ยักษ์ข้ามชาติวิ่งโร่ร้อง "หมอเลี้ยบ" มอก.ใหม่เข้าข่ายกีดกันการค้า

ค่ายยักษ์อินเตอร์แบรนด์จับมือร่อนหนังสือถึง สมอ.เปิดประเด็นมาตรฐานใหม่ มอก.2161 เข้าข่ายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ พร้อมอ้างสินค้าอินเตอร์ แบรนด์ผ่านมาตรฐานสากลแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องยื่นขอ มอก.ให้สิ้นเปลือง "สรรพัชญ โสภณ" นายกสมาคมเอทีซีไอ วิ่งหารือ "หมอเลี้ยบ" ไอซีทีรับลูก เข้าประสานเพื่อพิจารณารอบคอบ หวั่นขัดนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการเข้าถึงไอซีที

จากกรณีที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมออกมาตรฐานจำกัดสัญญาณรบกวนวิทยุ มอก.2161 เป็นมาตรฐานบังคับ มีผลให้คอมพิวเตอร์พีซี โน้ตบุ๊ก และชิ้นส่วนที่จำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมดจะต้องผ่านการทดสอบได้ใบรับรอง มอก.2161 จึงจะสามารถจำหน่ายในประเทศไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์อินเตอร์แบรนด์, โลคอลแบรนด์ หรือ ดีไอวาย ทำให้กระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอย่างมาก

นายสรรพัชญ โสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด และในฐานะนายกสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีดังกล่าวว่า โดยหลักการไม่เห็นด้วยแน่นอน และหลังจากที่ได้มีการหารือกับสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการอินเตอร์ แบรนด์หลายราย ทางสมาคมเอทีซีไอก็ได้ทำหนังสือ ร้องเรียนและคัดค้านการบังคับใช้มาตรฐาน มอก. 2161 ไปยัง สมอ.แล้วเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา "ไม่รู้ว่า สมอ.มีเหตุผลอย่างไร เพราะการจะนำ มอก.2161 มาใช้ จะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบมากกว่า ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมทุกค่ายเดือดร้อนหมด และประชาชนก็จะต้องซื้อสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนในการทดสอบอีกประมาณ 20,000-30,000 บาทต่อรุ่น ขณะที่ยังมีคำถามว่า สมอ.มีความพร้อมในเรื่องคนและเครื่องมือที่จะทำเรื่องนี้หรือไม่ เพราะมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจำนวนมาก ถ้าต้องใช้เวลา 3-6 เดือน ในการขอ มอก.2161 กว่าจะทำตลาดได้ สินค้าก็ล้าสมัยแล้ว"

นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มอินเตอร์แบรนด์ก็เป็นสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ซึ่งก็ถือว่าเป็นมาตรฐานสากลที่สูงกว่าประเทศไทย ซึ่งก็ควรที่จะให้ใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงได้โดยไม่ขอ มอก.2161 แต่ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลของ สมอ.ว่ามีเป้าหมายอะไร เพราะการทำเช่นนี้ก็อาจจะมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้าหรือเปล่า "ผมได้มีโอกาสนำเรื่องนี้หารือกับนายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีแล้ว และจะทำสำเนาหนังสือที่ส่งถึง สมอ.ให้รัฐมนตรีด้วย ซึ่งท่านก็เข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และเห็น ด้วยที่จะต้องมีการทบทวนและศึกษาเรื่องนี้ให้รอบคอบ ก่อนที่จะนำมาบังคับใช้ และจะเข้ามาประสานในเรื่องนี้ พร้อมยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำ มอก.2161 มาใช้ เพราะไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าเทคโนโลยี การที่จะมาสร้างกฎเกณฑ์กีดกันสินค้าที่จะเข้ามาช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน อาจจะขัดกับนโยายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น" โดยเอทีซีไอได้ทำหนังสือถึง สมอ. โดยระบุว่า การบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว จะมีผลกระทบทั้งทางด้านดีและเสียแก่ผู้บริโภค และเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับกระบวนการบริหารและการจัดการของ สมอ. ทางสมาคมเห็นว่าควรจะต้องให้ผู้ประกอบการรับรองตนเอง (self certification) โดย สมอ.เป็นผู้กำหนดมาตรการและความพร้อมที่จะเป็นผู้กำกับดูแล แทนการเป็นผู้ออกใบรับรอง


ด้วยเหตุผลที่ว่า สมอ.ไม่สามารถควบคุมและติดตามถึงความเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์ทางด้านคอมพิวเตอร์ได้ เพราะจะมีทั้งรุ่น รูปแบบ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขั้นตอนและระยะเวลาการตรวจสอบผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์จะมากเกินกว่าที่เครื่องมือและบุคลากรของ สมอ.จะสามารถปฏิบัติการได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในการนำสินค้าออกสู่ตลาด ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้สินค้าในราคาที่สูงขึ้น และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ภายในกำหนดเวลาที่สมควร นอกจากนี้ การประกาศบังคับใช้มาตรฐาน มอก.2161 ต้องมีสถาบันการตรวจสอบมาตรฐานเพียงพอกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าและเวลา เพราะมีผู้ประกอบการในตลาดมากกว่า 4,000 รายการที่ สมอ.จะมาออกใบรับรองเอง คงไม่สามารถรองรับได้

สำหรับในกรณีของคอมพิวเตอร์อินเตอร์แบรนด์ เอทีซีไอมีความเห็นว่าการควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ของอินเตอร์แบรนด์ดีอยู่แล้ว การตรวจสอบกลุ่มอินเตอร์แบรนด์จะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองทั้งผู้ตรวจสอบและผู้ถูกตรวจสอบโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังอาจเป็นการเปิดประเด็นในการกีดกันการค้าระหว่างประเทศได้

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องการจัดทำมาตรฐานสินค้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ สมอ.ก็ต้องมองรายละเอียดในภาพรวมของผลกระทบว่ามาตรฐานที่ออกมาจะกระทบกับผู้ประกอบการอย่างรุนแรง เพราะแทนที่จะเกื้อกูลอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย กลับจะทำให้อุตสาหกรรมสะดุดหรือชะงักงันได้ โดยเฉพาะในแง่ของผู้ประกอบพีซีรายย่อยตามศูนย์ไอทีต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 80-90% ของ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งประเทศ จะเสียเปรียบรายใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการทดสอบเพื่อขอรับรอง มอก. 2161 ซึ่ง สมอ.คิดค่าบริการประมาณ 27,000 บาทต่อรุ่น แต่กลุ่มรายย่อยหรือดีไอวายนั้น มีกำไรต่อเครื่องประมาณ 300-500 บาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมียอดขายประมาณเดือนละ 30-50 เครื่อง เมื่อคำนวณดูแล้ว กำไรยังไม่พอจ่ายค่าทดสอบเครื่อง จึงต้องการให้ สมอ.พิจารณาในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับธุรกิจของรายย่อยด้วย รวมทั้งในเรื่องของระยะเวลาการบังคับใช้ ควรที่จะมีระยะเวลาการเตรียมตัวมากกว่า 1 ปี เพื่อให้แต่ละฝ่ายเตรียมตัว ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการและในแง่ของ สมอ.ด้วย นายเอกรัศมิ์กล่าวว่า ในแง่ของ สมอ.ก็ต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับการทดสอบคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนทั้งหมด สมอ.ต้องกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบที่ชัดเจนและ รวดเร็ว เพื่อที่ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการทำตลาดได้

ขณะที่นายพุฒิพันธุ์ เตยะราชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดียวกัน เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก และต้องการให้ สมอ.ยืดเวลาออกมาตรฐานออกไป จนกว่าจะมีความพร้อมในการดำเนินงาน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะดีไอวายสามารถปรับตัว เพื่อรองรับมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งควรเปิดประชาพิจารณ์ในการระดมข้อคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เพื่อหาทางออกร่วมกันให้เหมาะสม "เท่าที่คุยกันระหว่างซินเนค อินเทล และผู้ค้ารายย่อยทุกคนไม่เห็นด้วย หาก สมอ.จะออกมาตร ฐาน มอก.2161 ในกรณีที่ยังไม่มีความพร้อมด้วยกัน เพราะจะเกิดผลเสียต่อทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะภาพรวมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งประเทศ แต่ตอนนี้ได้มอบหมายให้ตัวแทนส่งหนังสือคัดค้านไปยัง สมอ.แล้ว" นายพุฒิพันธุ์กล่าว

ด้านนายประทีป เอื้อศักดิ์เจริญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทร โปรเฟสชันแนล โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตพีซีโลคอลแบรนด์ "เอ็มพีพี" และนายกสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีเอ็ม) กล่าวว่า เท่าที่ทราบมีการยื่นหนังสือคัดค้านจาก 3 หน่วยงานคือ เอทีซีไอ, ซินเนค และไอบีเอ็ม ซึ่งในส่วนของเอทีซีเอ็มไม่ได้ยื่นหนังสือเข้าไป เพราะตามกระบวนการของ สมอ.เมื่อมีผู้ยื่นหนังสือคัด ค้านไม่ว่ากี่ราย สมอ.ก็จะยับยั้งขบวนการประกาศบังคับใช้ และจะนำไปสู่การพิจารณาเพื่อเปิดเวทีประชาพิจารณ์ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญ เพราะจะเป็น การรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อที่จะได้มีการปรับแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพของอุตสาหกรรม

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.