ชำแหละขาลง "พีซีแบรนด์ไทย" ต้อง Get Niche หรือ Get Big ไม่งั้นต้อง Get Out

สัมภาษณ์พิเศษ

แม้ว่าในยุคที่รัฐบาลผลักดันเรื่องการนำไอทีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจจนทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมไอทีมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่หากเอกซเรย์เจาะลงไปที่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบพีซีแบรนด์ไทย (โลคอลแบรนด์) หรือผู้ประกอบรายย่อย (ดีไอวาย) เรียกว่าอยู่ในจุดวิกฤต ซึ่งหลายฝ่ายยอมรับว่า เป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดของอุตสาหกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะมีปัญหารุมเร้ารอบด้าน ทั้งปัญหาการแข่งขันด้านราคารุนแรง ทำให้มาร์จิ้นโดยเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 5% ประกอบกับช่วงขาลงของตลาดพีซี และกำลังซื้อที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นปิดกิจการ และเกิดเป็นหนี้เสียในระบบที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ตลาด "โน้ตบุ๊ก" ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่กำลังมาแรงและมีอนาคต ผู้ประกอบการโลคอล แบรนด์ก็ไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับบรรดา "อินเตอร์แบรนด์" และล่าสุดยังมีปัญหาผลกระทบจากการที่สำนัก งานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดทำร่างมาตรฐาน มอก.2161 เพื่อเป็นมาตรฐานบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนที่ จำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอิน เตอร์แบรนด์, โลคอลแบรนด์ และดีไอวาย โดยเฉพาะกลุ่มดีไอวาย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก จะเสียเปรียบรายใหญ่ในแง่ของภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ที่อาจจะไม่คุ้มกับกำไรที่ได้รับ

ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่กำลังรุมเร้าอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย หรือ "เอทีซีเอ็ม" สมาชิกก็คือกลุ่มผู้ ประกอบการโลคอลแบรนด์ทั้งรายเล็กรายใหญ่ โดยมี "ประทีป เอื้อศักดิ์เจริญกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทร โปรเฟสชันแนล โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์โลคอลแบรนด์ "เอ็มพีพี" นั่งเก้าอี้นายกสมาคม ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อประสานความร่วมมือในกลุ่มผู้ประกอบการ และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรม ในโอกาสนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ "ประทีป เอื้อศักดิ์เจริญกุล" เพื่อชำแหละปัญหาและอนาคตของอุตสาหกรรมพีซีไทย ว่าจะไปทางไหน

- มองสถานการณ์ตลาดไอทีในปัจจุบัน
ตอบได้เลยว่า วันนี้เหนื่อย ! ตลาดที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือกลุ่มโลคอลแบรนด์ และดีไอวาย รวมทั้งกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ช่วงนี้ตลาดมีการชะลอตัวลง ซึ่งอาจจะเจอหวัดกันนิดหน่อย เลยทำให้ตลาดเซ็งๆ แต่ตลาดอินเตอร์แบรนด์ต้องยอมรับว่ามีตัวเลขการเติบโตที่ค่อนข้างดี เรียกว่าพูดกันคนละภาษาเลย

- ประเมินว่าสาเหตุจากอะไร
ข้อมูลที่ได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของซัพพลายเออร์ หรือมุมมองของบางบริษัทที่มีปัญหา ทุกคนก็บอกว่า ผลพวงจากโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที โครงการไอซีทีเป็นโครงการใหญ่ที่มีคนจดจำ และถือว่าเป็นโครงการที่ทำให้เกิดผลกระทบตามมา แต่อยากให้มอง 2 ด้าน คือในมุมที่โครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีสนับสนุนการเติบโตของตลาด อย่างที่ผ่านมา ผู้ค้าอุปกรณ์ต่อพ่วงก็แฮปปี้ จากการมีฐานผู้ซื้อกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นมุมที่ดี แต่เรื่องเดียวกันนี้ยังมีอีกหลายมิติ ก็มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที แต่คนทำธุรกิจต้องยอมรับก่อนว่า ปกติจะมีปัจจัยที่ควบคุมได้ และปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้

- จะแก้ปัญหาอย่างไร
ผมว่าประเด็นอยู่ที่ เมื่อเกิดโครงการคอมฯไอซีทีแล้ว ผู้ที่อยู่ในตลาดมีมุมมองเกี่ยวกับโครงการนี้ยังไง เตรียมยุทธวิธีในการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นในรูปแบบไหนบ้าง คนที่มองว่าเป็นโอกาสของการเติบโต ก็พยายามมองข้ามชอตว่า จะสามารถต่อยอดธุรกิจยังไง หรือจะเกาะกระแสยังไง เพื่อให้อยู่รอด คอมพิวเตอร์ไอซีทีเป็นตัวจุดประกายตลาดใหม่เครื่องราคาถูก แต่ข้อเท็จจริงลูกค้าที่ซื้อคอมพิวเตอร์มีหลายเซ็กเมนต์ และไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่คอมพิว เตอร์ไอซีทีราคา 10,000 บาทต้นๆ เท่านั้น ผู้ค้าบางรายก็เลือกที่จะทำตลาดในเซ็กเมนต์ที่มีระดับราคาสูงขึ้น อาทิ 13,900 บาท, 15,900 บาท เป็นทางเลือกให้ลูกค้า ซึ่งที่สุดก็อยู่ได้ แม้ว่าจะมีบริษัทที่รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว

บทพิสูจน์คือ ผลสรุปของโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 126,000 เครื่อง ขณะที่ตลาดรวมในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านเครื่อง แสดงว่าเครื่องไอซีทีเข้ามาแชร์ประมาณ 10% เท่านั้น ขณะที่ทำให้ตลาดพีซีปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 20% แสดงว่าโครงการนี้เป็นตัวจุดประกายการเติบโตของตลาด

จริงๆ แล้วก็มีผู้ที่สามารถเติบโตจากโครงการนี้ไม่น้อย อาทิ เอเซอร์, เบลต้า และเอสวีโอเอ รวมทั้งซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนก็ได้รับการเติบโตจากโครง การนี้เช่นกัน แสดงว่าเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดได้ และพยายามสร้างโอกาสในการทำตลาดใหม่ๆ มากขึ้น

- สมาชิก "เอทีซีเอ็ม" ส่วนใหญ่ก็ได้ประโยชน์จากโครงการไอซีที
ผมยอมรับว่า เอทีซีเอ็มได้อานิสงส์จากการเป็นผู้ประกอบเครื่องให้กับโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที แต่ประเด็นหลักคือ โครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีมีส่วนช่วยในการขยายฐานของตลาดคอมพิวเตอร์ และส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่มีโอกาสสร้างรายได้จากกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ให้สอด คล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยไม่เน้นการลดราคาสู้เพียงอย่างเดียว แต่ขยับไปทำตลาดใน ระดับราคาที่สูงขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มคนที่สูงขึ้น แทนที่จะลงมาสู้ราคา ทำให้มาร์จิ้นต่ำ ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับโพซิชั่นของแต่ละผู้ประกอบการ

- รุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียในตลาด เพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา โครงการไอซีทีอาจจะถูกมองในแง่กระทบต่อภาพรวม ทำให้ราคาคอมพิวเตอร์ในตลาดปรับลดลง ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้อาจประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดน่าจะมาจากรูปแบบการบริหารจัด การที่วิเคราะห์ตลาดผิด โดยเฉพาะที่เน้นการขายผ่านช่องทางจัดจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ขณะที่ เงื่อนไขการทำตลาดกับโมเดิร์นเทรดยังไม่เหมาะสม

โมเดิร์นเทรดกำหนดเงื่อนไขส่วนแบ่งมาร์จิ้นการจำหน่ายสินค้าในมาตรฐานเดียวกันกับสินค้าอื่นๆ ขณะที่มาร์จิ้นของเครื่องพีซีต่ำมากอยู่แล้ว ทำให้ผู้ค้าพีซีที่ขายผ่านโมเดิร์นเทรดแทบ ไม่เหลืออะไร นอกจากนี้ยังเป็นระบบเหมือนการขายฝาก ถ้าสินค้าขายไม่หมดก็ต้องรับคืน ขณะที่ผู้ค้าเองก็ไม่รู้ว่าสินค้าตัวเองขายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นผลเสียต่อสินค้าเทคโนโลยีที่ตกรุ่นเร็ว อีกส่วนคือเป็นปัญหาภาพรวมของเศรษฐกิจ ผลจากที่ได้มีการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือเงินผ่อน ซึ่งเป็นการใช้เงินในอนาคต ส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดไม่สมดุล ถึงเวลานี้ประชาชนมีภาระหนี้มาก ทำให้กำลังซื้อซบเซา

- บทบาทของเอทีซีเอ็มในการแก้ปัญหา
ตอนนี้เข้ามาดูใน 2-3 ประเด็นได้แก่  1.การผลักดันให้โลคอลแบรนด์มีศักยภาพในการทำตลาดโน้ตบุ๊กมากขึ้น เพราะตลาดโน้ตบุ๊กกำลังมีการเติบโต และในอนาคตจะเติบโตมากกว่าพีซี หากโลคอล แบรนด์ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ อนาคตก็จะมีปัญหา  2. ประเด็นมาตรฐาน มอก. 2161 ที่ สมอ.จะประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่จำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรม จะต้องกระตุ้นให้คนที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อม ในการรับกับมาตรฐานนี้ยังไง และ 3. ความช่วยเหลือในหมู่สมาชิกเพื่อให้อยู่รอด อาทิ ผู้ค้าที่มีขนาดเล็กก็สนับสนุนให้ไปโฟกัสตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) เพื่อเพิ่มโอกาสการ แข่งขัน ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพก็สร้างโอกาสให้สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น

- มีแนวคิดการแก้ปัญหาตลาดโน้ตบุ๊กอย่างไร
เท่าที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างสมาชิก 18 บริษัทกับผู้ค้าชิ้นส่วนในประเด็นเร่งด่วน คือ เร่งสร้างมาตรฐานด้านคุณภาพของโน้ตบุ๊กโลคอล แบรนด์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและสามารถแข่งขันได้ โดยให้เนคเทคเข้ามาช่วยในการพัฒนาควบคุมคุณภาพ อาจจะทำเป็นสติกเกอร์รับรองคุณภาพมาตรฐานโดยเนคเทค เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า แต่มาตรฐานการรับรองก็ต้องเข้มข้นพอ และต้องผลักดันให้ทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้เคารพและเห็นความสำคัญกับมาตรฐานนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่าง ในส่วนผู้ประกอบการก็มีแนวคิดที่จะรวมตัวเพื่อสั่งซื้อชิ้นส่วนและอุปกรณ์ร่วมกัน เพื่อให้มีอำนาจการต่อรองราคากับผู้ผลิตมากขึ้น ทำให้มีต้นทุนที่ดีขึ้น และสามารถทำราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น  ขณะนี้ตลาดโน้ตบุ๊กโลคอลแบรนด์ยังมีสัดส่วนในตลาดน้อยมาก มีรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่มีศักย ภาพ อาทิ เบลต้า, เอสวีโอเอ เป็นต้น เป้าหมายของเราต้องการสร้างโน้ตบุ๊กโลคอลแบรนด์ให้มีแชร์ในตลาดมากขึ้น โดยที่สุดแล้วก็มีแชร์ตลาด 1 ใน 3 ใกล้เคียงกับตลาดพีซีในปัจจุบัน

- โอกาสที่ผู้ประกอบการจะอยู่รอดได้
อย่างไรก็ตาม เอทีซีเอ็มจะพยายามผลักดันให้คอมพิวเตอร์โลคอลแบรนด์ได้รับความเชื่อมั่นจากตลาด และสามารถขยายตัวไปในวงกว้างมากขึ้น แต่ละคนก็ต้องพยายามหาส่วนผสมให้กับตน เอง ใครก็ตามที่ขายแต่ฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียว ในอนาคตก็อยู่ลำบาก หรือมีช่องทางจัดจำหน่ายเพียงช่องทางเดียว ไม่หาโซลูชั่นใหม่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจ ทิศทางธุรกิจในอนาคตก็อยู่ยาก เรียกว่าไม่ get niche ก็ต้อง get big ไม่งั้นก็ต้อง get out

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.