สวทช. เล็งร่วมมือญี่ปุ่นส่งชิพป้อนสมาร์ทการ์ด

สวทช. เล็งผนึกบริษัทญี่ปุ่น ผลิตชิพป้อนโครงการสมาร์ทการ์ด ลุ้น ครม. อนุมัติตั้งโรงงานผลิตไมโครชิพมูลค่า 1,500 ล้านบาท ด้านไอซีที เตือนให้แจงบิสซิเนส โมเดลก่อน คาดต้นทุนผู้ผลิตต่างชาติอาจถูกกว่า

 

นายไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทญี่ปุ่น 3 ราย คือ โอกิ, โตชิบา และเรอเนสซัส ตอบรับกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะจัดตั้งความร่วมมือกับ สวทช. เพื่อผลิตชิพสำหรับสมาร์ทการ์ด หากบริษัทใดบริษัทหนึ่งชนะประมูลโครงการบัตรประชาชนอเนกประสงค์ (สมาร์ทการ์ด) โดยโครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างดำเนินงานโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งระบุเงื่อนไขว่าบริษัทผู้ผลิตชิพต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ สวทช.

 

ลุ้นผล ครม. อนุมัติสร้างรง.

ทั้งนี้ สวทช. กำลังรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติงบประมาณตั้งโรงงานผลิตชิพมูลค่า 1,500 ล้านบาทในไทย หากได้รับอนุมัติจะสามารถก่อสร้างโรงงาน และผลิตชิพได้ภายใน 9 เดือน สำหรับการผลิตไมโครชิพครั้งนี้ จะหนุนนโยบายประเทศที่มุ่งอนาคตสู่นาโนเทคโนโลยี และต้องการให้ไมโครชิพมีต้นทุนต่ำกว่านำเข้า โดยเขายอมรับว่า หากคงเข้าประมูลรอบแรกไม่ทัน แต่จะร่วมจับมือพันธมิตรสำหรับสมาร์ทการ์ด ในส่วนของโครงการล็อตต่อไปจำนวน 40 ล้านใบต่อไป "หลังทำวิจัยในห้องแล็บ ระดับเวิลด์คลาสมาแล้ว ถึงทำโรงงานผลิตขนาดใหญ่ไม่ได้ แต่ขยายทำเชิงการค้าได้ ระดับกำลังผลิต 10-12 ล้านใบต่อปี ต้นทุนใบละ 65 หรือ 72 บาทขึ้นกับจำนวน" นายไพรัชกล่าว นอกจากนี้ ยังอาจลดต้นทุนให้ต่ำกว่านี้ได้ หากรัฐบาลไม่คิดค่าเสื่อมหรือนำเงินคืน ซึ่งจะทำให้สามารถลดราคาแข่งขันกับต่างชาติรายใหญ่ได้

 

ไอซีที เมินแผนตั้งรง.

ด้าน น..สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า การจัดตั้งโรงงานผลิตไมโครชิพในไทย สวทช. ต้องชี้แจง ครม. ถึงแผน หรือรูปแบบทางธุรกิจได้ ไม่ใช่ตั้งโรงงานขึ้นมาเพื่อรองรับเฉพาะโครงการสมาร์ทการ์ดของรัฐเท่านั้น โดยควรมีแผนธุรกิจชัดเจนว่าจะหาลูกค้าจากที่ใด อย่างไร เพื่อไม่ให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าผู้ผลิตต่างชาติ และไม่ให้เกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในอนาคต โดยส่วนตัวเห็นว่า สวทช. ควรดำเนินการในสิ่งที่ถนัด คืองานวิจัยจะดีกว่ามาจัดตั้งโรงงานด้วย "หาก สวทช. มีลูกค้าเฉพาะรัฐ การผลิตเต็มที่ 60 ล้านใบ 1 เดือนก็ผลิตเสร็จแล้ว และที่เหลืออีก 11 เดือน จะทำอย่างไร สวทช. ต้องแจกแจงใน ครม. ให้ได้ด้วย และหากเราผลิตเองแล้วได้ต้นทุนสูงกว่า จะตอบคำถามนี้ได้อย่างไร" ..สุรพงษ์กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.