุดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ร้านค้าปลีกท้องถิ่น จึงแข่งขันกัน วางตลาดอุปกรณ์รุ่นล่าสุด ขณะที่ผู้ให้บริการเองก็สั่งซื้ออุปกรณ์ที่ว่านี้เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง ก่อนหน้านี้ การเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว ในเรื่องรสนิยมและความต้องการ ได้บีบบังคับให้เหล่าผู้ผลิต ต้องกระโดด เข้าสู่สนามการแข่งขันที่ดุเดือด อีกทั้งกดดันให้ผู้ผลิตบางรายต้องถอนตัวออกจากธุรกิจนี้ ขณะที่ ผู้ผลิต หลายแห่ง ซึ่งสามารถเกาะติดกระแสแฟชั่นของวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้นั้น จะสามารถกำหนดราคาให้สูงขึ้น และกอบโกยผลกำไรได้อย่างงดงาม

 

เมื่อปีที่ผ่านมา ยอดขายโทรศัพท์มือถือของบริษัทซัมซุง เพิ่มขึ้น 51% ทั้งนี้ เป็นเพราะ รุ่นจอสีได้รับความนิยม อย่างแพร่หลาย ทั่วเอเชีย ยุโรป และสหรัฐ ขณะที่หลายบริษัท ซึ่งยังไม่ผลิตโทรศัพท์มือถือประเภทนี้ออกวางตลาด ก็จะพลาดโอกาสทอง ในการทำยอดขาย ครั้งสำคัญ ตัวอย่างเช่น โนเกีย ซึ่งมียอดขายเกือบจะคงที่เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่โมโตโรล่ากระเตื้องขึ้นแค่ 4% ด้านผู้ผลิตจีนที่โดดเด่น อย่าง บริษัทนิงโบ เบิร์ด และทีซีแอล เปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่แทนรุ่นเก่าหลังจากวางตลาดได้เพียง 6 เดือน เทียบกับในอดีต ซึ่งโมโตโรล่า โนเกีย และผู้ผลิตรายอื่น จะวางจำหน่ายโทรศัพท์มือถือของตัวเองแต่ละรุ่นประมาณ 2 ปี

 

เส้นทางยาวไกล

บริษัทโมโตโรล่า ครองตำแหน่งผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือนับตั้งแต่เปิดตัวโทรศัพท์พกพาเป็นครั้งแรกในสหรัฐ เมื่อปี 2527 โดยโทรศัพท์ที่ว่านี้ เป็นสิ่งประหลาดหนัก 28 ออนซ์ เมื่อเทียบกับโทรศัพท์รุ่นปัจจุบันของโมโตโรล่า ที่หนักเพียง 2.8 ออนซ์เท่านั้น แต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในยุโรป เริ่มใช้เครือข่ายชนิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้โทรศัพท์มือถือของโนเกียได้รับความนิยม ในปี 2541 ยอดขายโทรศัพท์มือถือของโนเกีย พุ่งขึ้นจากปีก่อนหน้านี้เป็น 73% คิดเป็นมูลค่า 9,420 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาดในเอเชีย และสหรัฐ อีกทั้งยังเบียดโมโตโรล่า ซึ่งปีนั้นมียอดขายไม่ดีนัก ขึ้นเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อพิจารณาจากจำนวนเครื่อง

 

กำเนิดรุ่นฝาปิดจอสี

อีก 3 ปีต่อมา โนเกีย และโมโตโรล่า ยังคงขับเคี่ยวกันผลิตโทรศัพท์มือถือจอสีขาวดำกันเช่นเดิม แต่สำหรับเอเชียแล้ว การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่รอบใหม่กำลังก่อตัวขึ้น เมื่อบริษัทมือถือจากญี่ปุ่นและเกาหลี ริเริ่มพัฒนาโทรศัพท์มือถือฝาปิดจอสี ในปี 2543 เจ้าหน้าที่ของบริษัทโนเกีย มองว่า จอสี ซึ่งจะทำให้ต้นทุนผลิตมือถือเพิ่มขึ้น 20% นั้น มีราคาแพงเกินกว่าที่จะวางขายในตลาดโลกได้ ส่วนโมโตโรล่าเองก็เริ่มพัฒนาโทรศัพท์มือถือฝาปิดรุ่น สตาร์แทค (StarTAC) เมื่อ 2539 แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัท ก็ลงมติว่า จอสีมีราคาแพงเกินกว่าที่จะนำมาใช้ผลิตโทรศัพท์มือถือขายในยุโรปและสหรัฐ กระนั้น ทั้งโมโตโรล่าและโนเกีย คิดผิด ทั้งนี้ หลังจากได้รับความนิยมในเอเชียไม่นาน โทรศัพท์มือถือจอสีรุ่นฝาปิด ก็ได้รับความสนใจจากผู้ให้บริการในยุโรป อย่างบริษัทโวดาโฟน ต่อมาช่วงปลายปี 2544 บริษัทโซนี่ อีริคสัน โมบาย คอมมิวนิเคชันส์ เอบี ก็วางตลาดโทรศัพท์มือถือจอสีในยุโรปเป็นครั้งแรก และขายหมดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนบริษัทเอ็นอีซี คอร์ป. แห่งญี่ปุ่น เริ่มขายโทรศัพท์มือถือฝาปิดจอสีในยุโรปประมาณเดือนมีนาคม 2545 ตามมาด้วยบริษัทซังซุง ที่วางตลาดเครื่องลูกข่ายที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันที่อังกฤษช่วงเดือนพฤษภาคม และส่งโทรศัพท์มือถือจอสีออกขายในสหรัฐกลางปี 2545 และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี

 

ช่วงชิงโอกาสทอง

บริษัทโมโตโรล่า เข้าใจว่า ตัวเองได้พลาดโอกาสทองไปแล้ว แต่ก็พยายามฉวยโอกาสที่ว่านี้กลับมา ทางบริษัทได้วางจำหน่ายโทรศัพท์จอสีที่อเมริกาเหนือในเดือนกันยายน และที่ยุโรปในเดือนตุลาคม 2545 และปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความเร็วในการผลิต ขณะที่ โนเกีย ลุยเปิดตัวโทรศัพท์มือถือจอสีหลายรุ่นช่วงปลายปี 2545 และต้นปี 2546 แต่ความพยายามของทั้งสองบริษัทไม่เป็นผล เมื่อร้านค้าปลีกส่วนใหญ่ สั่งซื้อเครื่องลูกข่ายจอสีจากผู้ผลิตรายอื่นสำหรับขายในช่วงคริสต์มาสแล้ว และ ณ เวลาที่โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ของโนเกียวางตลาด รุ่นจอสีก็กลายเป็นสินค้าธรรมดา ซึ่งมีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่โนเกีย เชื่อว่า ทางบริษัทเปิดตัวโทรศัพท์มือถือจอสีในช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว นายจอร์มา ออลลิลา หัวหน้าฝ่ายบริษัทโนเกีย ยืนยันว่า ตนไม่เชื่อว่าการเปิดตัวสินค้าใหม่เป็นรายแรกจะเป็นสิ่งสำคัญเสมอไป

 

กระแสฮิตมือถือติดกล้อง

ขณะเดียวกัน แนวโน้มใหม่ ก็เกิดขึ้น นั่นคือ โทรศัพท์มือถือติดกล้อง ซึ่งวางตลาดครั้งแรกในญี่ปุ่น เมื่อปี 2544 ในครั้งนี้ โนเกีย มองว่า โทรศัพท์มือถือดังกล่าวจะได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในปี 2545 ทางบริษัทจึงวางจำหน่ายโทรศัพท์มือถือติดกล้องในยุโรป และอีกหลายประเทศ ส่วนโมโตโรล่า ก็พลาดโอกาสทองของตัวเองอีกครั้ง เมื่อบริษัทสปรินท์ พีซีเอส วางตลาดโทรศัพท์มือถือติดกล้องของซันโย ในช่วงเดือนกันยายน-เดือนพฤศจิกายน ปี 2545 และกลายเป็นโทรศัพท์ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท แม้ยักษ์ใหญ่วงการมือถือจากเมืองชอร์มเบิร์กแห่งนี้ จะทำตลาดโทรศัพท์มือถือติดกล้องหลายรุ่นทั่วโลก แต่ยังไม่มีวางจำหน่ายในสหรัฐ อีกทั้งไม่สามารถป้อนโทรศัพท์มือถือที่ว่านี้ให้กับเวอริซอน ไวร์เลส และซิงกูลาร์ ไวร์เลส ได้ทันตามกำหนด

 

ชิงดำเจ้าตลาด"3จี"

นายลีฟ จี. โซเดอร์เบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ทั่วโลก และพัฒนาองค์กรธุรกิจ ของโมโตโรล่า ให้เหตุผลของความล่าช้าในครั้งนี้ว่า เป็นปัญหาด้านเทคนิค อย่างไรก็ดี โมโตโรล่า เชื่อว่า โทรศัพท์มือถือติดกล้องยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและคิดเป็นสัดส่วนน้อยของตลาดมือถือทั้งหมด พร้อมคุยว่า โทรศัพท์มือถือติดกล้องจำนวนมากที่ทางบริษัทเปิดตัวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงโทรศัพท์ที่รองรับเครือข่ายความเร็วสูง 3จีได้นั้น ได้รับการต้อนรับอย่างดีในยุโรป และอีกหลายประเทศ  ผลการศึกษาของบริษัทสเตรทเตอจี แอนนะลิติคส์ พบว่า ราคาขายส่งเฉลี่ยของโทรศัพท์มือถือติดกล้องลดลง 20% ในปีที่ผ่านมา และจะลดลง 24% ในปี 2547 ขณะที่คาดว่ายอดขายจะทะลุ 65 ล้านเครื่องปลายปีนี้ หรือราว 14% ของตลาดมือถือทั่วโลก โดยผู้นำในตลาด คือ เอ็นอีซี, มัตสึชิตะ อิเล็กทริก อินดัสเทรียล โค. ของญี่ปุ่น และโนเกีย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 15% เท่ากัน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.