ปัจจัยภายนอกความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

นอกจากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว สศช. ได้ประเมินปัจจัยเสี่ยง ต่อการขยายตัว ของเศรษฐกิจ 4 ปัจจัย

(1) ปัญหาภัยแล้ง ในระดับประเทศคาดว่าจะไม่เกิดขึ้น ยกเว้นในบางพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อาจมีฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม อาจส่งผลต่อการผลิตภาคเกษตรกรรม

(2) หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL ในไตรมาสแรก NPL ในสถาบันการเงินลดลงเล็กน้อย ลูกหนี้ NPL ใหม่เกิดขึ้นน้อยลง แต่ NPL ที่เคยปรับโครงสร้างหนี้แล้วเพิ่มมากขึ้นเป็นประเด็นที่ต้องระวังต่อไป

(3) เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับการส่งออกของไทย การส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 13.8 ในไตรมาสแรก ทั้งนี้คาดว่าภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่การฟื้นตัวอาจถูกจำกัดโดยการส่งออกที่ลดลง ในขณะที่การลงทุน และการบริโภคภายในประเทศ ยังคงอ่อนแอ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว

(4) สินค้าบางประเภทอาจถูกแข่งขันจากสินค้าจีน การแข่งขันยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน แต่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบถึงราคาสินค้าส่งออกของไทยที่ลดลง

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ได้มีการประเมินเพิ่มเติม

(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยังมีความเปราะบาง แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในไตรมาสแรกของปี โดยเป็นการขยายตัวดีในการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค อัตราการลดลงของสินค้าคงคลังที่เริ่มชะลอตัว และประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน ร้อยละ 6.0 ซึ่งสูงสุดตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ประกอบกับผลกำไรของภาคธุรกิจ และการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้มแข็งมาก

(2) ราคาส่งออกตกต่ำ และมีผลต่อการลดลงของรายได้ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ใน 4 เดือนแรก ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลการส่งออกลดลง 4.5% อันเนื่องจากราคาส่งออกที่ลดลง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้เงื่อนไขเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นจะแสดงว่าปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มสูงกว่าที่คาดไว้เดิม โดยจะเพิ่มสูงในช่วงปลายปี เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น แต่ความเสี่ยงในด้านราคาตกต่ำยังมีอยู่มาก ซึ่งหากราคาส่งออกยังลดลงตามแนวโน้มราคาในปัจจุบัน จะมีผลกระทบต่อเม็ดเงิน และต่อรายได้ของผู้ส่งออก และผลต่อเนื่องของการส่งออกต่อการบริโภค และการลงทุนได้

(3) ราคาน้ำมันยังคงเป็นเงื่อนไขที่มีความไม่แน่นอน และมีแนวโน้มผันผวนสูง แต่ทั้งนี้ ยังอยู่ในช่วงของการประมาณการที่คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบใน ช่วง 3 ไตรมาสหลังของปี จะเพิ่มสูงกว่าระดับราคาน้ำมันเฉลี่ยในไตรมาสแรก และโดยเฉลี่ยทั้งปีจะเท่ากับ 23 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล เงื่อนไขที่อาจทำให้เกิดความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่

 

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีในไตรมาสแรกของปี แต่ยังมีความจำเป็นต้องดูแลให้ฐานการขยายตัวมั่นคงยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจดังนี้

1. เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้อยคุณภาพในระบบเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า ทั้งส่วนที่อยู่ในสถาบันการเงิน และ บสท. โดยให้ความสำคัญทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ รวมถึงการสร้างความเข้าใจ และความมั่นใจของสาธารณชนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการบริหารทรัพย์สินให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

2. ติดตามคุณภาพของสินเชื่อเพื่อการบริโภค ซึ่งเริ่มขยายตัวสูง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อสถาบันการเงิน และผู้บริโภคในระยะยาว

3. แก้ไขปัญหาราคาสินค้าส่งออกตกต่ำ ซึ่งมีผลต่อการลดลงของรายได้เงินตราต่างประเทศ โดยศึกษาวิเคราะห์สาเหตุการลดลงของราคาเป็นรายสินค้า และในแต่ละภาคให้ชัดเจน ซึ่งจำเป็นต้องแยกให้เห็นระหว่างปัญหาราคาสินค้าในตลาดโลกลดต่ำ และปัญหาคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทย และเร่งรัดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพ และได้ราคาสูง

4. เตรียมการสนับสนุนการดำเนินการขององค์การปกครองท้องถิ่น ให้สามารถใช้งบประมาณได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตั้งแต่เริ่มไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2546 เพื่อเพิ่มอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณ และแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากรายจ่ายภาครัฐ ในช่วงหลังของปี เนื่องจากรายจ่ายงบประมาณของหน่วยราชการส่วนกลางได้เร่งเบิกจ่ายในช่วงต้นปีงบประมาณแล้ว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.