โอเพ่นซอร์สรุกคืบโรงพยาบาล

 

โอเพ่นซอร์สออกแววแสดงบทบาทเชิงรุกในสถานพยาบาลขนาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้มีแนวโน้มจะทวีความชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2546 จากความเสถียรของระบบ หลังสถานพยาบาลหลายแห่งเริ่มนำระบบปฏิบัติการแบบเปิดนี้ เข้ามาใช้ในการทำงาน และเริ่มต้นสร้างแอพพลิเคชั่น เพื่อสนองความต้องการเฉพาะรูปแบบขึ้น หลังระบบเปิดนี้ได้ทยอยขยายวงกว้างเข้าสู่หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

แรงผลักดันที่สถานประกอบการพยาบาลได้รับ คือ ความจำเป็นในเรื่องของงบประมาณ โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งโดยมากล้วนได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลง ซึ่งการปรับมาใช้ระบบปฏิบัติการแบบเปิดนั้น จะช่วยประหยัดงบประมาณลงไปได้อย่างน้อยในระดับแสนบาท ขณะที่แรงผลักดันอีกประการคือ มาตรการของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดหันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ได้มาอย่างถูกลิขสิทธิ์ โดยจับมือกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ)

 

เปิดงานพัฒนาแอพพลิเคชั่น

นายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล จากโรงพยาบาลโรคทรวงอก กล่าวว่า แนวโน้มการใช้ระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอร์สในสถานพยาบาลปีหน้า จะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากความเสถียรของระบบ และทีมงานแพทย์และเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชั่นรองรับความต้องการใช้งาน สำหรับแอพพลิเคชั่นที่น่าจับตามองและจะเห็นการพัฒนาที่ชัดเจนคือ แอพพลิเคชั่นสำหรับการบริการผู้ป่วย ที่ขณะนี้มีอย่างน้อย 2 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลในจังหวัดน่าน ซึ่งพัฒนาระบบข้อมูลทั่วไป โดยใช้เทคนิคการสแกนเข้ามาเสริม และโรงพยาบาลจังหวัดร้อยเอ็ด ที่เน้นการบริการผู้ป่วยโดยอาศัยฐานข้อมูลหลากชนิด รวมถึงระบบงานวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งต่างก็นำมาใช้งานจริงระยะหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า ในปลายปีนี้จะมีการรวมกลุ่มระหว่างนักพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับสถานพยาบาลขึ้น โดยไม่มีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมถึงลดความซ้ำซ้อนในการพัฒนา ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข

 

ตัวอย่างโครงการพัฒนา

นายแพทย์วิจักษ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา นายแพทย์ระดับ 5 โรงพยาบาลจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นผู้เขียนโปรแกรม อี-ฟอร์ม เมดิคัล เร็คคอร์ด กล่าวถึงแนวคิดและการพัฒนาว่า แนวคิดของโรงพยาบาลนั้นอยู่บนหลักการพึ่งตนเอง เพราะด้วยสภาพพื้นที่และทรัพยากรที่จำกัด จึงต้องเน้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ที่เน้นการรองรับการทำรายงานและลดความซ้ำซ้อนของงาน ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากบุคลากร (พีเพิ่ลแวร์) สำหรับรูปแบบของโปรแกรมจะเน้นหลักความสะดวก โดยการป้อนข้อมูลรายละเอียดพื้นฐานของผู้ป่วยเพียงครั้งเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องยา, เวชระเบียน, การเงิน เป็นต้น สามารถดึงข้อมูลไปใช้ได้ รวมถึงผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบการค้นหาได้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลจากชื่อ, สกุล หรือที่อยู่ และเนื่องจากเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ประหยัดเวลาในการค้นหาและประมวลผล ทั้งพัฒนาให้กลายเป็นไฟล์ในรูปแบบมัลติมีเดีย และต่อยอดสู่การเก็บเป็นฐานข้อมูลและกลายเป็นคลังความรู้ (ดาต้าไมนิ่ง) ของสถานพยาบาลนั้นๆ โดยปัจจุบันเริ่มนำระบบดังกล่าวไปใช้งานจริงแล้ว ซึ่งมีสถิติการเก็บข้อมูลประมาณ 500 ภาพต่อวัน ด้วยคุณภาพการใช้งานเช่นเดียวกับเอกสารจากเครื่องโทรสาร และในระยะเวลา 1 ปี เชื่อว่าจะมีปริมาณข้อมูลประมาณ 10 กิกะไบต์ ซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะข้อมูลที่บันทึกไว้สามารถเก็บรักษาได้นานและมีปริมาณข้อมูลไม่มากนัก

ส่วนแนวทางความร่วมมือกับสถานพยาบาลอื่นในการพัฒนาหรือให้บริการนั้น เขามองว่า มีความพร้อมในการติดตั้งระบบงานดังกล่าวให้กับสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยปรับระบบ (คัสโตไมเซชั่น) ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานของสถานพยาบาลนั้นๆ รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกันเพื่อพัฒนาระบบงานในอนาคต

ขณะที่นายแพทย์ไพบูลย์ เพ็ญสุวรรณ นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ผู้พัฒนาโปรแกรม hospital XP กล่าวว่า การพัฒนาเริ่มต้นนำร่องใช้จริงตั้งแต่ปี 2542 ในโรงพยาบาลเขาสวนกวาง และขยายสู่โรงพยาบาลอีกอย่างน้อย 3 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลจังหาร, จตุรพักตรพิมาน, โพธิ์ชัย เป็นต้น โดยนำเสนอระบบงานห้องคลอด, โอพีดี, ห้องยา, การเงิน, ทันตกรรม, การส่งเสริมสุขภาพ, ห้องฉุกเฉิน, ห้องตรวจโรค เป็นต้น รวมถึงพัฒนาระบบเสริม เช่น ระบบงานห้องคลอด, ห้องปฏิบัติการ, งานบุคลากร, งานซ่อมบำรุง, บัญชี, สวัสดิการร้านค้า

 

ส่วนนายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาโปรแกรม hospital OS ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนโครงการจาก สกว. กล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวเพื่อใช้เป็นซอฟต์แวร์ในการบริหารและบริการภายใต้ระบบโอเพ่นซอร์ส เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ปรับใช้ได้ง่ายและพัฒนาต่อเนื่องโดยไม่เสียค่าลิขสิทธิ์ โดยเริ่มนำร่องที่โรงพยาบาลทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง เป็นแห่งแรก เป้าหมายของบริการดังกล่าวเพื่อย่นระยะเวลาในการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาล ซึ่งวันแรกที่เริ่มใช้งาน สามารถลดระยะเวลาการให้บริการผู้ป่วยต่อคนลงได้ จากปกติที่ใช้เวลาการรอและตรวจจนถึงการจ่ายยาประมาณ 80 นาที เหลือ 65 นาทีเท่านั้น รวมถึงสามารถตรวจคนไข้ได้มากขึ้น สำหรับอนาคตของโครงการจะพัฒนาต่อเนื่องในเวอร์ชั่น 2 เน้นหลักตรรกะ (ลอจิก) ที่ชัดเจน และมีการอินเทอร์เฟสกับผู้ใช้งานง่ายขึ้น ซึ่งอาจจับมือกับพันธมิตรในการทำเป็นโมดูล

 

นอกจากการพัฒนาแอพพลิเคชั่นการจัดการบริการแล้ว ยังมีแอพพลิเคชั่นสำหรับการทำระบบสนับสนุนการทำงานของเครื่องแม่ข่ายในการทำงาน โดยการต่อเชื่อมระหว่างเครื่องแม่ข่าย 2 เครื่องขึ้นไป (คลัสเตอร์ริ่ง) ที่พัฒนาโดยนายแพทย์อมฤทธิ์ อังศุสิงห์ จากโรงพยาบาลสวรรคประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่ใช้โปรแกรมฮาร์ดบีท (Heartbeat) บนลินิกซ์ โดยโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการทำงานแบบสแตนบายคลัสเตอร์ ที่เครื่องแม่ข่ายชุดแรกซึ่งประกอบด้วย เครื่องแม่ข่ายและอุปกรณ์เก็บข้อมูลจะทำงาน ขณะที่ชุดแม่ข่ายอื่นจะทำการสำรองข้อมูลตลอดเวลา และพร้อมจะเข้ามาทำงานแทนเมื่อเครื่องแม่ข่ายหลักไม่สามารถทำงานได้ โดยมีดาวน์ไทม์ต่ำกว่า 2 วินาที

 

สธ.พร้อมหนุน

นายแพทย์ฐิติศักดิ์ บุญไทย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าแม้การใช้งานระบบโอเพ่นซอร์สจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถานพยาบาล แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้งานก็มีขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งศูนย์ฯ เห็นว่า ควรของบประมาณเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์จากยูสเซอร์กรุ๊ปดังกล่าว เพื่อกิจการสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มของโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีจำนวนกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เข้ามาสนับสนุนผ่านเวิร์คช็อปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตามโครงการอีกอฟเวิร์นเม้นท์ เพื่อพัฒนาระบบการจัดการภายใน (แบ็คออฟฟิศ) สำหรับกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะ เช่น ระบบเวชระเบียน, ระบบการจัดการผู้ป่วยนอก-ในและเตียงนอน, ระบบคลังเลือด, ระบบยา, ระบบบริการรังสีรักษา (เอกซเรย์) และระบบห้องปฏิบัติการ เป็นต้น ส่วนเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ซอฟต์แวร์พาร์ค) จะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นพื้นฐานที่ใช้ในการจัดการทั่วไป ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกกระทรวง

ด้านการให้บริการของศูนย์ฯ นั้น ขณะนี้กำลังพัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาล เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการบริหาร รวมถึงการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ตลอดจนประโยชน์อื่นๆ จากข้อมูล โดยมีแผนติดตั้งระบบต่อเชื่อมกับศูนย์ไอซีทีประจำจังหวัด ที่จะตั้งขึ้นในพื้นที่ของโรงพยาบาลประจำจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 75 แห่ง เข้ามายังศูนย์ฯ ใน กทม. ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.