ไอทีไทยพร้อมใช้ "โอเพ่นซอร์ส" หรือยัง

 

ฟรี ดูจะเป็นคำที่เย้ายวนใจมากที่สุด และเป็นที่เข้าใจมากที่สุดสำหรับสาธารณชนเวลากล่าวถึงระบบปฏิบัติการ ลีนุกซ์  เสรี อาจเป็นคำที่ไม่ค่อยถูกอ้างอิงบ่อยเท่า แต่แท้จริงมันคือคำนิยามดั้งเดิม และเป็นรากฐานของการก่อกำเนิด ระบบปฏิบัติการที่ผู้พัฒนายินยอมเปิดเผย ไส้ใน หรือที่เรียกกันว่า source code เพื่อให้นักพัฒนาทั่วโลกร่วมกัน ต่อยอด ความคิด และเผยแพร่ให้สาธารณชนได้ใช้อย่างเสรี และนี่คือที่มาของคำว่า Open Source Software หรือโปรแกรมที่ผู้พัฒนามีข้อตกลงในการเผยรูปแบบการเขียน โครงสร้าง และตรรกะของโปรแกรม

 

สังคมไทยพร้อมแล้ว?

โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ที่รู้จักกันดีในบ้านเราและถูกนำมาใช้มากที่สุดเห็นจะเป็นระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ซึ่งในความเข้าใจของคนทั่วไปมักจะคิดว่าเป็นแค่โอเอส (operation system) ที่นำมาติดตั้งแทน Windows OS ของบริษัทไมโครซอฟท์ ทั้งที่จริงแล้ว ความนิยมใช้ลีนุกซ์ในไทยยุคแรกๆ เน้นการใช้งานเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์เป็นหลัก

 

กำธร ไกรรักษ์ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาสาขาสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เนคเทค (NECTEC) ย้อนประวัติของลีนุกซ์ให้ฟังว่า ในยุคแรกๆ คือในช่วงปี 2538-2542 ลีนุกซ์จะถูกใช้งานในสถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เพื่อทดแทนการใช้ Unix server ซึ่งมีราคาแพง แต่ช่วงนั้นยังไม่ได้มีการใช้งานในลักษณะเครื่องพีซีตั้งโต๊ะมากนัก ต่อมาในช่วงปี 2541-2543 องค์กรต่างๆ เริ่มหันมาทดลองใช้ลีนุกซ์กันบ้าง เนื่องจากต้นทุนต่ำ มีประสิทธิภาพดี และมีเสถียรภาพสูง และในปัจจุบัน ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป หรือระดับที่เรียกว่า end user เริ่มรู้จักและทดลองใช้งานกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเนคเทคได้ออกระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ทะเล เผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้ระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องพีซี

 

กระแสความสนใจในการใช้งานโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ ถูกกระพือมากขึ้นเมื่อบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ประเทศไทย ได้ออกชุดโปรแกรมสำเร็จรูปใช้ในสำนักงานที่ชื่อว่า ปลาดาวออฟฟิศ ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ชุด Star Office เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้งานโปรแกรมสำนักงาน ตามมาด้วย ปลาดาว ออฟฟิศ ของเนคเทค ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยชุดโปรแกรมออฟฟิศทั้งสอง ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากชุดโปรแกรม Microsoft Office ของบริษัทไมโครซอฟท์ที่ได้รับความนิยมทั่วไป และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ จนถึงวันนี้ พอจะอนุมานได้ว่า คนไทยกลุ่มหนึ่งและสาธารณชนเริ่มรับรู้แล้วว่า นอกจากระบบปฏิบัติการวินโดว์ส และโปรแกรมชุดสำนักงานที่ครองตลาดอยู่ทุกวันนี้ ยังมีระบบปฏิบัติการอื่นที่พวกเขาสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ ฟรี หรือสามารถหาซื้อได้ในราคาถูก คำถามที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และผู้ใช้ทั่วไปคือ ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการใช้งาน โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์

 

ชนะ โศภารักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนไปใช้โอเพ่นซอร์สไม่ใช่เรื่องง่าย ในส่วนของ กฟผ. เองเริ่มใช้ free software เมื่อปี 2537 โดยใช้ทำอินเทอร์เน็ตเซิร์ฟเวอร์ ปัจจุบันระบบปฏิบัติการที่ใช้กับ Internet Server 80% เป็นโอเพ่นซอร์ส แต่ไม่สามารถทำได้ 100% และโดยส่วนตัวไม่สนับสนุนให้ใช้ทั้งหมดด้วย การนำโอเพ่นซอร์สมาใช้ในองค์กรนั้น หากต้องการให้เกิดความแพร่หลายในการใช้งานจริง ต้องกำหนดเป็นนโยบายขึ้นมา และที่สำคัญที่สุดผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญด้วย ในฐานะนักวิจัย ในแต่ละปีงบประมาณที่จะต้องจ่าย สำหรับค่าซอฟต์แวร์ตกราว 15-18 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18..2544 ผมได้เชิญดร.ทวีศักดิ์ (กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการเนคเทค) มาบรรยายให้ผู้บังคับบัญชา ฟังเกี่ยวกับนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศที่สนับสนุนให้ใช้โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ ผู้บริหาร กฟผ. เมื่อได้ก็เข้าใจและเห็นความสำคัญของการนำมาใช้ และได้ประกาศเป็นนโยบายให้ กฟผ.ใช้โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ ชนะกล่าว

 

หลังจากถูกกำหนดเป็นนโยบายแล้ว สิ่งที่ต้องมาพิจารณาต่อคือ ทำอย่างไรให้คนมาใช้โอเพ่นซอร์ส วิธีการอันดับแรกที่นำมาใช้ใน กฟผ.เองคือ การอบรมพนักงาน กฟผ.มี administrator ทั่วประเทศอยู่ 150 คน ซึ่งเนคเทคได้ส่งคนไปช่วยอบรม ซึ่งก็ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อมาได้อบรมให้กับผู้ใช้งาน 380 คน หลังอบรมไปแล้วถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ เริ่มมีคนใช้บ้าง โดยใช้เป็นอินเทอร์เน็ตเซิร์ฟเวอร์เป็นหลัก ส่วนการใช้งาน desktop ในองค์กรของ กฟผ.นั้นยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากเครื่องเดสก์ท็อปพีซีใน กฟผ. มีไลเซ่นส์การใช้งานที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว เป็นการจัดซื้อแบบปริมาณมาก ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 10 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้พนักงานฝึกฝนและคุ้นกับการใช้งานลีนุกซ์ จึงได้ติดตั้งลีนุกซ์ไปบนเครื่องเดียวกันกับวินโดว์ส ซึ่งพนักงานจะค่อยๆ เรียนรู้เอง ในส่วนของงานธุรการ คงจะออกเป็นนโยบายให้หน้าห้องใช้ก่อน คิดว่าน่าจะไปได้ ส่วนการใช้งาน 100% คงเป็นไปไม่ได้ เหมือนคนเรากินข้าว อยู่ๆ จะให้ไปกินพิซซ่า มันเป็นไปไม่ได้ ชนะกล่าวแสดงความเห็น

 

เพนกวินบุกมหาวิทยาลัย

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในช่วงต้น การใช้งานลีนุกซ์ในยุคแรกๆ เกิดขึ้นในรั้วสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นสถานที่ที่สภาพแวดล้อมแบบ วิชาการเอื้ออำนวยให้เกิดการทดลองใช้งานมากที่สุด นอกจากนี้ ธรรมชาติของนักศึกษาภาควิชาคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่มักจะมีกลุ่มคนที่ชอบ ลองของ อยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ดี แรงผลักดันประการหนึ่งที่ส่งผลให้ทั้งผู้สอน และนักศึกษาหันมาใช้โอเพ่นซอร์สคือ งบประมาณที่จำกัดของสถาบันการศึกษาเอง

 

เสรี ชิโนดม อาจารย์ประจำภาควิชาคอมพิวเตอร์ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เล่าให้ฟังว่า เหตุที่สถานศึกษาหันมาสนใจโอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจและลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ที่มหาวิทยาลัยบูรพาสมัยก่อนจะได้รับเงินสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์น้อยมาก ประมาณ 3 แสนบาทต่อปี ซึ่งถ้าใช้ซอฟต์แวร์แบบ licence ต้องใช้เงินจำนวนมาก ช่วงนั้น John Gatewood Ham อาจารย์ชาวต่างประเทศได้เสนอให้นำลีนุกซ์มาลงกับเครื่องรุ่นซีพียู 386 sx และได้ร่วมกันทำ interface menu ให้ติดตั้งได้ง่าย และทำ menu ภาษาไทยบน X-window เปลี่ยนแปลงบางอย่างใน config ด้วย เพื่อให้การใช้งานสะดวก และมีสภาพแวดล้อมคล้ายกับระบบ Windows ของไมโครซอฟท์ อ.เสรี กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทุกแห่งหันมาใช้โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์กันทุกมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ประกาศอย่าง เป็นทางการ โดยส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะติดตั้งระบบปฏิบัติการ ลีนุกซ์สำหรับทำอินเทอร์เน็ตเซิร์ฟเวอร์ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลจะใช้ PostgresSQL เป็นต้นแบบที่ใช้ในสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งถือว่าดีกว่า MySQL เสียอีก เรียกได้ว่าศึกษากันตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกๆ เลย และเป็นระบบที่มีความเร็วในการใช้งานพอตัว

 

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในภูมิภาค รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้นำเอาโอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์มาใช้กันมาก แม้แต่ในส่วนที่เป็น Web Service ระบบ Monitoring Network และพวก Firewall ก็มีซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพ่นซอร์สกับเขาเหมือนกัน" .เสรี กล่าว  นอกจากการใช้งานในมหาวิทยาลัยแล้ว โรงเรียนของกรมสามัญศึกษาหลายแห่งได้ใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ทำเซิร์ฟเวอร์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Linux SIS หรือ Red Hat โดย อ.เสรีได้เปิดอบรมการเป็น administrator และภาษาสคริปท์ให้กับครูมัธยม และทางมหาวิทยาลัยบูรพายังได้ทำซอฟต์แวร์ใหม่ๆ มาให้ใช้  แต่สำหรับการใช้งานในสำนักงานหรือระดับเดสก์ท็อปนั้น อ.เสรีเห็นว่ายังไม่ค่อยแพร่หลาย พร้อมกับเสนอแนะว่า หากต้องการให้หน่วยงานต่างๆ หันมาใช้งานซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพ่นซอร์สกันมากขึ้น ต้องมีการกำหนดเป็นนโยบาย ให้สนับสนุนการใช้งานซอฟต์แวร์เสรีมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีคู่มือการใช้งานที่ดี และต้องจัดอบรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

 

โอกาสทางธุรกิจ

หลายคนอาจเกิดคำถามขึ้นมาได้ว่า โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์เป็นของฟรี แล้วโอกาสทางธุรกิจจะอยู่ตรงไหน ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพ่นซอร์สจะได้อะไร

 

จรินทร์ ทรัพย์เกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัทการ์ด ซิสเต็มส์ จำกัด เป็นผู้หนึ่งที่สามารถใช้โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ มาสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของเขาได้ มีลูกค้าอยู่รายหนึ่ง เป็นลูกค้าเก่าแก่มาติดต่อขอให้ทำระบบ บอกว่ามีงบอยู่แค่นี้ และอยากทำระบบขึ้นมาระบบหนึ่งเป็นระบบ prepaid ของศูนย์อาหารโดยที่การลงทุนต้องต่ำที่สุด ผมเลยไปปรึกษากับวิศวกร ซึ่งก็ได้แนะนำว่ามีโซลูชั่นที่ไม่ต้องจ่ายไลเซ่นต์ 3-4 แสนต่อหนึ่งเซิร์ฟเวอร์ และไม่ต้องจ่ายในแง่ของยูสเซอร์ที่ log on ที่สามารถนำมาใช้ได้ฟรี และจะช่วยต้นทุนในการวางระบบได้อย่างมาก ตอนนั้น ในฐานะผู้บริหาร เขายังไม่ปักใจเชื่อเสียทีเดียวแต่ได้ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และทราบว่ามีระบบปฏิบัติการแบบ เปิดที่สามารถนำมาใช้ได้ฟรีจริง อย่างไรก็ดี เนื่องจากโอเพ่นซอร์สมีหลายบริษัท ที่พัฒนาต่อๆ กันมา จึงต้องดูว่าตัวไหนเหมาะสมสำหรับลูกค้า และมาพบว่า เรดแฮต ซึ่งเป็นระบบหนึ่งของลีนุกซ์ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ที่จะนำมาใช้เป็นระบบปฏิบัติการให้กับลูกค้า เนื่องจากมีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง จรินทร์กล่าว จากนั้นเข้าไปดูที่เวบไซต์ www.linux.com ว่ามีซอฟต์แวร์ตัวไหนที่จะใช้สนับสนุนระบบได้บ้าง และได้พิจารณา ความแตกต่างกับซอฟต์แวร์ที่ขายใบอนุญาตใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างไรก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้เรดแฮต ระบบศูนย์อาหารของบริษัทการ์ดซิสเต็มส์นั้น เป็นระบบศูนย์อาหารที่ทำให้กับ Tesco Lotus เป็นหลัก ซึ่งระบบปฏิบัติการที่ Tesco Lotus ใช้อยู่มีสองระบบ ได้แก่ ใช่ AIX ทำงานบน RISC 6000 กับ NT Server แต่บริษัทเสนอด้วยลีนุกซ์ ทีแรกลูกค้าซึ่งเป็นชาวต่างประเทศตั้งคำถามว่า ลีนุกซ์จะใช้ได้จริงหรือ ผมรับประกันกับลูกค้า ในที่สุด ลูกค้าก็ยอมตกลงที่จะทดลองใช้ดู

 

ในแง่ของ back end เราจะใช้อะไรก็ได้ ปัจจุบันใช้คอมแพคโมเดลต่ำๆ ต้นทุนไม่ถึงแสน ใช้ระบบปฏิบัติการเรดแฮต ใช้ฐานข้อมูลของ Informix ซึ่งยังเป็นซอฟต์แวร์ที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตใช้ในเชิงพาณิชย์อยู่ แต่ในขั้นต่อไปจะพัฒนามาใช้ My SQL ซึ่งเป็นโอเพ่นซอร์สเช่นกัน คงประมาณต้นปีหน้า ทุกอย่างจะออนไลน์จากหน้างาน

ถ้าเข้าไปในศูนย์การค้าจะเห็น ร้านค้า แคชเชียร์ เราพัฒนาเปลี่ยนจากระบบคูปองมาเป็นบัตรแถบแม่เหล็กแทน เวลาลูกค้ามาซื้อบัตรมูลค่า 100 บาท แคชเชียร์จะเอาบัตรบาร์โค้ดมารูด รายการจะวิ่งไปที่เซิร์ฟเวอร์ไปเก็บในฐานข้อมูล ว่าบัตรใบนี้มีมูลค่า 100 บาท จากนั้นลูกค้าเอาบัตรไปใช้กับร้านอาหารในศูนย์อาหาร ร้านอาหารจะมี terminal เป็นอุปกรณ์ซึ่งทำงานบน Z80 ทำการกดเงินและตัดเงินเข้ามา ระบบนี้จะทำให้เกิดการปรับปรุงบริการมากขึ้น นี่คือระบบคร่าวๆ ของศูนย์อาหาร  ปัจจุบันระบบดังกล่าวได้ติดตั้งให้กับศูนย์อาหารทั้งหมด 42 แห่ง ในแต่ละสโตร์เป็นสแตนอะโลน คือหนึ่งเซิร์ฟเวอร์ซึ่งทำงานด้วยลีนุกซ์เรดแฮตทั้งสิ้น และตั้งเป้าว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะติดตั้งเป็น 72 ระบบ เฉพาะ Tesco Lotus นอกจากนี้ Tesco ซึ่งเป็นของอังกฤษ ยังได้ออกใบรับรองว่า ห้าง Tescoทุกแห่งต้องใช้ระบบนี้และใช้ระบบปฏิบัติการนี้ด้วย ปัจจุบันเราลงไปแล้วหนึ่งห้างในมาเลเซีย เดือนหน้าจะใช้ที่มะละกาอีกจังหวัดหนึ่ง แผนปีนี้จะลงทั้งหมด 4 ห้าง ในต่างประเทศ ระบบนี้ช่วย Tesco ประหยัดได้ 30 ล้านบาทจาก 40 ห้าง จรินทร์กล่าว นอกจากนั้นจะเป็นลูกค้าในเมืองไทย ที่ตึก Empire Tower ซึ่งมีศูนย์อาหารอยู่ข้างล่าง ก็ใช้ลีนุกซ์เหมือนกัน ทั้งๆ ในแง่ของไอที ทางตึกจะใช้เอ็นทีเป็นหลัก ใช้ RISC เป็นหลัก ตอนนี้ก็มีลีนุกซ์เข้าไปสอดแทรก เป็นที่ยอมรับ Minor Group ก็เช่นเดียวกัน ก็ยังยอมรับลีนุกซ์เช่นกัน เพราะพิสูจน์มาแล้วว่าเสถียร ผมยืนยันอยู่อย่างหนึ่งว่าในแง่ของ Server based เมื่อทำงานด้วยแพลตฟอร์มของโอเพ่นซอร์ส จากประสบการณ์ที่มี 2 ปี ระบบไม่เคยล่มเลย ไม่เคยสั่ง shut down เซิร์ฟเวอร์ด้วย เราจะ maintenance เซิร์ฟเวอร์ปีละสามครั้ง โดย remote ไป หรือไปดูบ้างว่ามันฟ้องว่า firmware ตัวไหน error บ้าง หรือบางครั้งจะ restart เซิร์ฟเวอร์ ปีหนึ่ง ไม่เกินสามครั้ง นอกนั้นจะปล่อย stand by ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ศูนย์อาหารอีกหลายแห่งที่ใช้ระบบนี้ ซึ่งทำงานด้วยระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เรดแฮต เช่น ราชภัฏสวนดุสิต ห้างแฟร์รี่ พลาซ่า ขอนแก่น ก็ใช้เซิร์ฟเวอร์ประกอบเอง ราคา 4-5 หมื่นบาท ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการลีนุกซ์

 

มุมมองของนักพัฒนา

ดนุพล สยามวาลา ผู้จัดการอาวุโสด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ไอซ์ โซลูชั่น กล่าวว่า ผมอยู่กินกับมันมา 3 ปีแล้วอย่างมีความสุข ขึ้นอยู่กับคุณรู้จักอยู่ใช้ชีวิตร่วมกับมันหรือเปล่า ดนุพลกล่าวว่า โอเพ่นซอร์ส ไม่ใช่ของฟรี แต่อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องของ เสรีภาพ หลังจากมีคนพัฒนาเสร็จออกมาแล้ว ผู้ที่นำไปใช้ไม่ควรใช้งานแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรต่อยอดให้มันดีขึ้น เพราะหากเอาไปทำสำเนา แล้วเอาไปขายโดยไม่คิดอะไรต่อ มันจะไม่เกิดการพัฒนาและวิวัฒนาการของโปรแกรม ดนุพลให้ความเห็นด้วยว่า ในแง่ของนักพัฒนาเอง โอกาสในตลาดมหาศาล ยกตัวอย่างในประเทศ ถ้าจะทำให้โอเพ่นซอร์สเกิดจริงๆ มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ตัว ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งคือ ผู้พัฒนา ส่วนที่สอง คือ ภาคเอกชน และส่วนที่สามคือภาครัฐ ภาคเอกชนกับภาครัฐ คือผู้ใช้ ซึ่งตอนนี้มีความต้องการใช้งานแอพพลิเคชั่นแบบโอเพ่นซอร์สขึ้นมาแล้ว แต่ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นจริงๆ ยังไม่เกิด หมายถึงโปรแกรมประยุกต์ที่สามารถเอาไปใช้ได้เต็มที่ โอเพ่นซอร์สที่จริง ไม่ใช่แค่ลีนุกซ์ ลีนุกซ์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากนำระบบปฏิบัติการลีนุกซ์มาใช้งานแล้ว จะต้องมีแอพพลิเคชั่นมาต่อยอด นี่คือโอกาสของนักพัฒนา

 

ยกตัวอย่างที่บริษัทไอซ์ โซลูชั่นเอง เริ่มนำลีนุกซ์เข้ามาใช้จากเมื่อสามปีก่อน หลังจากพบว่าซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์อย่าง Microsoft Exchange กับ Lotus Note เพื่อสื่อสารในองค์กร ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีราคาสูงมากนับเป็นล้านบาท ผมจึงเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ซึ่งผลจากการสืบค้นพบ แอพพลิเคชั่นใช้งานด้านเมล ์ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส เยอะมาก บางรายเขียนคู่มือการใช้งานให้ด้วย ผมเลยทดลองใช้งาน ปัจจุบัน ลองค้นหาดู โซลูชั่นเต็มไปหมด ดนุพลแนะว่า ในการพัฒนาโปรแกรมให้ประสบผลสำเร็จทางด้านธุรกิจ นักพัฒนาต้องสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง สำหรับตัวเขาเอง เขามุ่งสร้างความแตกต่างโดยการมุ่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เป็นโอเพ่นซอร์ส เนื่องจากเล็งเห็นว่า ในตลาดส่วนใหญ่ จะมุ่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนการใช้งานกับระบบวินโดว์ส ซึ่งมีอยู่นับพันแห่ง ซึ่งเขาเห็นว่า มีการแข่งขันสูงและไม่สร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง

ปัญหาอย่างหนึ่งคือ นักพัฒนาของเราไม่เข้าใจความต้องการของธุรกิจ หรือภาครัฐ ส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ตัวเองอยากทำอะไร แต่ไม่เคยมีโอกาสพิสูจน์เลยว่ามันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ในตลาด เพราะฉะนั้นนักพัฒนาต้องรู้ว่า ธุรกิจต้องการอะไร และทำโซลูชั่นตอบสนอง ไม่ใช่สนองความต้องการของตัวเอง ดนุพลกล่าว จากตัวทั้งหมดที่กล่าวมานี้ พอจะเป็นคำตอบในตัวมันเองแล้วว่า โอเพ่นซอร์สในไทยมีพัฒนาการไปในทิศทางไหน ถึงวันนี้คงต้องยอมรับแล้วว่า โอเพ่นซอร์สได้เข้ามามีบทบาทในวงการไอทีไทยระดับหนึ่ง หากแต่เป็นระลอกคลื่นเล็กๆ ที่กำลังกระเพื่อมจากใจกลางบึง และขยายวงออกไปเรื่อยๆ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.