2 ยักษ์ "ไมโครซอฟท์-ซันฯ" เปิดเกมไล่ล่า "อีกัฟเวิร์นเมนต์" "

รายงาน

ช่วงปีที่ผ่านมาหลังจากมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และรัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันการนำไอซีทีเข้ามาใช้การบริหารประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในเรื่องการผลักดันโครงการอีกัฟเวิร์นเมนต์ หรือรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการประชาชนแบบออนไลน์ทั่วประเทศ เป็นการสร้างโอกาสและตลาดของเจ้าของเทคโนโลยีมหาศาล ทำให้ช่วงที่ผ่านมา สปอตไลต์การลงทุนของบริษัทไอทีข้ามชาติส่องมาที่ประเทศไทยเต็มที่

ผู้บริหาระดับสูงของบริษัทไอทีข้ามชาติทั้งหลายต่างพาเหรดเข้ามาเมืองไทยมากขึ้นและบ่อยขึ้น และที่เห็นเด่นชัดในเวลานี้ก็คือในค่ายของ "ไมโคร ซอฟท์" และ "ซัน ไมโครซิสเต็มส์" ซึ่งเป็น 2 ยักษ์ที่ค่อนข้างชิงไหวชิงพริบในการนำเสนอและผลักดันเทคโนโลยีให้หน่วยงานภาครัฐ และที่กำลังจับจ้องกันมากในเวลานี้ก็คือ เทคโนโลยี "เว็บเซอร์วิส" ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกันได้ ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เข้าด้วยกันโดยง่าย

ไม่ได้มีแต่ไมโครซอฟท์และซันฯเท่านั้น ยังมียักษ์สีฟ้า "ไอบีเอ็ม" ออราเคิล ต่างมีเทคโนโลยีเว็บเซอร์วิสและต้องการเข้ามามีเอี่ยวในเค้กก้อนนี้ ทั้งสิ้น ภาพที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้แห่เข้ามาให้การสนับสนุนในแง่ของการเทรนนิ่งเทคโน โลยี เพื่อหวังที่จะยกระดับให้คนไทยมีความพร้อมที่จะก้าวไปกับเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว เช่นที่ผ่านมา ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) ทำโครงการจาวาภิวัตน์เพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเทคโน โลยี "จาวา" ขณะที่ไมโครซอฟท์ก็ได้ทำโครงการ "พาร์ตเนอร์อินเลิร์นนิ่ง" ในการฝึกอบรมให้กับครูทั่วประเทศ

และช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงทั้งจากทั้ง 2 ค่ายก็ได้เดินทางมาเมืองไทย ไอทีเดินสายเข้ามาเมืองไทยโดย "เครก มันดี" รองประธานอาวุโส, เจ้าหน้าที่สูงสุดฝ่ายเทคนิคกลยุทธ์และนโยบายขั้นสูง ของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น บินตรงจากสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย โดยใช้เวลา 2 วันเดินสายพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที), กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งรับประทานอาหารเย็นกับ พ... ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อพูดคุยกันถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยพัฒนาประเทศในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

"เครก" ให้เหตุผลว่า ประเทศไทยในสายตาของไมโครซอฟท์จัดอยู่ในกลุ่มตลาดดาวรุ่ง มีจุดเด่นตรงที่รัฐบาลเข้าใจความสำคัญของเทคโนโลยี ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้อย่างมีรูปแบบและรวดเร็ว รวมทั้งอุตสาหกรรมไอทีในไทยเองก็มีพื้นฐานมา 10 กว่าปี มีความพร้อมในระดับหนึ่ง ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนผสมที่น่าสนใจในการพัฒนาตลาดมาก แม้เวลาเพียง 2 วันในเมืองไทยจะยังไม่มีโครงการใดๆ ออกมาเป็นรูปธรรม แต่ "เครก" บอกว่า เขาได้เรียนรู้และเข้าใจความต้องการของรัฐบาลไทยมากขึ้น เห็นการปรับตัวของระบบโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และระบบการศึกษาในทางที่ดีขึ้น และจะนำข้อมูลที่ได้รับจากการพูดคุยกับผู้บริหารรัฐบาลไปทำการบ้านว่าจะมีความร่วมมืออย่างไรบ้าง และกลับมาประเทศไทยอีกหลายๆ ครั้งเพื่อนำเสนอโครงการและสานต่อความร่วมมือในอนาคต เมื่อบวกกับโครงการพาร์ตเนอร์อินเลิร์นนิ่งที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่ง บวกกับโครงการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ "เว็บเซอร์วิส" และความร่วมมือที่จะมีในอนาคต ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมไอทีไทย ก็ต้องดูต่อไปว่าไทยจะเกาะหลังไมโครซอฟท์เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาประเทศและแข่งขันในเวทีโลกได้สำเร็จหรือไม่

ด้าน "ซัน ไมโครซิสเต็มส์" ก็ส่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนและเผยแพร่เทคโนโลยี "เรจจี้ ฮัทเชอร์สัน" ก็มาโรดโชว์ในประเทศไทยช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมาพบปะกับและแสดงวิสัยทัศน์กับ ข้าราชการระดับบริหารของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในการนำเสนอแพลตฟอร์มจาวาสำหรับการพัฒนาเว็บเซอร์วิส โดยยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุนด้านการลงทุนเทคโนโลยีบนมาตรฐานระบบเปิด (open standard) เพราะเป็นจุดเด่นของการเชื่อมโยงระบบ และเป็นเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ และไม่จำกัดการใช้งานเฉพาะกลุ่ม ทำให้อำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและการให้บริการในหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงข่ายเว็บเซอร์วิสของหน่วยงานต่างๆ "หากใช้แพลตฟอร์มดอตเน็ต (.Net) ของไมโครซอฟท์ ก็จะเป็นการผูกขาดเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้เฉพาะกลุ่ม และอยู่ในโลกของไมโครซอฟท์เท่านั้น" รวมทั้งการกระตุ้นให้คนไทยพัฒนาซอฟต์แวร์บนมาตรฐานของจาวา ซึ่งเป็นแนวโน้มของเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูง และสามารถสร้างรายได้ในตลาดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ อาทิ เกมบนมือถือ และแอ็ปพลิเคชั่นต่างๆ ที่สามารถใช้งานบนเทคโนโลยีไร้สาย โดยได้เดินหน้าสนับสนุนนักพัฒนาจาวาภายใต้ "จาวาวิวัตน์"

ทางด้านไมโครซอฟท์ยังมี นายเบลค เออร์วิง ประธานองค์กร MSN Communication Service และ Member Platform Group ได้เดินทางมาประเทศไทยในช่วงเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งของธุรกิจเอ็มเอสเอ็นในประเทศไทย ซึ่ง "เออร์วิง" กล่าวว่า เป้าหมายของเอ็มเอสเอ็น คือ ต้องการทำให้คนไทยได้ใกล้ชิดกับข้อมูลข่าวสาร และติดต่อปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่าน 3 บริการของเอ็มเอสเอ็น ได้แก่ อินสแตนต์เมสเซ็นจิ้ง, ฟรีอีเมล์ (ฮอตเมล์) และอีเมล์แบบเก็บค่าสมาชิก

นอกจากนี้ ยังได้มองโอกาสในการเปิดตลาด บรอดแบนด์คอนเทนต์ในไทยว่า หากจะมีการดำเนินการก็คงจะเป็นการให้คอนเทนต์ผ่านเว็บไซต์ msn.co.th โดยปัจจัยที่สำคัญคือ พาร์ตเนอร์ที่จะร่วมทำตลาด ซึ่งคงจะต้องพิจารณาความเหมาะสมอีกที

ถือว่าในปีนี้เอ็มเอสเอ็นมีความเคลื่อนไหวในประเทศไทยมากเป็นพิเศษนอกจากการเปิดเว็บไซต์เอ็มเอสเอ็นภาษาไทยแล้วยังได้เปิดบริการบัตรพรีเพดสำหรับผู้ที่ต้องการพื้นที่เก็บอีเมล์เพิ่มขึ้น 2 GB นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ให้บริการชั่วโมงอินเทอร์เน็ตไปพร้อมกับอีเมล์พรี เพดการ์ดของเอ็มเอสเอ็น ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย, ตุรกี และอาร์เจนตินา โดยการเดินทางมาเมืองไทยของนายเบลค เออร์วิง ได้มีการพบปะเจรจากับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ รวมทั้งเจ้าของคอนเทนต์ด้านบันเทิงรายใหญ่ของประเทศไทยอย่างบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ด้วย ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของเอ็มเอสเอ็นในการบุกตลาดในไทย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.