ถึงเวลายักษ์ไมโครซอฟท์'สั่งสอน "ลินิกซ์" ”

"
ในภาวะที่องค์กรธุรกิจตัดงบประมาณด้านไอที ขณะที่ผู้บริโภคเป็นกังวลเกี่ยวกับความเอาใจใส่ของไมโครซอฟท์ที่มีต่อลูกค้า ทำให้ซอฟต์แวร์เปิดทั้งลินิกซ์ และโอเพ่น ออฟฟิศ กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ฟรี และดีพอ" ข้อความตอนหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือเวียนถึงพนักงานทุกคนในบริษัท ของนายสตีฟ บัลเมอร์ หัวหน้าฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) บริษัทไมโครซอฟท์ กับอีกตอนหนึ่งที่ว่า นโยบายรัดเข็มขัดขององค์กรธุรกิจทั่วโลกในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คือ ปัจจัยหนุนที่ทำให้ลินิกซ์ ได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน

 

การกล่าวพาดพิงถึงลินิกซ์ของซีอีโอบริษัทไมโครซอฟท์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ภาพของลินิกซ์ มีความชัดเจนขึ้นในฐานะศัตรูหมายเลข 1 ของไมโครซอฟท์ จากก่อนหน้านี้เรียกว่า ไม่ใช่คู่แข่งที่คู่ควรต่อการต่อกร แม้ปัจจุบันไมโครซอฟท์ยังคงยืนในตำแหน่งผู้นำตลาดพีซีโลก แต่สำหรับตลาดเครื่องแม่ข่ายแล้ว ลินิกซ์ ครองตำแหน่งผู้นำไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับกลายๆ ว่า ไมโครซอฟท์กำลังเผชิญกับศึก 2 ด้าน คือ ระบบปฏิบัติการฟรี อย่างลินิกซ์ และความลังเลใจในการทุ่มงบ ประมาณด้านไอทีขององค์ธรธุรกิจที่ยังเงียบอยู่

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนหลังถึงวิถีปฏิบัติของไมโครซอฟท์แล้ว การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งยักษ์ซอฟต์แวร์โลกพีซี และครองแชมป์ต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่การนั่งอยู่เฉยๆ แน่

 

ฉะนั้นการเข้าซื้อกิจการสองบริษัทผู้พัฒนาระบบบริหารทรัพยากร (อีอาร์พี) คือ นาวิชั่น และเกรท เพลนส์ มูลค่าถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการพัฒนาระบบการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (ซีอาร์เอ็ม) ขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ เพื่อช่วงชิงฐานลูกค้า นั่นหมายถึงการเพิ่มฐานรายได้ที่ดูจะหดหายจากความแรงของลินิกซ์ ที่ค่ายไอทีอื่นๆ ประกาศตัวเข้าหนุน ไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม, ออราเคิล, ซีเอ เป็นต้น รวมทั้งการจำกัดงบจัดซื้อไอทีขององค์กรธุรกิจต่างๆ กระนั้นเส้นทางใช่จะราบเรียบ ด้วยทั้งตลาดอีอาร์พี และซีอาร์เอ็ม ที่ไมโครซอฟท์มีแผนผลักดันเข้าเจาะตลาดกลางนั้น มีคู่แข่งขนาดยักษ์ปักหลัก รออยู่ก่อนแล้ว ทั้งออราเคิล และเอสเอพี ที่ต่างดั๊มพ์ราคาลงมาจับตลาดกลางก่อนหน้านี้ พร้อมการประกาศสนับสนุนลินิกซ์

 

คู่แข่งชี้ธุรกิจไม่เอื้อ

แหล่งข่าวจากบริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ต้องเผชิญกับความท้าทายต่อการเข้าสู่ตลาดอีอาร์พีแน่ เพราะในส่วนของออราเคิลได้พัฒนาอีอาร์พีเป็นระบบพื้นฐานสำหรับองค์กร มาตั้งแต่ปี 2523 (1980) จึงเป็นความชำนาญหลักด้านเทคโนโลยี และต่อยอดขยายเข้าสู่ระบบงานที่ต่อเชื่อมกับลูกค้า เช่น ซีอาร์เอ็ม และระบบงานห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) เชื่อมโยงพันธมิตรคู่ค้า ขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ยังขาดรูปแบบธุรกิจ (บิสซิเนส โมเดล) ด้านการขายอีอาร์พี เพราะมีทักษะการขายสินค้าเป็นกล่อง โดยเฉพาะไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ แต่การขายอีอาร์พี ต้องใช้ทักษะความชำนาญเฉพาะด้านในการติดตั้งซอฟต์แวร์มากกว่า จึงจำเป็นต้องใช้ความรู้ในอุตสาหกรรมการติดตั้ง ระบบให้สอดคล้องกับกระบวนธุรกิจ (บิสซิเนส โพรเซส) ของธุรกิจ ซึ่งต้องใช้งานด้านที่ปรึกษา และฝึกอบรมเข้าช่วย

 

"หากไมโครซอฟท์เริ่มต้นตลาดอีอาร์พี เมื่อ 3-5 ปีที่แล้วในตลาดไทย อาจจะมีโอกาสมากกว่านี้ ทว่าตลาดในปัจจุบัน ค่อนข้างเติบโตมากแล้ว (mature) การทำตลาดจึงไม่ง่ายนัก" แหล่งข่าวกล่าว นอกจากนั้น ในตลาดอีอาร์พีระดับกลาง ที่ไม่ได้มีผู้เล่นเฉพาะออราเคิล และเอสเอพี ซึ่งลดลงราคาลงมาก็มีแรงกดดันจากบริษัทอื่น โดยเฉพาะบริษัทที่พัฒนาระบบมาเจาะอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน ในธุรกิจสิ่งทอ ส่งออก พลาสติก

 

ชี้ช่อง 2 โอกาสตลาดอีอาร์พี

ด้านนายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ อดีตกรรมการผู้จัดการคนแรก บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ เข้าซื้อกิจการบริษัทนาวิชั่น เพื่อเข้าสู่ตลาดอีอาร์พี จากเดิมตลาดหลักของไมโครซอฟท์ จะเป็นตลาดขายปริมาณมาก (วอลุ่ม มาร์เก็ต) ฉะนั้น การจะสร้างความได้เปรียบ ในตลาดที่นับได้ว่า ไมโครซอฟท์เป็นน้องใหม่ จำเป็นต้องใช้ความพยายาม "เท่าที่เห็น มองว่า ราคา และการเป็นที่รู้จักชื่อยี่ห้อของไมโครซอฟท์ จะเป็นความได้เปรียบของไมโครซอฟท์ที่เข้าสู่ตลาดใหม่" นายอาภรณ์ กล่าว โดยตลาดอีอาร์พีของไมโครซอฟท์ ยังมี 2 โอกาสหลัก คือ

1. ในองค์กรที่ยังไม่มีการติดตั้งใช้งานระบบอีอาร์พี และ

2. องค์กรที่ต้องการย้ายระบบเข้าสู่ระบบที่ทำงานบนเวบ (เวบ-เบส แอพพลิเคชั่น) โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบการทำงานบนพีซี

 

หากตลาดอีอาร์พี จะยิ่งท้าทายสำหรับไมโครซอฟท์มากขึ้น เพราะต้องสร้างช่องทางสนับสนุนการให้บริการลูกค้า ผ่านพันธมิตร ซึ่งยังไม่มี ด้วยระบบอีอาร์พี ต้องการผู้เชี่ยวชาญระบบโรงงาน (แฟคตอรี่ ดอคเตอร์) ที่จะช่วยทั้งลูกค้าที่ใช้ระบบ และบริษัทผู้ติดตั้งระบบ จึงเป็นไปได้ว่าไมโครซอฟท์เอง ต้องเข้าไปในบริษัทที่ทำตลาด และให้บริการด้านอีอาร์พีเดิม แล้วเปลี่ยนบริษัทเหล่านั้นมาเป็นพันธมิตรของไมโครซอฟท์ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอยู่ที่การทำราคาของระบบที่นำเสนอ ซึ่งบริษัทที่ให้บริการติดตั้งอีอาร์พี ไม่ได้เน้นการขายปริมาณมาก เน้นราคาต่ำเช่นเดียว กับไมโครซอฟท์ โดยบริษัทเหล่านี้ จะมีรายได้จากการให้บริการเป็น 1 ใน 3 ของค่าไลเซ่น ซอฟต์แวร์ ดังนั้น แค่ไมโครซอฟท์ บริษัทเดียวคงไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดใหม่นี้ได้อย่างรวดเร็วเช่นที่ไมโครซอฟท์ต้องการ ส่วนของเอสเอพีเองก็ได้รับแรงกดดันที่จะนำเสนออีอาร์พีเช่นกัน โดยเฉพาะการเข้าตลาดเอสเอ็มอี ซึ่งเอสเอพีก็มองไมโครซอฟท์เป็นคู่แข่งเช่นเดียว กับออราเคิล ทำให้เอสเอพีเสนอซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลของ MySQL ที่เป็นโอเพ่นซอร์สจากบริษัท MySQL AB และทำงานบนระบบปฏิบัติการ ลินิกซ์ไปกับอีอาร์พีของเอสเอพี แทนการนำเสนอไปกับฐานข้อมูล ของไมโครซอฟท์และออราเคิล ซึ่งก็จะผลักดันให้ออราเคิลและ เอสเอพีต้องลดราคาลงมาจากความกดดัน

 

กลยุทธ์ดึงพันธมิตรหนุน

นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยยูอาร์แอล จำกัด กล่าวว่า สำหรับพี่ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์นั้น การเข้าตลาดใหม่ๆ แน่นอนว่า ต้องฟังจากผู้เล่นรายอื่นและได้รับเสียงสนับสนุน ซึ่งต้องเป็นตลาดที่น่าสนใจ น่า ดึงดูด และทำเงิน เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านั้นได้เข้าไปในตลาดมือถือ หากปัจจุบัน อีอาร์พี และซีอาร์เอ็ม ถือว่าไม่ใช่ "ของใหม่" มีผู้เล่นยักษ์ใหญ่อยู่แล้วในตลาด ฉะนั้นกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์คงไม่ได้ต้องการเป็นที่ 1 หรือแข่งกับคู่แข่งรายอื่น เพียงต้องการดึงพันธมิตรธุรกิจที่มีอยู่ในตลาดมาช่วยสนับสนุน พัฒนาแอพพลิเคชั่นอีอาร์พีและซีอาร์เอ็ม ที่อยู่บนแพลทฟอร์ม ของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีนักพัฒนาจำนวนมากที่ใช้เครื่องมือการพัฒนาระบบ (ทูลส์) และระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ ส่วนของการเข้าซื้อกิจการทั้งนาวิชั่นและเกรท เพลนส์ เป็นเพียงความต้องการสื่อสารว่าบริษัทจริงจังกับตลาดนี้

 

ตลาดเอสเอ็มอี เป็นตลาดที่ง่ายต่อการทำเงิน เมื่อเทียบกับความพยายามลงทุน ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ ตลาดจะเริ่มอิ่มตัว ทั้งการลงทุน และมองเรื่องต้นทุนเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับ นายพิพัฒน์ กล่าว ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ เอง ต้องใช้เวลาและความพยายาม จะให้ความรู้กับตลาด ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ ฉลาดได้เรียนรู้และ เข้าใจก่อนที่จะลงทุน และเอสเอ็มอี ยังมีทางเลือก การใช้โอเพ่นซอร์ส ทั้งระบบปฏิบัติการลินิกซ์ และฐานข้อมูล MySQL โอเพ่นซอร์ส ซึ่งล่าสุดเป็นพันธมิตรกับเอสเอพี ที่เป็นพลังการต่อรองยักษ์ใหญ่ทั้งไมโครซอฟท์ หรือ ออราเคิล ในภาพรวมการแข่งขันแล้ว ถ้าเป็นออราเคิล ก็จะต้องสนับสนุนระบบปฏิบัติการลินิกซ์เพื่อสร้างทางเลือกให้ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี ถ้าเป็นเอสเอพี ก็จะต้องร่วมกับซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลค่ายโอเพ่นซอร์ส MySQL และสนับสนุนลินิกซ์ด้วยเช่นกัน และถ้าเป็นไมโครซอฟท์ แน่นอนว่าคงไม่อยู่เฉย

 

โอเพ่นซอร์สกระตุ้นไมโครซอฟท์

ยอมรับว่าเฉพาะแค่เพียงโอเพ่นซอร์สคงไม่สามารถเป็นภัยคุกคามทางธุรกิจของไมโครซอฟท์ได้ แต่ก็จะเป็นการผลักดันให้ไมโครซอฟท์เสนอสินค้าใหม่ ที่ผูกติดไปกับเทคโนโลยีแพลทฟอร์มของไมโครซอฟท์ นายโดม เจริญยศ นักพัฒนาอิสระ ค่ายโอเพ่นซอร์ส กล่าว พร้อมทั้งเห็นว่า การเข้าตลาดอีอาร์พีของไมโครซอฟท์น่าจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของไมโครซอฟท์ที่ การเข้าไปในทุกส่วนแบบเบ็ดเสร็จ ธุรกิจใดที่เติบโตก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเสมอ

 

ตัวอย่างเช่นช่วงปี 2538 ที่เพิ่งจะมีอินเทอร์เน็ต และไมโครซอฟท์ไม่เชื่อในการเติบโตของอินเทอร์เน็ต แต่ก็สร้างเอ็กซตร้าเน็ต MSN ที่เป็นเครือข่ายเฉพาะของไมโครซอฟท์เองแข่งกับคอมพิวเซิร์ฟ, เอโอแอล ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เมื่ออินเทอร์เน็ตบูมไมโครซอฟท์ก็เข้าสู่ตลาดนี้ จากนั้น ก็เริ่มแผ่ขยายไปทำอินเทอร์เน็ต เบราเซอร์ อินเทอร์เน็ต เอ็กซพลอเรอร์ แข่งกับเนทสเคป การเข้าซื้อกิจการฮอตเมล และเข้าสู่ธุรกิจบริการข้อความทันใจ (IM) MSN Messenger ที่ก่อนหน้านั้นยาฮูและไอซีคิวก็ทำตลาดนี้มาก่อน และล่าสุดก็มุ่งที่ระบบปฏิบัติการบนมือถือ สมาร์ทโฟนแม้มองว่าขณะนี้ ซิมเบียนยังมีภาษีและได้เปรียบมากกว่า

 

ปัจจุบันในไทย ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมีระบบปฏิบัติการลินิกซ์ เป็นที่ยอมรับกว้างขวาง แต่ก็จำกัดกับการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที ส่วนซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลโอเพ่นซอร์ส MySQL แม้นิตยสารพีซีวีค จะจัดลำดับให้เป็นดาต้าเบสที่เร็วที่สุด แต่ก็ยังขาดหน้าที่การทำงานที่รองรับธุรกรรมออนไลน์ (OLTP: Online Transaction Processing) ซึ่งพ่วงเป็นพันธมิตรไปกับอีอาร์พีของเอสเอพี ขณะที่โอเพ่นซอร์สอีอาร์พีและซีอาร์เอ็ม เริ่มมีบ้างโดยเฉพาะที่โดดเด่น ของบริษัท compiere ที่เจาะตลาดลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีรายได้ 2-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังไม่มีบริษัทไทยนำมาต่อยอดธุรกิจพัฒนาเป็นภาษาไทยและเสนอบริการติดตั้งและบำรุงรักษา

 

หวังควบเบ็ดเสร็จ

นายเทียนชัย ลายเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยิบ อิน ซอย จำกัด กล่าวว่า การเข้าสู่ธุรกิจบิสซิเนส โซลูชั่น ของไมโครซอฟท์ เพื่อหวังเติมช่องว่างตลาด ส่วนที่ยังขาดอยู่ โดยปัจจุบันไมโครซอฟท์เอง มีสินค้าที่ครอบคลุมทั้งฐานข้อมูล ระบบปฏิบัติการ เครื่องมือการพัฒนา (ทูลส์) แล้ว เหลือเพียงระบบงาน หรือแอพพลิเคชั่น ซึ่งหากเข้าสู่ตลาดนี้ได้ก็จะครอบคลุมตลาดเบ็ดเสร็จ

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ อาศัยทางลัดที่เข้าซื้อกิจการบริษัทด้านระบบบริหารทรัพยากรองค์กร (อีอาร์พี) เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและนำเสนอสินค้า ในตลาดได้รวดเร็ว ขณะที่คู่แข่งหลักของไมโครซอฟท์ ทั้งเอสเอสพี และออราเคิล ไม่มีสินค้าครอบคลุมทั้งหมด โดยออราเคิลเองขาดระบบปฏิบัติการ ส่วนเอสเอพีก็ขาดระบบปฏิบัติการ เครื่องมือในการพัฒนา และซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลที่แข่งขันได้ในตลาด ดังนั้น ไมโครซอฟท์ ที่มีสินค้าแบบเบ็ดเสร็จน่าจะทำราคาและต้นทุนที่ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง

 

ขณะที่นายสุธี สธนสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็กซตรีม ซิสเต็ม จำกัด กล่าวว่า การที่ไมโครซอฟท์เข้าสู่การนำเสนอเป็นระบบงานธุรกิจ เป็นไปตามกระแสของธุรกิจที่เสนอเป็นระบบงานครบวงจร (ดิลิเวอร์ โซลูชั่น) ซึ่งไมโครซอฟท์จะสามารถเติมช่องว่างตลาดส่วนที่ยังขาดของตนได้ นอกเหนือจากดาต้าเบส เครื่องมือการพัฒนา และระบบปฏิบัติการ การมีทุกผลิตภัณฑ์นี้เองจะเสริมให้ไมโครซอฟท์สร้างกิจกรรมการตลาดที่บันเดิลหลายสินค้าในราคาพิเศษให้กับลูกค้าสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นายสุธี กล่าว กระนั้น ไมโครซอฟท์ จะต้องสร้างความชัดเจนของการทำตลาดอีอาร์พี ที่ปัจจุบันมีทั้งนาวิชั่น และเกรทเพลนส์ ว่าจะสร้างความแตกต่างของทั้งสอง ผลิตภัณฑ์ที่ให้ลูกค้าเลือกได้อย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว น่าจะต้องยุบรวมให้เหลือผลิตภัณฑ์เดียวเพื่อลดความสับสนและง่ายต่อการทำตลาด

 

สรุป

ในเกมการแข่งขันของธุรกิจไอที ผู้เล่นต้องก้าวนำในเกม ใครที่เข้าตลาดก่อนย่อมได้เปรียบ ช่วงเวลานี้ ยักษ์ใหญ่เมืองเรดมอนด์ คงต้องทำงานหนัก เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาด ซึ่งแน่นอนผลดีของการแข่งขันที่รุนแรงก็เป็นทางเลือกที่ดีขึ้นกับผู้บริโภคนั่นเอง ด้วยขวากหนามที่ไมโครซอฟท์เผชิญในระยะหลังยังมีอีกมาก ทั้งตลาดใหม่ที่ไมโครซอฟท์พยายามเปิดทางเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นโลกของเครื่องเล่มเกม ซึ่งไมโครซอฟท์ ดัน เอ็กซ์บ็อกซ์ ก็มีคู่แข่งอย่าง เพลย์สเตชั่นของโซนี่ โลกของโอเอสในโทรศัพท์มือถือก็มี ซิมเบียน เป็นก้างชิ้นใหญ่ สถานการณ์ธุรกิจในวันนี้คงไม่ง่ายสำหรับไมโครซอฟท์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.