รายงาน : อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฟุบลืมฟื้นจวบจนถึงปี 2550

นักวิเคราะห์ ฟันธงตลาดซอฟต์แวร์ซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2550 ขณะที่หลายบริษัทขยับย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ด้วยเหตุแรงงานราคาถูก ส่วนผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชั้นนำยันไม่หวั่นปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์

 

สำนักข่าวซีเน็ต รายงานผลสำรวจตลาดซอฟต์แวร์ทั่วโลกประจำปีของบริษัทโอวุ่ม ธุรกิจวิจัยในกรุงลอนดอน ซึ่งระบุว่า ในปีที่ผ่านมา ตลาดซอฟต์แวร์ทั่วโลก ขยายตัวลดลง 5% หรือคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นราว 152,000 ล้านดอลลาร์ และจะถดถอยลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2548 โดยนักวิจัย ให้ความเห็นว่า ในปี 2546 นี้ น่าจะมีการขยายตัวเพียงเล็กน้อย ขณะที่โอวุ่ม โต้แย้งว่า เป็นการเข้าใจผิดอันเนื่องมาจากการผันแปรของค่าเงิน "การแกว่งตัวของค่าเงินทำให้มูลค่าการใช้จ่ายในปี 2546 ดูสูงเกินความเป็นจริง เนื่องจาก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2545 เป็นต้นมา เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงกว่า 15% เมื่อเทียบกับเงินยูโร ดังนั้น ความซบเซาในปีนี้ จึงน่าจะมากกว่า 1 หรือ 2%" นายจูเลียน ฮิวเวตต์ หัวหน้านักวิเคราะห์บริษัทโอวุ่ม กล่าวในแถลงการณ์ พร้อมเสริมว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ตลาดซอฟต์แวร์จะเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งจนกระทั่งปี 2550

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดดังกล่าวจะไม่ขยายตัว แต่โอวุ่ม คาดประมาณว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง จากการสับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดส่งซอฟต์แวร์ให้บริษัทต่างๆ โดยนายฮิวเวตต์ เชื่อว่า บริการเวบ (Web service) เป็น "เทคโนโลยีทำลาย" (disruptive technology) ที่อาจเป็นสาเหตุให้หลายบริษัทหันไปใช้สถาปัตยกรรมที่พัฒนาขึ้นจากบริการต่างๆ แทนการซื้อผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์อิสระ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของผู้ให้บริการระบบงานและเอาท์ซอร์สซิ่งดีขึ้น ขณะที่ซอฟต์แวร์จัดการเนื้อหา เวบท่า ระบบธุรกิจอัจฉริยะ และระบบรักษาความปลอดภัย มีแนวโน้มตกต่ำลง แต่บริษัทพัฒนาอุปกรณ์ไร้สายและระบบงานสนับสนุนผู้ที่ต้องทำงานอยู่ออฟฟิศ กลับได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ด้านการรวมกิจการ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในอุตสาหกรรมแห่งนี้ที่บริษัทจำนวนมากกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดที่กำลังหดตัวให้กับตัวเองนั้น โอวุ่ม มองว่า แนวโน้มดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์แวร์ "การเข้าซื้อกิจการเลกาโต้ของบริษัทอีเอ็มซีเป็นตัวอย่างแรกของการผนวกกิจการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในปีนี้" นายฮิวเวตต์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ 5 อันดับที่มีรายได้สูงสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ไมโครซอฟท์ (25,900 ล้านดอลลาร์) ไอบีเอ็ม (13,100 ล้านดอลลาร์) ออราเคิล (6,900 ล้านดอลลาร์) เอสเอพี (6,800 ล้านดอลลาร์) และฮิวเลตต์-แพคการ์ด (2,600 ล้านดอลลาร์)

 

ย้ายฐานการผลิตออกต่างประเทศ

รายงานบริษัทแซนด์ ฮิลล์ กรุ๊ป ระบุว่า ปัจจุบัน กว่า 8 ใน 10 ของบริษัทซอฟต์แวร์ เตรียมการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ หรือมีแผนจะทำในปีหน้า ขณะที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชั้นนำหลายแห่งไม่กลัวปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ นายแมดฮาแวน แรนกาสวามิ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแซนด์ ฮิลล์ กรุ๊ป กล่าวว่า นับเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้ส่งออกเทคโนโลยีสารสนเทศและงานด้านธุรกิจไปยังต่างประเทศ ขณะที่หลายบริษัทดำเนินการจัดตั้งโรงงานของตัวเองในต่างประเทศ แต่พวกเขายังทำสัญญากับผู้ให้บริการด้านไอที และจากความกดดันที่บริษัทบริการไอทีอินเดียหลายแห่งเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ยักษ์ไอทีในสหรัฐ อาทิ บริษัทอิเล็กทรอนิก ดาต้า ซิสเต็มส์ และบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด ขยายฝ่ายปฏิบัติการไปยังต่างประเทศ

 

พร้อมกันนี้ รายงานบริษัทแซนด์ ฮิลล์ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทซอฟต์แวร์ 51 แห่ง ยังสรุปว่า ปัญหาเรื่องการสื่อสารแบบเผชิญหน้า ถือเป็นอันตรายต่อบริหารจัดการในต่างประเทศ โดยผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ ยืนยันว่า พวกเขาจะรักษาตำแหน่งด้านเทคนิคระดับอาวุโสไว้ในสหรัฐ แต่จะว่าจ้างพนักงานระดับกลางและต่ำในต่างประเทศเท่านั้น ส่วนข้อสรุป ซึ่งระบุว่า ผู้นำตลาดซอฟต์แวร์ ไม่เป็นกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่แพร่ระบาดอย่างหนักในต่างประเทศนั้น นายแรนกาสวามิ ให้ความเห็นว่า เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทเหล่านี้ ย้ายงานสำคัญ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์หลัก และงานสนับสนุนการนำซอฟต์แวร์ไปใช้ ออกไปยังต่างประเทศ ผลการศึกษาดังกล่าว ยังพบอีกว่า 63% ของบริษัทในปัจจุบันมีแนวความคิดย้ายฐานการผลิตออกนอกสหรัฐ ขณะที่อีก 21% อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งโรงงานในต่างประเทศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.