วิกฤติเป็นโอกาสดันสมาร์ทการ์ดเฟื่อง

หลังเกิดเหตุก่อการร้ายเมื่อเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญและใหญ่หลวงสำหรับกองทัพสหรัฐ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือต่อเหตุการณ์ซุ่มโจมตีเช่นนี้ กลายเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ในการหาทางปิดช่องโหว่ของตัวเองให้เหลือน้อยที่สุด หนึ่งในมาตรการคุมเข้มที่กองทัพสหรัฐเร่งดำเนินการขณะนี้ คือการสั่ง "สมาร์ท การ์ด" หรือ "บัตรอัจฉริยะ" เข้ามาใช้งานในกองทัพ ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยโดยตรง ด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้แล้ว อาจถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ขึ้นอีกด้วย หลังความหวั่นวิตกต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ครอบงำไปทั่วโลก โดยกองทัพสหรัฐ สั่งซื้อบัตรประจำตัวแบบฝังชิพ หรือไอดี การ์ด (ID card) สำหรับเจ้าหน้าที่ของกองทัพ 4.3 ล้านคน เพื่อใช้งานในอีก 18 เดือนข้างหน้า ด้วยเหตุผลในการเพิ่มความปลอดภัยเมื่อเข้าสู่ตัวอาคารต่างๆ รวมถึงเพนตากอน และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่มีการเชื่อมต่อเข้าสู่อี-เมล์แบบเข้ารหัส และการทำธุรกรรมออนไลน์

ทุบสถิติยอดสั่งซื้อสูงสุด

มาตรการดังกล่าวของสหรัฐ อาจสร้างความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ให้กับวงการแห่งนี้ ที่เคยมียอดขายไอดี การ์ดเพียง 600 ล้านใบในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัตรธนาคารและบัตรโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าตัวเลขการใช้ไอดีการ์ดของกองทัพสหรัฐ อาจมีกว่า 23 ล้านรายจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งนับรวมสมาชิกในครอบครัว นายทหารนอกราชการ และคู่สัญญาต่างๆ

บัตรพลาสติกเหล่านั้น อาจดูเหมือนบัตรเครดิตทั่วไป แต่ความแตกต่าง อยู่ตรงที่มีแถบแม่เหล็ก และรหัสแท่ง หรือบาร์โค้ด (barcode) ฝังอยู่ภายในชิพดิจิทัล ที่สามารถป้องกันการแฮคได้อย่างแน่นหนา หรือไม่เช่นนั้น หากแฮคเกอร์สามารถเข้าถึงได้ หลังใช้เวลานานนับหลายชั่วโมง พวกเขาจะได้ข้อมูลไปเฉพาะจากบัตรใบเดียวเท่านั้น แทนที่จะเป็นทั้งเครือข่าย

ด้านแอคทีฟการ์ด บริษัทด้านเทคโนโลยีสมาร์ทการ์ดในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้จัดหาซอฟต์แวร์ดังกล่าว มองว่า ยอดขายของบริษัทอาจปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หากตลาดแห่งนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า เกิดกระแสความสนใจใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้จากหน่วยงานราชการทั่วโลก นับแต่เกิดเหตุการณ์โจมตีเพนตากอนและตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ยิ่งกว่านั้น ข้อตกลงสั่งซื้อสมาร์ทการ์ดของสหรัฐ อาจนำมาซึ่งแหล่งความต้องการใหม่สำหรับผู้ผลิตบัตร อย่างเจมพลัส, โอเบอร์เธอร์ และชลอมเบอร์เกอร์ หลังมียอดขายตกต่ำมาตลอดทั้งปีจากภาวะซบเซาของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการที่ไม่ค่อยฮิตติดตลาดของบัตรธนาคารแบบฝังชิพในสหรัฐ

"การสั่งซื้อดังกล่าว นับเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่เพียงแต่เฉพาะบริษัทเท่านั้น แต่หมายถึงทั้งวงการสมาร์ทการ์ด เพราะถือเป็นการสั่งซื้อครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา" นายทอม อาร์เธอร์ รองประธานอาวุโสของแอคทีฟการ์ดกล่าว "ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังเกิดเหตุก่อการร้ายในสหรัฐ จากที่ก่อนหน้านี้ บริษัทรับงานจากหน่วยงานต่างๆ ราว 12 แห่งเท่านั้น แต่ขณะนี้ บริษัทมีงานในโครงการของรัฐ 12 แห่งจากยุโรป, เอเชีย และตะวันออกกลาง รวมทั้งอีกกว่า 12 โครงการจากหน่วยงานและกรมต่างๆ ของสหรัฐ ตลอดจนหลายโครงการของกองทัพหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย" นายอาร์เธอร์กล่าว

คาดเวอร์ชั่นใหม่ไฮเทคกว่า

สำหรับสมาร์ทการ์ด มีอายุการใช้งาน 3 ปี แต่สามารถนำมาอัพเดทได้ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มเติมคุณสมบัติใหม่ๆ โดยเวอร์ชั่นในอนาคต อาจมีการนำเทคนิคทางชีวภาพมาใช้ อย่างลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ มีการทดสอบใช้งานโดยองค์กรการบินของสหรัฐ เพื่อใช้แทนระบบหมายเลขประจำตัวเดิม หรือพิน (PIN) รวมถึงเทคนิคการสแกนม่านตา ที่บรรดาผู้ผลิตบัตรเตรียมนำมาใช้ด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ธุรกิจไอดีการ์ดร่วงติดต่อกันมาหลายปีในตลาดใหญ่ๆ อย่างบัตรโทรศัพท์เคลื่อนที่และบัตรธนาคาร แต่ขณะนี้ นักวิเคราะห์มองว่า แนวโน้มของธุรกิจดังกล่าวกำลังสดใสขึ้น หลังความสนใจต่อระบบรักษาความปลอดภัยแบบดิจิทัลมีมากขึ้น

"ปัจจุบันความใส่ใจเกี่ยวกับความปลอดภัยอยู่ในระดับดีขึ้น และอาจส่งผลแง่บวกต่อวงการสมาร์ทการ์ด เนื่องจากเป็นระบบพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย" นายอัคคลา รัวโวลา นักวิเคราะห์จากบีเอ็นพี พาริบาส กล่าว "อย่างไรก็ตาม ตลาดแห่งนี้ยังคงต้องพบกับอุปสรรคอีกมากมาย ที่รอให้จัดการอยู่เบื้องหน้า ก่อนจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านเครื่องอ่านบัตร และซอฟต์แวร์การอ่าน ซึ่งจำเป็นต้องมีแผนทางธุรกิจรองรับ" นายรัวโวลา กล่าวเพิ่มเติม

เล็งตลาดโตสองเท่าตัวในอีก 3 ปี

ทั้งนี้ แอคทีฟการ์ด ซึ่งร่วมทำงานกับบรรดาผู้ผลิตบัตร ระบุว่า บริษัทสามารถคิดค่าใช้จ่ายได้สูงถึง 50 ดอลลาร์ต่อเครื่องสำหรับการบรรจุซอฟต์แวร์การอ่านสมาร์ทการ์ดลงในคอมพิวเตอร์ ส่วนมูลค่าการลงทุนของกองทัพสหรัฐครั้งนี้ ซึ่งเป็นแผนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จะต้องขึ้นอยู่กับราคาของชิพการ์ด ที่คาดว่าจะลดลงในปีหน้า กระนั้นกระทรวงกลาโหม กำหนดค่าใช้จ่ายไว้คร่าวๆ อยู่ที่ 35 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดจากราคา 8-9 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบัตร ขณะเดียวกัน ผู้เล่นรายอื่นในวงการ กำลังลุ้นว่า รัฐบาล, กองทัพ, สนามบิน, บริษัทขนาดใหญ่ และนายจ้างที่สำนึกต่อความปลอดภัยต่างๆ จะหันมาให้ความใส่ใจต่อพนักงานของตัวเองในการใช้ไอดีการ์ดเพิ่มขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์จี้เครื่องบินเมื่อเดือนกันยายน

ทั้งนี้ ฟรอสต์ แอนด์ ซุลลิแวน กลุ่มบริษัทด้านที่ปรึกษาและวิจัยในสหรัฐ เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ.2543 ทั่วโลกมีการใช้สมาร์ทการ์ดราว 1.8 ล้านใบ ซึ่งครึ่งหนึ่งอยู่ในยุโรป และอีก 25% อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยคาดว่า ตัวเลขดังกล่าวจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในปี พ.ศ.2547

 

ที่มา : ซีเอ็นเอ็น.คอม

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.