"ซัน" ปฏิเสธให้ลิขสิทธิ์ "ปลาดาว" เป็นสมบัติชาติ

ขอเป็น "ไม่เก็บเงินค่าลิขสิทธิ์" ยังง่ายกว่า
ซัน" ปฏิเสธมอบลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ "ปลาดาว ออฟฟิศ" เป็นสมบัติชาติไทย ขอเป็น "ไม่เก็บเงินค่าลิขสิทธิ์" ยังง่ายกว่า ขณะที่คณะอนุกรรมาธิการสื่อสาร สภาผู้แทนฯ ยังยืนยันจัดทำร่างแผนแม่บทไอซีที เสนอรัฐบาลพิจารณาคู่ไปกับร่างฉบับปรับปรุงของเนคเทค

 

นายสรรพัชญ โสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัน ไมโครซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เรื่องการมอบลิขสิทธิ์โปรแกรมชุดสำนักงาน "ปลาดาว ออฟฟิศ" ให้เป็นสมบัติของชาตินั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำ เพราะบริษัทยังไม่เคยให้ลิขสิทธิ์โปรแกรมนี้กับใคร และยังไม่เคยมีการทำเช่นนี้มาก่อน นอกจากนั้น แม้โปรแกรมนี้จะเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทซัน แต่ในทางปฏิบัติ เป็นซอฟต์แวร์ระบบเปิด ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของคนทั้งโลกไปแล้ว ดังนั้นหากเอากลับมายกให้กับประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วหากนักพัฒนาโปรแกรมของประเทศอื่น ต้องการพัฒนาเพิ่มเติมจะทำอย่างไร จะต้องมาขอกับรัฐบาลไทยก่อนหรือเปล่า ซึ่งก็เป็นเรื่องยุ่งยากมาก

 

ทั้งนี้ บริษัทซัน ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ "สตาร์ ออฟฟิศ" และ "ปลาดาว ออฟฟิศ" โดยมีนายสรรพัชญ ในฐานะผู้บริหารสาขาไทย ได้รับการติดต่อเพื่อเจรจากับนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ประธานอนุกรรมาธิการสื่อสารฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ขอลิขสิทธิ์โปรแกรมดังกล่าวเป็นสมบัติของประเทศไทย "หากให้เขียนเป็นสัญญาว่า จะไม่คิดเงินโปรแกรมนี้ไปเป็นระยะเวลา 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ยังเป็นเรื่องง่าย และเป็นไปได้มากกว่า" นายสรรพัชญกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะตัวแทนของบริษัท ก็จะไปปรึกษากับฝ่ายกฎหมายภายในก่อนว่า เป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร

 

สำหรับ น..อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการสื่อสารและสารสนเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการเชิญผู้บริหารบริษัท ซัน ไมโครซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมสำนักงานภาษาไทย "ปลาดาว ออฟฟิศ" เพื่อหารือขอลิขสิทธิ์โปรแกรมดังกล่าว ให้เป็นสมบัติของประเทศ เนื่องจากต้องการที่จะให้ไทยมีหลักประกันว่า โปรแกรมดังกล่าวจะไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในอนาคต และเปิดโอกาสให้คนไทยได้พัฒนาต่อยอดโปรแกรมดังกล่าวได้

 

ทำร่างไอซีทีต่อ

นอกจากนั้น น..อรรถสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า อนุกรรมาธิการได้เชิญศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดทำร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.. 2545-2549 เข้ามาชี้แจงการดำเนินงาน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15) ด้วย โดยในความเห็นของคณะอนุกรรมาธิการ เห็นว่า การจัดทำร่างแผนแม่บทไอซีทีของเนคเทคนั้น จะมีกรอบคิดในส่วนของผู้รับผิดชอบจัดทำร่าง หรือผู้เกี่ยวข้องกับไอซีทีทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ไม่ใช่คิดถึงระดับชาติทั้งหมด จึงเห็นว่า ไม่ควรนำมาใช้เป็นแผนแห่งชาติได้

ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ จึงได้จัดทำร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับปรับปรุงจากคณะทำงานร่างแผนเดิม โดยมีระยะเวลาทำงานระหว่าง 15..-5 มิ..2545 ซึ่งเมื่อจัดทำเสร็จแล้ว จะนำเสนอกรรมาธิการชุดใหญ่ หรือคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสนอประธานรัฐสภา พิจารณาเสนอต่อรัฐบาลเพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อไป โดยถือว่าเป็นทางเลือกที่ 2 นอกเหนือจากแผนของเนคเทคแล้ว อย่างไรก็ตาม ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ คณะกรรมการก็ยินดีเข้าร่วมประชุม เพื่อให้ความเห็นต่อการปรับปรุงร่างของคณะทำงานชุดดังกล่าววันที่ 23..นี้

 

เนคเทคชี้แจงชัด

ด้านนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ ศูนย์เนคเทค กล่าวภายหลังการเข้าชี้แจง เรื่องการจัดทำร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารของประเทศไทย พ..2545-2549 ต่อคณะอนุกรรมาธิการด้านการสื่อสารและสารสนเทศ สภาผู้แทนราษฎร ว่า ได้รับข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการไป เพื่อนำข้อเสนอที่แตกต่างไปเจียระไนให้แหลมคม และเหมาะสมกับสภาวะทางการเงินที่มีจำกัดของประเทศ โดยเน้นแผนที่สามารถนำไปใช้งานได้ ไม่ใช่แผนที่สมบูรณ์แบบ 100% โดยคณะทำงานจัดทำร่างแผนแม่บทไอซีทีฉบับนี้ ได้อธิบายถึงการจัดทำจุดอ่อน-จุดแข็ง (SWOT) ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาอย่างชัดเจน รวมถึงข้อจำกัดด้านการระดมสมองผู้เกี่ยวข้องมาร่วมจัดทำร่าง ที่คณะทำงานเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เสนอข้อคิดเห็นในระดับเจ้ากระทรวง หรือปลัดกระทรวง แต่ในทางปฏิบัติมักส่งตัวแทนระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่สามารถตัดสินใจได้เข้าประชุม อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่เสนอแนะขึ้นนี้คำนึงถึงข้อเท็จจริง ซึ่งต้องเพิ่มเทคนิค ประสบการณ์ความรู้ และความยอมรับทางการเมืองเข้าไปด้วย

 

ทั้งนี้ การประชุมเพื่อปรับปรุงร่างฉบับดังกล่าว ร่วมกับนายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มาดูแลเรื่องนี้ ในวันที่ 23 ..นี้ และจะเชิญคณะอนุกรรมาธิการ เข้าร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันด้วย โดยกำหนดปรับปรุงร่างใหม่ เพื่อส่งแก่นายกรัฐมนตรี ให้ทันการประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (เอ็นไอทีซี) ต้นเดือนหน้า

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.