ไมโครซอฟท์-ไอบีเอ็ม พร้อมร่วมซอฟต์แวร์เอื้ออาทร

ชี้นโยบายรัฐสวนทาง กับคำประกาศหนุนซอฟต์แวร์ไทยแข่งตลาดโลก
ไมโครซอฟท์-ไอบีเอ็ม ประกาศพร้อมร่วมโครงการซอฟต์แวร์เอื้ออาทรผ่านเอทีเอสไอ แต่ขอเวลาหาข้อสรุปวิธีการ และแนวทางสนับสนุนที่ชัดเจน หวังป้องกันปัญหาผลกระทบต่อโครงสร้างราคาในตลาดซอฟต์แวร์โดยรวม

 

นายชาญชัย พันธุ์โสภา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ พร้อมสนับสนุนโครงการซอฟต์แวร์เอื้ออาทร ของกระทรวงไอซีที เนื่องจากเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนและภาคธุรกิจ นำซอฟต์แวร์ไปใช้เพิ่มผลิตผล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น โดยบริษัทจะเข้าร่วมโครงการนี้ ผ่านช่องทางสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) และสนับสนุนโครงการอื่นๆ ผ่านซอฟต์แวร์ ปาร์ค "สาเหตุที่เราสนใจเข้าร่วมโครงการ เพราะเป็นการสนับสนุนภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และเป็นนโยบายที่จะสนับสนุนงานภาครัฐอยู่แล้ว แต่เนื่องจากวานนี้ (19.46) เอทีเอสไอ เพิ่งได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งแรก บริษัทจึงต้องประชุมภายในเพื่อหาแนวทางสนับสนุน และกำหนดรูปแบบวิธีการให้ได้ ก่อนเสนอเอทีเอสไอ และกระทรวงไอซีทีต่อไป" นายชาญชัย กล่าว

 

ทั้งนี้ เอทีเอสไอ ได้แบ่งประเภทซอฟต์แวร์เอื้ออาทรซึ่งกำหนดราคาไว้ 600-700 บาทต่อโปรแกรม เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ซอฟต์แวร์พื้นฐานทั่วไป เช่น ด้านบันเทิง การศึกษา เน้นลูกค้าประชาชนทั่วไป 2. ซอฟต์แวร์ที่แบ่งตามประเภทธุรกิจรวมบริการหลังการขาย และ 3. ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาให้ตรงความต้องการของลูกค้า เน้นลูกค้าองค์กรรัฐ และเอกชน อย่างไรก็ตาม ต้องนำเสนอแนวทางดังกล่าว กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และประกาศรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการต่อไป เพื่อเริ่มทำตลาดในเดือนกันยายน นี้

 

นายชาญชัย กล่าวว่า บริษัทไม่ได้ตั้งงบประมาณตายตัว เพื่อสนับสนุนภาครัฐในแต่ละปี แต่ขึ้นกับสถานการณ์ หรือกิจกรรมของรัฐ เช่น ปีนี้รัฐบาลมีกิจกรรมมาก เพื่อให้ตลาดในประเทศตื่นตัว ซึ่งจะมีผลทางบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวม "ปกติไมโครซอฟท์ มีนโยบายสนับสนุนโครงการพิเศษของภาครัฐอยู่แล้วทั่วโลก ซึ่งในไทยเองหลังจากผู้บริหารเข้ามาเจรจากับไอซีที ก็มีแนวคิดที่จะสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายบริษัท ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร และองค์กรให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับชาติมากยิ่งขึ้น" นายชาญชัย กล่าว อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ยังตอบได้ยากว่าการลดราคาพิเศษ เพื่อเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ จะส่งผลกระทบโครงสร้างตลาดหลักหรือไม่

 

ไอบีเอ็มได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

ด้านนางเจษฎา ไกรสิงขร รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับกระทรวงไอซีที และเอทีเอสไอ บริษัทยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะสามารถเข้าร่วมโครงการซอฟต์แวร์เอื้ออาทรในรูปแบบใด และราคาเท่าไร แต่คาดว่าจะสรุปได้ภายในเร็วๆ นี้ "สิ่งสำคัญที่เราต้องพิจารณาคือ ประเด็นโครงสร้างราคาที่จะเข้าร่วมกับโครงการนี้ ซึ่งเป็นราคาค่อนข้างต่ำ และจะไม่ให้กระทบกับกลไกตลาดที่มีอยู่เดิม รวมถึงต้องมองด้วยว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่สามารถตอบสนอง และสร้างประโยชน์กับโครงการได้จริง" นางเจษฎา กล่าว ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าในกลุ่มด้านซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา ที่น่าจะมีความเป็นไปได้ในการร่วมโครงการ แต่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ในส่วนซอฟต์แวร์มัลติมีเดีย

 

นโยบายรัฐขัดกันเอง

ขณะที่ แหล่งข่าวจากบริษัทซอฟต์แวร์ข้ามชาติรายหนึ่ง กล่าวว่า นโยบายกระทรวงไอซีทีที่ออกมาครั้งนี้ มีความขัดแย้งกับนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และนักพัฒนาไทยเติบโต แข่งขันในตลาดนานาชาติได้ เนื่องจากซอฟต์แวร์เอื้ออาทร เป็นนโยบายที่ต้องการให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยลดราคาสินค้า ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทขนาดเล็ก 20-30 คน หรือไม่มีสินค้ากระจายในวงกว้าง ได้รับผลกระทบมากที่สุด และอาจถึงขั้นขาดทุนได้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.