"ซิปป้า" ลุยจับ 10 โปรเจ็กต์ยักษ์เซ็น MOU ทำโคโปรดักชั่นสร้างผลงานบุกตปท.

"ซิปป้า" ดันไทยขึ้นเป็น "ฮับ" อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นของเอเชีย เตรียมเซ็น "เอ็มโอยู" ร่วมทำโคโปรดักชั่น 10 โปรเจ็กต์ยักษ์กับเอกชนไทย 7 ราย พร้อมแผนนำผลงานไปโรดโชว์ญี่ปุ่น, เกาหลี, ฮ่องกง และสหรัฐ หวังโปรโมตให้ตลาดโลกรู้จักและเห็นฝีมือผู้ประกอบการไทย เผยล่าสุดเจ้าของลิขสิทธิ์ "ป็อปอายส์"สนใจร่วมมือนักพัฒนาไทย

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิปป้า เปิดเผยว่าซิปป้าเตรียมที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) กับบริษัทด้านแอนิเมชั่นจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการสร้างงานแอนิเมชั่นร่วมกัน (โคโปรดักชั่น) จำนวนทั้งสิ้น 10 โครงการ ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ โดยคาดว่าจะใช้เม็ดเงินในการลงทุนเฉลี่ยโครงการละ 100 ล้านบาท และใช้ระยะเวลาในการผลิตราว 1 ปี-1 ปีครึ่ง ทั้งนี้สำหรับซิปป้าจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ภาคเอกชนในสัดส่วนราว 10%-25% หรือไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อโครงการ สำหรับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมลงนามในครั้งนี้มีทั้งสิ้น 7 บริษัทได้แก่ บริษัท อิมเมจิแมกซ์ แอนิเมชั่นแอนด์ดีไซน์ สตูดิโอ, บริษัท กันตนา, บริษัท เชียงใหม่ ดิจิตอลเวิร์คส์ จำกัด, บริษัท ธอมัส ไอเดีย จำกัด, บริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แรคทีฟ จำกัด ส่วน 2 บริษัทที่เหลือเป็นกลุ่มนักสร้างแอนิเมชั่นขนาดเล็กที่เข้ามารวมตัวกัน ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้

"งานแอนิเมชั่นที่จะถูกผลิตขึ้นภายใต้โครง การโคโปรดักชั่นในครั้งนี้จะมีทั้งลักษณะภาพ ยนตร์แอนิเมชั่น เช่น ภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วยของบริษัท กันตนา และเกมอินเตอร์แอ็กทีฟ ประเภทเกมท่องเที่ยวประเทศไทย ของบริษัทไซเบอร์แพลนเน็ต ที่จะเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยควบคู่ไปกับการเล่นเกม หรือโครงการสารคดีเมืองโบราณของบริษัท เชียงใหม่ ดิจิตอล เวิร์คส์ที่จะมีการโต้ตอบเสมือนจริง ในลักษณะเวอร์ช่วลเรียลิตี้"

เป้าหมายของการร่วมทำโคโปรดักชั่นกับภาค เอกชนในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการที่จะทำให้อุตสาห กรรมแอนิเมชั่นในประเทศเป็นที่รู้จักแก่ตลาดโลกมากขึ้นโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีทีและซิปป้า มีแผนที่จะจัดโรดโชว์เพื่อนำผลงานการโคโปรดักชั่นไปยังประเทศต่างๆ ภายในปีนี้ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น, เกาหลี และฮ่องกง รวมทั้งสหรัฐเมริกา โดยจะเน้นการนำตัวอย่างงานไปแสดง เช่น ตัวอย่างภาพยนตร์ความยาว 15 นาที ทั้งนี้เชื่อว่าการโปรโมตผลงานออกไปสู่ต่างประเทศจะเป็นช่องทางให้ผู้แทนจำหน่ายภาพยนตร์และผู้ผลิตเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ้างผลิตหรือการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทในประเทศ

นอกจากโครงการเหล่านี้จะเป็นการสร้างผลงานเพื่อให้ต่างชาติรู้จักผู้ประกอบการไทยแล้วยังเป็นโครงการที่จะช่วยเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านแอนิเมชั่นได้เร็วมากยิ่งขึ้น โดยซิปป้าได้มีข้อตกลงร่วมกับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการว่าจะต้องมีการเทรนบุคลากรในด้านแอนิเมชั่นด้วย โดยเป็นในรูปแบบของการจ้างบุคลากรเข้ามาทำงานภายในโครง การดังกล่าว โดยจะเน้นที่การเทรนนิ่งบุคคลที่มีทักษะพื้นฐานในด้านดังกล่าวอยู่แล้วให้มีความชำนาญในแต่ละสาขาของการทำแอนิเมชั่น เช่น นักวาดภาพแอนิเมชั่น 2 มิติและ 3 มิติ เป็นต้น ทั้งนี้ซิปป้าตั้งเป้าว่าภายใน 12 เดือนจะสามารถสร้างบุคลากรด้านแอนิเมชั่นเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 คน จากเดิมที่มีบุคลากรในด้านดังกล่าวอยู่เพียง 500 คน

"นอกจากนี้ ซิปป้ายังมีแผนที่จะจัดฝึกอบรมบุคลากรด้านแอนิเมชั่นใน 3 จังหวัดไอซีทีของประเทศ ได้แก่ เชียง ใหม่, ขอนแก่น และภูเก็ต โดยจะร่วมกับสถาบันการศึกษาภายในจังหวัดและภาคเอกชนในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมรูปแบบต่างๆ เช่น การออกแบบสร้างงานแอนิเมชั่น 2 มิติและ 3 มิติ โดยจะใช้ระยะเวลาในการอบรมราว 3-6 เดือน ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองรวมทั้งจะได้รับสิทธิในการเข้าทำงานในโครงการโคโปรดัก ชั่นที่ซิปป้าได้ร่วมมือกับภาคเอกชน"

นายมนูกล่าวต่อว่า ซิปป้ายังมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหรือฮับในการผลิตงานด้านแอนิเมชั่นภายในภูมิภาคเอเชีย เป็นศูนย์รวมการสร้างงานด้านแอนิเมชั่น ไม่ว่าจะเป็นการเอาต์ซอร์ซงานจากต่างชาติ หรือการร่วมงานแบบโคโปรดักชั่น ล่าสุดซิปป้าอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูน "ป็อปอายส์" ใน ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมี ความต้องการที่จะ พัฒนาการ์ตูนป็อปอายส์จาก 2 มิติให้เป็น 3 มิติ โดยมีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมมือกับบริษัทในประเทศไทยในลักษณะ โคโปรดักชั่น

สาเหตุที่ทำ ให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศเนื่องจากต้นทุนในการผลิตของประเทศไทยจะต่ำกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก เช่น การแปลงการ์ตูน 2 มิติความยาว 15 นาทีให้อยู่ในรูปแบบ 3 มิติจะใช้งบฯในการลงทุนเพียง 3 ล้านบาท ในขณะที่หากร่วมกับบริษัทในสหรัฐ อเมริกาจะต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่าถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการหารือในเบื้องต้นเท่านั้น

ด้านนายศักดิ์ศิริ คชพัชรินทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมเมจิแมกซ์ แอนิเมชั่น แอนด์ ดีไซน์ สตูดิโอกล่าวว่า โครงการโคโปรดักชั่นที่บริษัทร่วมกับซิปป้านั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ผลงานได้แก่ ภาพยนตร์การ์ตูนความยาว 2 ชั่วโมง ชื่อเรื่อง "จังเกิ้ล เทล" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่าและภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงจริง เรื่อง "My Hero" ซึ่งขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการติดต่อกับผู้สร้างภาพยนตร์และผู้กำกับฯในฮอลลีวูด เพื่อที่จะดึงเข้ามาร่วมในการผลิตงานเนื่อง จากมองว่าหากมีพาร์ต เนอร์เป็นผู้ผลิตหรือผู้กำกับฯของฮอลลีวูดที่เป็นที่รู้จักในตลาดอยู่แล้ว โอกาสที่จะนำผลงานของคนไทยออกไปโปรโมตให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากตลาดโลกก็จะมีมากขึ้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.