เอ็มไอทีประดิษฐ์หุ่นยนต์นักข่าว

ใช้ทำข่าวในสถานที่อันตรายและเขตหวงห้าม ระบุทำงานได้เหมือนนักข่าวจริงทุกประการ
แมสซาชูเซตส์ -นักวิจัยเอ็มไอที พัฒนาหุ่นยนต์นักข่าว ใช้ระบบควบคุมระยะไกล ส่งล่าข่าวในสมรภูมิรบ หรือเขตหวงห้าม พร้อมติดตั้งจอวิดีโอ สามารถสัมภาษณ์ได้เหมือนนักข่าวจริง เผยได้แนวคิดจากสงครามอัฟกานิสถาน เพื่อลดความเสี่ยงผู้สื่อข่าวในพื้นที่อันตราย

 

ทั้งนี้ นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้เริ่มพัฒนาผู้สื่อข่าวภาคสนามที่ใช้ระบบสื่อหลากหลาย เมื่อพบว่ากำลังขาดแคลนรายงานข่าวจากเหตุการณ์จริงในสมรภูมิอัฟกานิสถาน นายคริส ซิกเซนต์มิฮัลยี หัวหน้ากลุ่มวัฒนธรรมคอมพิวเตอร์แห่งห้องทดลองด้านการสื่อสารของเอ็มไอที เปิดเผยว่า หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลนี้ สามารถช่วยออกหาข่าวในพื้นที่รุนแรงทั่วโลก สังเกตการณ์การต่อสู้จากระยะใกล้ หรือแม้แต่ดำเนินการสัมภาษณ์ กระนั้น นักวิจัยคิดว่า สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว ซึ่งจำลองมาจากหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารของนาซาตัวนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้สื่อข่าวไม่ต้องตกอยู่ในวิถีกระสุน แต่จะช่วยแก้ปัญหาความเข้มงวดในการอนุญาตให้เข้าทำข่าวของกองทหารสหรัฐ

 

นายจอห์น พาฟลิค อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งทำการค้นคว้าด้านเทคโนโลยีในการรายงานข่าว กล่าวว่า แม้จะใช้เทคโนโลยีที่มีความล้ำหน้าขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่หุ่นยนต์นักข่าวภาคสนาม ที่สามารถหาข่าว และส่งภาพวิดีโอและเสียง หรือแม้แต่มีปฏิสัมพันธ์กับแหล่งข่าวได้ เป็นแนวคิดที่วิเศษมาก

นายซิกเซนต์มิฮัลยี เริ่มโครงการหลังเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุให้กองทหารสหรัฐเปิดศึกโจมตีอัฟกานิสถาน

 

อัฟกัน เอ็กซ์พลอเรอร์ (Afghan Explorer) เป็นหุ่นยนต์ขนาดใกล้เคียงกับสุนัขขนาดใหญ่ ซึ่งใช้พลังงานจากชุดแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องยนต์เสริมกำลังบิดสูง ที่นำมาจากเครื่องถ่ายเอกสาร เพื่อช่วยขับเคลื่อนล้อให้สามารถเดินทางได้ในพื้นที่ทุกรูปแบบ นอกจากนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าว จะเคลื่อนที่โดยใช้เทคโนโลยีระบุพิกัดผ่านดาวเทียม (GPS) ที่ควบคุมโดยโทรศัพท์สัญญาณดาวเทียม และได้รับการติดตั้งเครื่องวัดความเร็ว, เครื่องวัดอุณหภูมิ และเครื่องตรวจจับระยะไกล เพื่อให้สามารถจับสภาพเหตุการณ์แวดล้อมได้ ส่วนเครื่องควบคุมวิดีโอที่อยู่บนเสาด้านหน้า เป็นจอภาพวิดีโอ ซึ่งมีกล้องถ่ายรูปอินเทอร์เน็ตขนาดเล็กติดตั้งอยู่แต่ละด้าน และจะทำหน้าที่เป็นเครื่องควบคุมที่มีคุณสมบัติเหมือนหน้าคน ภาพวิดีโอที่อุปกรณ์นี้ ได้บันทึกไว้จะช่วยให้หุ่นยนต์เดินทางไปได้ และช่วยให้ผู้สื่อข่าวสามารถควบคุมหุ่นจากระยะไกล เพื่อทำการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวได้

 

การยอมรับจากทางการทหาร

หุ่นยนต์อัฟกัน เอ็กซ์พลอเรอร์นี้ ได้รับการออกแบบให้สามารถเดินทางได้ราว 4-5 ไมล์ต่อชั่วโมง เป็นระยะทางราว 35 ไมล์ต่อวัน และมีธง ซึ่งบอกสัญลักษณ์ของสันติภาพติดที่เสาอากาศ เพื่อแสดงความเป็นกลาง นายซิกเซนต์มิฮัลยี ผู้ซึ่งอธิบายว่าโครงการนี้เป็นทั้งจินตนาการ และความจริง รวมทั้งยังตั้งใจจะนำเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า หุ่นยนต์นี้ไม่ได้ตั้งใจให้แทนที่นักข่าวจริง "เป็นความคิดที่โง่ หากจะคิดว่าหุ่นยนต์อาจสามารถแทนที่คนได้ แต่คงไม่มีใครคิดจะถามว่า 'เครื่องบินหุ่นยนต์สังหารนั้น มีประสิทธิภาพเหมือนทหารจริงๆ หรือเปล่า" นายซิกเซนต์มิฮัลยี กล่าว

 

อย่างไรก็ดี กองทหารสหรัฐจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ต่อหุ่นยนต์สื่อข่าวที่จะเข้าไปอยู่ในแนวหน้าด้วย ยังคงเป็นประเด็นต่อไป โดยพันตรี แบรด ดี โลเวลล์ โฆษกกองบัญชาการกลางของสหรัฐ ซึ่งมีอำนาจสั่งการในการรบที่อัฟกานิสถาน ไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับปฏิกิริยาของแพนตากอน ต่อสิ่งประดิษฐ์อย่าง อัฟกัน เอ็กซ์พลอเรอร์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.