กะเทาะอาณาจักรไมโครซอฟท์ ยึดอันดับหนึ่งของโลกเบ็ดเสร็จ

 

นักวิเคราะห์ประเมินเบื้องหลังความสำเร็จไมโครซอฟท์ ชี้ระบบปฏิบัติการ วินโดว์สหนุนรั้งตำแหน่งยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่ง ขณะที่เร่งพัฒนาเทคโนโลยีแซงหน้าคู่แข่ง พร้อมกลยุทธ์เจาะตลาด ครบวงจร เผยทิศทางนโยบายยุคหน้ามุ่งแทรกซึม ชีวิตประจำวันผู้บริโภค

 

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัท ไมโครซอฟท์ จะต้องเจอกับ มรสุมอย่างหนัก ทั้งภาวะตลาดเทคโนโลยี ที่ซบเซามากสุดในรอบ หลายทศวรรษ และการตกเป็นจำเลยในคดีครั้งประวัติศาสตร์ ที่รัฐบาลวอชิงตันจับมือกับมลรัฐ 18 แห่ง ยื่นฟ้องในข้อหาละเมิด กฎหมายต่อต้านการผูกขาด แต่ผลก็คือ ยักษ์ใหญ่แห่งนี้กลับกลาย เป็นบริษัทที่ร่ำรวยมากขึ้น มีการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาไม่ขาดสาย และจากการเปิดเผยตัวเลขบัญชีเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ขึ้นครองตำแหน่งบริษัทที่มีมูลค่า สินทรัพย์รวมสูง เป็นอันดับหนึ่งของโลกไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจทั้ง 11 ภาคของไมโครซอฟท์ พร้อมกับประเมินจุดอ่อนและจุดแข็ง ที่อาจส่งผลต่อสภาวะของบริษัททั้งในปัจจุบันและอนาคตดังต่อไปนี้

 

ครองตลาดระบบปฏิบัติการ

ตามประวัติที่ผ่านมา ปัจจัยที่ส่งผลให้ไมโครซอฟท์สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล ก็คืออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างอัศจรรย์ รวมทั้งผลพวงจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ประกอบกับโชคช่วยอีกเล็กน้อย หลังจากก่อตั้งบริษัทได้เพียง 5 ปี บิล เกตส์ และพอล อัลเลน สามารถชักชวนให้บริษัท ไอบีเอ็ม นำระบบปฏิบัติการเอ็มเอส-ดอส (MS-DOS operating system) มาใช้ในคอมพิวเตอร์ได้สำเร็จ โดยไมโครซอฟท์ได้ซื้อเทคโนโลยีดังกล่าวมาจาก นักพัฒนาโปรแกรมรายหนึ่งด้วยจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย และสิ่งที่ชี้ให้เห็นความเป็นอัจฉริยะของนายเกตส์ ก็คือ เขาได้เก็บลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ดังกล่าวไว้เอง แทนที่จะขายให้กับไอบีเอ็ม ซึ่งในขณะนั้นกลับยึดถือการผลิตพีซีเป็นเพียงธุรกิจชั่วคราว แต่ปรากฏว่า ระบบคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม-ไมโครซอฟท์ ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นวินโดว์สในปัจจุบัน ได้กลายเป็นมาตรฐานของพีซี แทนระบบแมคอินทอชของบริษัท แอปเปิล อย่างรวดเร็ว และในปี 2538 ไมโครซอฟท์ก็สามารถหยั่งรากในอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างมั่นคง ด้วยระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 95 ที่มีคุณสมบัติเด่นคือ ปรับปรุงให้ผู้บริโภคใช้งานได้ง่าย

การอัพเกรดระบบปฏิบัติการวินโดว์สมาจนถึงเวอร์ชั่นล่าสุด "วินโดว์ส เอ็กซ์พี" ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทได้อย่างมหาศาล จนทำให้ไมโครซอฟท์กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีกำไร มากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1990 โดยรายงานจากบริษัท ไอดีซี ระบุว่า ยอดขายรวมของวินโดว์สในตลาดมีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม สถานะนี้กำลังถูกคุกคามจากระบบปฏิบัติการ สาธารณะลินิกซ์ ซึ่งเริ่มได้รับการต้อนรับจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยคานอำนาจของไมโครซอฟท์ได้ ลินิกซ์มียอดขายเพียงราว 80 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา แต่บริษัทใหญ่ๆ จำนวนมาก เช่น ดอยช์ เทเลคอม และเครดิต สวิส เฟิร์ส บอสตัน ได้เริ่มนำมาใช้ในการปฏิบัติงานบางอย่างแล้ว ขณะที่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อย่างเดลล์, เอชพี และไอบีเอ็ม ก็เริ่มนำมาใช้ผลิตคอมพิวเตอร์ของตัวด้วย แม้ว่ายอดจำหน่ายจะยังไม่ติดฝุ่นวินโดว์ส แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า ลินิกซ์เริ่มก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งของยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์แห่งนี้ อย่างน่ากลัว และด้วยแรงกดดันจากลินิกซ์นี่เอง เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์จึงได้เริ่มหันมาวางขายระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นราคาต่ำ สำหรับเครื่องแม่ข่ายระดับล่างแล้ว

 

"ออฟฟิศ" ปฏิบัติการครอบจักรวาล

ขณะที่คดีต่อต้านการผูกขาดพุ่งเป้าไปที่ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส แต่แท้จริงแล้ว ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มออฟฟิศของไมโครซอฟท์มีความสำคัญต่อยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์แห่งนี้เสียยิ่งกว่า เมื่อคดีฟ้องร้องประทุขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ครองส่วนแบ่งในตลาดแอพพลิเคชั่น สำหรับการใช้งานด้านธุรกิจในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะประมาณ 85-90% ขณะที่ตัวเลขจากการ์ทเนอร์ระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดในตอนนี้อาจสูงมากกว่า 90% ไปแล้ว นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังกำลังทดสอบโปรแกรมออฟฟิศเวอร์ชั่นใหม่ "ออฟฟิศ 11" (Office 11) ซึ่งมีกำหนดวางตลาดในช่วงกลางปีหน้า โปรแกรมรุ่นล่าสุดนี้ จะปฏิรูปโปรแกรมลูกข่ายรับส่งอีเมลของเอาท์ลุคใหม่ โดยการปลดล็อกฟอร์แมตไฟล์ของไมโครซอฟท์ ที่เป็นแหล่งรายได้มหาศาลของบริษัทมาตลอดเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกัน โปรแกรมดังกล่าวยังสามารถบันทึกไฟล์เป็นภาษาเอ็กซ์เอ็มแอล (Extensible Markup Language-XML) ซึ่งเป็นฟอร์แมตมาตรฐานเปิดที่นิยมใช้ในเวบไซต์ต่างๆ

แต่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ประกาศใช้โปรแกรมไลเซนซิ่ง 6 (Licensing 6) ซึ่งให้ลูกค้า บริษัทซื้อโปรแกรมอัพเกรดล่วงหน้า ได้ในราคาพิเศษ บริษัท การ์ทเนอร์ คาดว่า กลยุทธ์เช่นนี้ทำให้บริษัท ลูกค้าต้องจ่ายเงินก้อนสำหรับซื้อซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นถึง 33% ดังนั้น ลูกค้าที่ไม่พอใจในกลยุทธ์ดังกล่าว เริ่มหันไปเลือกใช้โปรแกรมอื่นแทนออฟฟิศ เช่น โปรแกรมสตาร์ออฟฟิศ ของซัน ไมโครซิสเต็มส์ ขณะที่บริษัท คอเรล ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ออฟฟิศ "เวิร์ดเพอร์เฟค" (WordPerfect) เปิดเผยว่า ตนได้ลูกค้าเป็นผู้ผลิตพีซีรายใหญ่จำนวนมาก ที่ต้องการใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทแทนผลิตภัณฑ์ ของไมโครซอฟท์ซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมาก ยังเชื่อว่า จะมีลูกค้าโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศเพียงไม่กี่ราย ที่หันไปใช้โปรแกรมอื่น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนระบบปัจจุบันนั้นสูงเกินไป โดยบริษัทการ์ทเนอร์ ประมาณว่า บริษัทจะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 1,200 ดอลลาร์ ต่อพนักงาน 1 ราย ในการเปลี่ยนไปใช้สตาร์ออฟฟิศ เมื่อพิจารณารวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการฝึกหัด ค่าเสียเวลา และปัจจัยอื่นๆ

 

เบราเซอร์ยอดนิยม

ไม่มีข้อถกเถียงใดๆ สำหรับตำแหน่งเจ้าตลาดโปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ตของไมโครซอฟท์ ผลการสำรวจตลาดของบริษัท วันแสตท ระบุว่า เบราเซอร์อินเทอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเรอร์ หรือไออี ครองตลาดอยู่ถึง 94.9% แม้ว่าลูกค้าจำนวนหนึ่ง จะเป็นการขโมยมาจากบริษัท เนทสเคป คอมมูนิเคชั่นส์ ด้วยกลวิธีที่ผู้พิพากษาสหรัฐได้ตัดสินแล้วว่าผิดกฎหมาย แต่โปรแกรมไออีไม่ได้มีดีแค่ที่ตำแหน่งเท่านั้น ทว่ายังมีคุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างแท้จริง ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการทดสอบเบราเซอร์เวอร์ชั่นใหม่ๆ ในตลาด ต่างยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ยังล้ำหน้าคู่แข่งอยู่มาก ข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจทำให้ต้องมาวิเคราะห์บทเรียนจากสงครามเบราเซอร์กันใหม่ ไมโครซอฟท์ย่อมไม่สามารถ ปฏิเสธความรับผิดชอบจากการใช้กลโกงบางอย่าง โดยเฉพาะการผนวกไออีเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ของระบบปฏิบัติการ วินโดว์สโดยอัตโนมัติ อันเป็นประเด็นหลักในคดีฟ้องร้องครั้งนี้ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้อีกเช่นกันว่าในทางปฏิบัติแล้ว โปรแกรมเนทสเคปเองก็ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีไออี ที่มีการอัพเกรดอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้เบราเซอร์ก็ยังขึ้นอยู่กับว่า ผู้บริโภคต้องการคุณสมบัติแบบใดด้วย ทั้งนี้ โปรแกรมโอเปร่า มีกลุ่มตลาดที่เหนียวแน่นของตัวเอง ขณะที่เนทสเคปรุ่นล่าสุด ก็มีคุณสมบัติบางอย่างที่ไออีไม่ได้พัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ซอฟต์แวร์ธุรกิจ

เมื่อปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ควบกิจการบริษัท เกรต เพลน และและก้าวเข้าสู่ธุรกิจซอฟต์แวร์องค์กรมูลค่า หลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีบริษัทอย่างเอสเอพี, ซีเบล ซิสเต็มส์, พีเพิลซอฟท์ และออราเคิลครองตลาดอยู่ และมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่ไมโครซอฟท์ราว 300 ล้านดอลลาร์ จากรายรับทั้งหมดกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์ของบริษัทในปีนี้ ขณะที่เอสเอพี ซึ่งยังคงรั้งตำแหน่งผู้นำ มีรายรับ 7,240 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และไมโครซอฟท์ก็ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น บริษัทยังเตรียมขยายตัว สู่ตลาดระบบงานธุรกิจการตลาดสำหรับมวลชน (mass-marketing business applications) สำหรับบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งคู่แข่งรายอื่นต่างไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเข้าซื้อกิจการบริษัท นาวิชั่น ของเดนมาร์ก และในปีนี้ ทางบริษัทก็ได้เปิดตัวระบบงานใหม่ๆ จำนวนมาก ทั้งสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการทั่วไป, ธุรกิจให้บริการ และผู้ดำเนินการค้าปลีก

นักวิเคราะห์เผยว่า ตลาดโปรแกรมระบบงานธุรกิจ ไม่เพียงแต่เป็นกลยุทธ์ ในการหารายได้หลักตัวใหม่ของไมโครซอฟท์เท่านั้น แต่ยังเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการดึงดูดลูกค้าสำหรับผลิตภัณฑ์เวอร์ชั่นใหม่ๆ ของบริษัท อาทิ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์แม่ข่ายอีเมล ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล ที่บริษัทมีนโยบายจะเชื่อมโยงระบบเข้าด้วยกันทั้งหมด

 

ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล

แม้ว่าจะเริ่มต้นช้ากว่าคู่แข่งรายอื่นๆ แต่ไมโครซอฟท์ก็สามารถไล่ตามออราเคิล และไอบีเอ็มได้อย่างรวดเร็ว ในตลาดซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล ซึ่งมีมูลค่ากว่า 8,800 ล้านดอลลาร์ ไมโครซอฟท์เริ่มเข้าแข่งขันในตลาดแห่งนี้เมื่อปี 2531 โดยการซื้อลิขสิทธิ์เทคโนโลยีของซีเบส แต่ปัจจุบัน ทางบริษัทสามารถแซงหน้าเจ้าตำรับไปครองตำแหน่งผู้ผลิตอันดับ 3 ในอุตสาหกรรมนี้แล้ว ด้วยส่วนแบ่งตลาด 16% รองจากไอบีเอ็ม 34.6% และออราเคิล 32% แต่หากวัดจากซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลสำหรับระบบปฏิบัติการวินโดว์สโดยเฉพาะ ไมโครซอฟท์ถือเป็นผู้ครอง ตลาดอันดับหนึ่ง โดยตัวเลขจากบริษัท การ์ทเนอร์ ระบุว่า โปรแกรมเอสคิวแอล เซิร์ฟเวอร์ 2000 (SQL Server 2000) ของไมโครซอฟท์ครองส่วนแบ่ง 39.9% แซงหน้าออราเคิล ซึ่งมีส่วนแบ่ง 34% ไปได้เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ ได้ให้ความเห็นว่า ซอฟต์แวร์เอสคิวแอล เซิร์ฟเวอร์ สามารถดึงดูดลูกค้าบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็กได้มากกว่าคู่แข่งรายอื่น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ซึ่งก็เป็นผลจากการที่ไมโครซอฟท์ทุ่มเงินจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ซื้อมาจากซีเบส ให้มีความจุและมีประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับการจัดระบบขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ทางบริษัทยังเร่งพัฒนาฐานข้อมูลสำหรับยุคหน้า ยูคอน (Yukon) ที่มีสถาปัตยกรรมซึ่งช่วยให้ค้นหาและใช้งานข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยทางบริษัทจะนำมาติดตั้งวินโดว์สเวอร์ชั่นต่อไป ที่มีชื่อรหัสว่า ลองฮอร์น (Longhorn) อย่างไรก็ดี แม้ว่าไมโครซอฟท์จะมีธุรกิจที่สามารถกวาดรายได้ในตลาดอย่างมหาศาล แต่ขณะเดียวกัน ทางบริษัทก็มีธุรกิจบางตัวที่ไม่ประสบความสำเร็จดังคาด และทำให้ต้องสูญเสียผลกำไรไปเปล่าๆ หลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

วิดีโอเกม ของเล่นยุคไฮเทค

อุตสาหกรรมที่ไมโครซอฟท์แทบจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ก็คือ ตลาดเครื่องเล่นวิดีโอเกม แม้จะวางจำหน่ายเอ็กซ์ บ็อกซ์ ไปแล้วเกือบ 1 ปี แต่ไมโครซอฟท์ก็ยังคงเป็นได้เพียงสีสันประกอบฉากเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่เจ้าตลาดอย่างเพลย์ สเตชั่น 2 ของโซนี่ ที่กวาดรายได้ไปกว่า 30 ล้านเครื่อง รวมทั้งเกมคิวบ์ของนินเทนโด ขณะที่เอ็กซ์ บ็อกซ์เองจำหน่ายไปได้เพียง 4 ล้านเครื่องเท่านั้น กระนั้น ตัวเลขดังกล่าวก็ได้มาจากการที่ไมโครซอฟท์ต้องยอมขาดทุนในการจำหน่ายเอ็กซ์ บ็อกซ์แต่ละเครื่อง สืบเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่ง ส่วนบริการเกมออนไลน์ที่บริษัทเหล่านี้พากันเปิดตัว ก็ยังไม่แน่ว่าจะผลาญเงินไมโครซอฟท์ไปอีกเท่าไร

นักวิเคราะห์ยังคงโต้เถียงถึงแรงจูงใจในการเจาะตลาดวิดีโอเกมของไมโครซอฟท์ แต่หลายฝ่ายคาดว่า ทางบริษัทจะใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการขยายเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ให้แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมบันเทิงในบ้าน

 

ปรับบทบาทแข่งตลาดพีดีเอ

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ก็ยังไปได้ไม่สวยนักในตลาดอุปกรณ์พกพา จำพวกพีดีเอ ซึ่งปาล์มสามารถเกาะ ตำแหน่งเจ้าตลาดไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ปัจจุบัน ระบบปฏิบัติการปาล์มติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์พกพา ราว 50% ของตลาด ขณะที่เครื่องซึ่งรันระบบปฏิบัติการพ็อคเกต พีซี และวินโดว์ส ซีอี ครองส่วนแบ่งที่เหลืออีก 28% แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าไมโครซอฟท์เริ่มขยับบทบาทตัวเองขึ้นมาได้เรื่อยๆ เมื่อเทียบกับอัตราจำหน่ายในปี 2542 ซึ่งปาล์มจะควบคุมอุปกรณ์ราว 83.5% ในตลาด ขณะที่ไมโครซอฟท์แจ้งเกิดได้เพียง 9.7% เท่านั้น ขณะนี้ ตลาดสำหรับอุปกรณ์พกพาโดยรวมกำลังซบเซา ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไมโครซอฟท์จะได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากมีทุนสำรองอยู่ถึงกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ จึงสามารถโยกย้าย ถ่ายเทผลกำไรเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของตัวเอาไว้ได้ พร้อมกันนั้น บริษัทเองก็เร่งพัฒนาพ็อคเกต พีซี ให้มีคุณสมบัติของระบบปฏิบัติการปาล์มมากขึ้นด้วย

 

"โทรทัศน์"ความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่

ยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์แห่งนี้ เริ่มจับตลาดโทรทัศน์โดยการซื้อเวบทีวีเมื่อปี 2540 โดยมีจุดมุ่งหมายคือ การใช้โทรทัศน์ระบบใหม่ เป็นเครื่องมือแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และผลักดันให้อุปกรณ์ดังกล่าวมีหน้าที่เป็นประตูเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สำหรับผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้พีซี ไมโครซอฟท์ได้ผลิตซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ สำหรับผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกด้วย แต่ก็ไม่อาจเจาะตลาดได้แต่อย่างใด โดยเฉพาะไม่อาจตกลงกับเอทีแอนด์ที ในการเปิดให้บริการเทคโนโลยีดังกล่าว แม้บริษัทจะได้ลงทุนไปแล้วกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์

ด้วยเหตุนี้เอง ไมโครซอฟท์จึงหันมาสร้างอาณาจักรของตัวเอง โดยการพัฒนาให้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นล่าสุด "วินโดว์ส เอ็กซ์พี มีเดีย เซ็นเตอร์ เอดิชั่น" (Windows XP Media Center Edition) สามารถใช้แทนโทรทัศน์ได้ โดยผู้บริโภคสามารถควบคุมการเล่นเพลง, วิดีโอ และแสดงภาพต่างๆ ได้โดยใช้รีโมท คอนโทรล นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจเช็ครายการทีวี และบันทึกเก็บไว้ผ่านบัตรรับคลื่นทีวีได้ อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์จำนวนมาก ยังคงไม่เชื่อว่า อุปกรณ์งานออฟฟิศอย่างคอมพิวเตอร์ จะสามารถแทนที่โทรทัศน์ได้ และคาดว่า ไมโครซอฟท์จะไม่ประสบความสำเร็จนักสำหรับนวัตกรรมตัวนี้

 

บริการออนไลน์

แต่ความดื้อรั้นของไมโครซอฟท์ที่ชัดเจนที่สุด คงจะเป็นการทุ่มลงทุนในธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะบริการเวบท่าเอ็มเอสเอ็น และโครงการไอเอสพี โดยบริการเอ็มเอสเอ็น (MSN) ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อกลางทศวรรษ 1990 ก็ยังไม่มีทีท่า ว่าจะไล่ทันอเมริกา ออนไลน์ (AOL) ได้ จำนวนสมาชิกไอเอสพีที่ไมโครซอฟท์เปิดเผยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 7.7 ล้านคน ซึ่งทางบริษัท ก็ได้พยายามรวมเอารายชื่อผู้ใช้บริการระบบสมาชิกอื่นๆ อาทิ ผู้ซื้อพื้นที่เก็บอีเมลเพิ่ม และผู้ที่เป็นสมาชิกบริการ เกมออนไลน์เข้าไปด้วย เพื่อให้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 8.7 ล้านคน ขณะที่เอโอแอลมีสมาชิกเลยไปแล้วถึง 35 ล้านคน ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ก็มีความพยายามจะโค่นคู่แข่งยักษ์ใหญ่เอโอแอลลงอีกครั้ง โดยการเปิดตัวเอ็มเอสเอ็น 8 ที่ผนวกเอาท์ลุค เอ็กซ์เพรส กับอินเทอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเรอร์เข้าด้วยกัน และเตรียมเก็บค่าบริการเอ็มเอสเอ็น เอ็กซ์พลอเรอร์ เวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งพัฒนาให้เชื่อมโยงกับบริการเวบ เซอร์วิสอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย กระนั้น ด้วยฐานลูกค้าของเอโอแอลที่มีขนาดใหญ่มหึมาเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าไมโครซอฟท์จะต้องเจอศึกหนักกว่าที่คิด

 

ข้อความทันใจ

ตอนที่ไมโครซอฟท์เปิดตัวเอ็มเอสเอ็น แมสเซนเจอร์ เมื่อปี 2542 บริษัทได้บรรจุคุณสมบัติที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน นั่นก็คือ ความสามารถในการสนทนากับสมาชิกเอโอแอล แต่เอโอแอลดำเนินการปิดกั้นระบบดังกล่าวหลังจากนั้นไม่กี่วัน พร้อมโจมตีว่าไมโครซอฟท์แฮคเครื่องแม่ข่ายของตัว ปัจจุบัน ทุกฝ่ายต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า การที่โปรแกรมรับส่งข้อความทันใจ หรือไอเอ็ม ของยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ค่าย ไม่สามารถปฏิบัติการร่วมกันได้ ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียแก่บริษัทใดทั้งสิ้น และผู้บริโภคยังสามารถใช้บริการหลายเจ้าควบคู่กันไปได้ อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ ยังวางแผนให้บริการดังกล่าว เป็นเครื่องมือหลักของกลยุทธ์ดอทเน็ต (.Net) ของตัว และเป็นตัวชูโรงสำหรับระบบปฏิบัติการวินโดว์ส เอ็กซ์พี ซึ่งได้รับเพิ่มคุณสมบัติให้สามารถสื่อสารกับผู้ใช้เอ็มเอสเอ็นได้แล้ว

 

น้องใหม่โทรศัพท์เคลื่อนที่

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัวซอฟต์แวร์สำหรับโทรศัพท์มือถือ แข่งกับโนเกีย, อีริคสัน, โมโตโรล่า, ซัมซุง และซิมเบียน  บริษัท โนเกีย ได้เปิดตัวโทรศัพท์ที่ใช้ซอฟต์แวร์สมาร์ทโฟน (smartphone) ของซิมเบียนในยุโรปแล้ว แต่ยังไม่ได้วางขายในสหรัฐ โดยนายโจ ลาสซ์โล นักวิเคราะห์แห่งจูปิเตอร์ รีเสิร์ช ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ซอฟต์แวร์สมาร์ท โฟน อาจเข้ามาท้าทายระบบปฏิบัติการ ที่เชื่อมโยงฟังก์ชั่นพีดีเอกับโทรศัพท์มือถือได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตมือถือส่วนมากยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ แม้จะผ่านพ้นภาวะตกต่ำด้านโทรคมนาคมมาแล้ว 2 ปี แต่ไมโครซอฟท์มีข้อได้เปรียบจากการเป็นเจ้าเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และขณะที่อัตราจำหน่ายมือถือทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในปีหน้า ภาวการณ์ดังกล่าวจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับไมโครซอฟท์อีกเช่นกัน เนื่องจากทางบริษัทมีเงินทุนสำรองมากพอที่จะพยุงธุรกิจนี้เอาไว้ได้ ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตมือถือต่างก็พากันเปิดตัวคุณสมบัติใหม่ๆ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยีเดิมของตัว แต่ไมโครซอฟท์ก็เร่งขยับตัวตาม โดยการเพิ่มฟังก์ชั่น เช่น ระบบรับส่งข้อความสื่อผสม (mixed media messaging) เข้าไปด้วย

กระนั้น ไมโครซอฟท์อาจต้องใช้เงินลงทุนอีกมหาศาล กว่าจะสามารถกระตุ้นกระแสการบริโภคในตลาดที่กำลังอิ่มตัวแห่งนี้ได้ ซึ่งแม้แต่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเองก็ยังต้องดิ้นรนกันอย่างหนัก ทั้งนี้ แม้ว่าไมโครซอฟท์สามารถประกาศตัว เป็นผู้ประกอบการอันดับหนึ่ง แห่งโลกเทคโนโลยี ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ตำแหน่งดังกล่าวก็ได้มาไม่ง่ายดายนัก ไมโครซอฟท์ต้องปรับตัว และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน กลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าครั้งล่าสุดของบริษัท โดยการมุ่งแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทั้งระบบพีซีเพื่อความบันเทิงภายในบ้าน บริการดอทเน็ต หรือซอฟต์แวร์มือถือ ก็ยังคงมีอุปสรรคที่จะท้าทายความสามารถ ของยักษ์ใหญ่ แห่งนี้อย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ยังต้องคอยดูกันต่อไปว่า ไมโครซอฟท์จะสามารถเอาตัวรอดจากสงคราม เทคโนโลยีที่ดุเดือดแห่งนี้ได้อย่างสวยงาม เหมือนกับการเอาตัวรอดในคดีครั้งประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาหรือไม่

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.