ตัวแทนอุตฯ รุ่นใหม่ รวมกลุ่มร้องรัฐหนุนอาร์แอนด์ดี

ตั้ง "ชมรมนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่" ถ่ายทอดความคิด พร้อมเรียกร้องด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจากภาครัฐที่รับผิดชอบ

ผู้แทนอุตสาหกรรมส่งออกรวมตัวตั้ง "ชมรมนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่" ชูบทบาทเวทีถ่ายทอดความคิด รวมทั้งเรียกร้อง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการวิจัย และพัฒนาต่อคณะรัฐมนตรี

นายกิตติ สุขุตมตันติ ประธานชมรมนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ กล่าวว่า ชมรมตั้งใหม่แห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นเวทีกลางของกลุ่มอุตสาหกรรมทุกประเภท ในการเสนอความคิดเห็น และข้อเรียกร้องด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา ไปสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ชมรมจะเป็นตัวกลางประสานงานข้อมูล ระหว่างหน่วยงานรัฐ ผ่าน สวทช. ไปยังภาคเอกชน อาทิ โครงการสนับสนุนงานวิจัย และการส่งเสริมภาคเอกชนในด้านต่างๆ เช่น การสรรหาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมบางประเภท, การจัดโปรแกรมศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการเป็นสื่อกลางในการถ่ายโอนความรู้ (Know How) สู่ภาคเอกชน

โดยเบื้องต้นได้เริ่มจับกลุ่มสมาชิกจากหน่วยงานเอกชน ที่เคยใช้บริการต่างๆ ของ สวทช. ราว 500 ราย ร่วมกับตัวแทนภาคอุตสาหกรรม โดยเริ่มต้นจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออกรวมทั้งสิ้นราว 9 - 11 กลุ่ม อาทิ กลุ่มสินค้าสิ่งทอ, เกษตร และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ชมรมวางเป้าหมายสมาชิก ปี 2545 ที่จะขยายแนวสู่กลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่มีอยู่ทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 500,000-900,000 ราย และเมื่อขยายสู่กลุ่มดังกล่าว จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ทำงานระหว่างกลุ่ม ทำให้ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรทางอ้อม

พร้อมเปิดตัว ก.พ.45

นายกิตติ กล่าวว่า ชมรมฯ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2545 พร้อมกับการประกาศเปิดตัวเวบไซต์กลางของชมรม ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างเลือกชื่อโดเมนเนม โดยจะแล้วเสร็จก่อนการเปิดตัวชมรม โดยตั้งเป้าหมายว่า เวบไซต์ดังกล่าวจะใช้เป็นสื่อกลาง ของชุมชนกลุ่มอุตสาหกรรม (Community) ทั้งนี้เขามีแผนใช้เวบไซต์ดังกล่าว เป็นช่องทางใหม่ในการติตต่อข้อมูล ระหว่างสมาชิกผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการติตต่อกับหน่วยงานรัฐ นอกจากทางเอกสาร

ขณะเดียวกัน มองว่า เป้าหมายของชมรมจะเน้นการยกระดับ ความสามารถเชิงการแข่งขันของภาคเอกชนไทย ให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ และผลจากการพัฒนาของภาคเอกชน จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น

นายกิตติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมองว่าโครงการดังกล่าว จะทำให้ภาคเอกชนมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านการวิจัยและพัฒนาประเทศ โดยเบื้องต้นได้เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการไอที 2010 ซึ่งเป็นแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว

สานความร่วมมือ สวทช.

นายกิตติ กล่าวว่า แนวการก่อตั้งชมรมนั้น ได้เริ่มเตรียมการมาแล้วกว่า 3 เดือน และเริ่มประชุมสมาชิกไปบ้างแล้ว สำหรับพันธมิตรที่เข้ามามีส่วนผลักดันคือ สวทช. ทำตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งต้องการผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนงานวิจัยใหม่ๆ เพื่อทำให้ผลงานวิจัยสามารถนำออกมาใช้ เพื่อเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น โดยภาครัฐมีบทบาทเพียงผู้สนับสนุนและแนะนำเท่านั้น สำหรับความร่วมมือขั้นต้นที่ สวทช.ให้ อยู่ที่การส่งบุคลากรเข้ามาร่วมปฏิบัติงาน และการให้บริการใช้สถานที่ตั้งชมรม

10 ปัญหาหลักที่ต้องแก้ไข

นอกจากนี้ ชมรมได้รวบรวมความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ซึ่งรายงาน 10 ปัญหาหลักที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ 1. การขาดแคลนวัตถุดิบ 2. วัตถุดิบราคาสูง 3. ขาดแคลนแรงงาน 4. ค่าจ้างราคาสูง 5. ขาดเงินทุน 6. ขาดสภาพคล่อง 7. ดอกเบี้ยสูง 8. ขาดข้อมูลข่าวสาร 9. การแข่งขันรุนแรง 10. ตลาดใหม่ ทั้งนี้นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาองค์กรอยู่ที่การขาดผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งตัวผู้เชี่ยวชาญจะช่วยลดเวลาลองผิดลองถูก และให้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานโดยรวมได้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 มกราคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.