กฟผ. - ก.วิทย์ ช่วยรัฐประหยัดงบไอที

มุ่งหน้าประกอบเครื่องใช้เอง ติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพ่น ซอร์ซ เพิ่มทางเลือก

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำเก๋ เพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรจัดซื้อชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์มาประกอบเครื่องเอง หลังโดนตัดงบประมาณการจัดซื้อ ขณะเดียวกัน ร่วมมือกระทรวงวิทย์ฯ ช่วยรัฐประหยัดงบซอฟต์แวร์ จับคู่สร้างคู่มือระบบปฏิบัติการลินุกซ์ ทะเล เป็นตัวอย่างส่งเสริมการใช้โอเพ่นซอร์ซ และเทคโนโลยีในประเทศ

นายอนุชิต จารุจุมพล ตัวแทนสำนักงานวิจัยและพัฒนาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้ริเริ่มประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้เองแล้ว เนื่องจากการถูกตัดงบประมาณการจัดซื้อลงมาก จึงต้องหันไปใช้เทคโนโลยีในประเทศมากขึ้น โดยอาศัยศักยภาพความพร้อมของบุคลากรที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันบุคลากรสามารถประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องได้ภายใน 20 วินาที หากมีอุปกรณ์ทุกอย่างวางพร้อมให้แล้ว

 

โดยวิธีดำเนินการของ กฟผ.เกี่ยวกับการประกอบเครื่องเองนี้ กระทำในวิธีเปิดประมูลชิ้นส่วนประกอบเครื่องแทนการประมูลจัดซื้อเครื่องทั้งเครื่อง ทั้งนี้การประกอบเครื่องเองนั้น กรณีใช้หน่วยประมวลผลอินเทลเพนเทียม 4 ความเร็ว 1.7 กิกะเฮิรตซ์ ดีดีแรม ฮาร์ดดิสก์ 40 กิกะไบต์ จอ 17 นิ้ว หน่วยงานจะมีต้นทุนเครื่องละ 34,000 บาท ขณะที่ราคาซื้อสำเร็จรูปในตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 65,000 บาท ฉะนั้นจึงทำให้ กฟผ.ประหยัดค่าใช้จ่ายต่อเครื่องได้มากเกือบ 2 เท่าตัว นอกจากนั้น การประกอบเครื่องใช้เอง กฟผ.ยังสามารถเพิ่มเติมคุณสมบัติต่างๆ ที่จำเป็นของหน่วยงาน โดยเฉพาะการรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้มากขึ้นกว่าเครื่องที่ขายในตลาด อันเนื่องมาจากระบบภายใน กฟผ.มีอุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีไร้สาย (ไวร์เลส) ซึ่งต้องคำนึงถึงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะรบกวนการทำงานด้วย "การประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้เอง ปัจจุบันทำไปแล้ว 214 เครื่อง และปีหน้าคาดว่าจะขยายอีก 1,000 เครื่อง โดยประมาณการจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใน กฟผ.รวมทั้งสิ้นน่าจะอยู่ที่ 7,000 เครื่อง หากการประกอบเครื่องเองจะมีมากเท่าใดขึ้นอยู่กับอายุการใช้งานของเครื่องด้วย" นายอนุชิต กล่าว

 

โอเพ่นซอร์ซอีกช่องประหยัด

ขณะเดียวกันด้านซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากในแต่ละปีนั้น กฟผ.ได้หันไปเน้นใช้เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ซมากขึ้น โดย กฟผ.ได้ใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซมาหลายปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนเครื่องแม่ข่าย (เซิร์ฟเวอร์) ขององค์กรทั้งหมด 1,000 เครื่องใช้โอเพ่นซอร์ซแล้ว "การริเริ่มใช้โอเพ่นซอร์ซนั้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อซอฟต์แวร์โดยหน่วยงานมีงบประมาณการจัดซื้อซอฟต์แวร์ปีละ 30 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10 ล้านบาท" นายอนุชิต กล่าว

 

หนุนอีกทางเลือก

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำคู่มือการใช้โปรแกรมระบบปฏิบัติการลินุกซ์ ทะเล (Linux Tle) โดยทั้งสองหน่วยงานต่างก็นำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้งาน จึงเป็นคู่มือให้กับหน่วยงานราชการที่สนใจมาใช้งานด้วย

นอกจากนั้น ปัจจุบันนี้หน่วยงานทั้งหมดในกระทรวงฯ ยังได้รับการติดตั้งโปรแกรมปลาดาวออฟฟิศ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้งานในหน่วยงาน ตามนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซภายในกระทรวง หากยอมรับว่ายังต้องสร้างการยอมรับ และความคุ้นเคยในหน่วยงานค่อนข้างมาก  ขณะเดียวกันระบบเครื่องแม่ข่ายด้านเมล์ (เมล์ เซิร์ฟเวอร์) ของกระทรวงก็ได้นำโอเพ่นซอร์ซมาใช้แล้ว และจะขยายเข้าสู่เครื่องแม่ข่ายทำงานต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต (เวบ เซิร์ฟเวอร์) ด้วย "การเริ่มทดลองนำโอเพ่นซอร์ซมาใช้งานทำให้ลดค่าใช้จ่ายการอัพเกรดซอฟต์แวร์ หรือจัดซื้อไลเซ่นใหม่ด้วย และช่วยประหยัดงบประมาณ" นายวราวุธ กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2545

 

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.