ซอฟต์แวร์ญี่ปุ่น ผนึกค่ายชิน, มิตซุย รุกบริการวิดีโอผ่านมือถือ

ได้แรงหนุนจากเครื่องลูกข่ายใหม่พร้อมกล้องดิจิทัลลงตลาดมากขึ้น
ออฟฟิศ โนอา จากญี่ปุ่นส่งซอฟต์แวร์ "แนนซี่ โคเด็ก" เปิดตลาดบริการรับ-ส่งวิดีโอผ่านโทรมือถือ (วิดีโอ เมล เซอร์วิส) ในไทย ควงชินนี่, มิตซุย, เอไอเอส เร่งปั๊มยอดลูกค้า 800,000 รายในปีแรก มั่นใจทำได้ตามเป้า เพราะพฤติกรรมวัยรุ่นไทย, ญี่ปุ่นใกล้เคียงกัน

 

นางสาวโนริโกะ คาจิกิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานบริหาร บริษัท ออฟฟิศ โนอา ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ขยายตลาดให้บริการรับ-ส่งวิดีโอบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (วิดีโอ เมล์ เซอร์วิส) ผ่านการสนับสนุนการทำงานจากซอฟต์แวร์ "แนนซี่ โคเด็ก (Nancy Codec)" ที่บริษัทใช้เวลาพัฒนากว่า 9 ปี เข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทยแล้ว โดยได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัท ชินนี่ดอทคอม, มิตซุย, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และเตรียมเปิดให้บริการราวกลางเดือนหน้า ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่จะเปิดตัวร่วมกับไชน่าโมบาย ในประเทศจีน จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าของ "เจ-โฟน" ในประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 900,000 คน ใช้บริการนี้อยู่แล้วในชื่อ "ชา-เมล"

 

"แนวคิดของบริการรูปแบบนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องโทรสาร ที่สามารถส่งภาพและข้อความได้ จึงคิดว่าน่าจะนำคุณสมบัตินี้ลงมาที่มือถือ เพื่อเกาะติดไปกับกระแสของมัลติมีเดียที่เติบโตมากขึ้น" นางสาวคาจิกิกล่าว

ทางด้านการทำตลาดในประเทศไทยนั้น ทั้งชินนี่และเอไอเอส จะนำซอฟต์แวร์ Nancy Codec ซึ่งมีคุณสมบัติการบีบอัด และขยายสัญญาณภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอ และประมวลผลภาพแบบเรียลไทม์ มาสนับสนุนการทำงานของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้สามารถส่งและรับวิดีโอได้ ผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอส (GPRS: General Packet Radio Service) โดยตั้งเป้าหมายยอดผู้ใช้บริการ 800,000 รายของปีแรกของการเข้ามาในตลาด

 

ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่บริษัทนำเสนอจะทำให้ผู้ให้บริการ สามารถให้บริการดังกล่าวได้โดยลงทุนต่ำ เนื่องจากให้บริการได้ภายใต้เครือข่ายเดิมที่มีอยู่ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีของเอ็มเพ็ค จี-4 ซึ่งต้องอาศัยเครือข่าย 3 จี ขณะที่ ผู้ใช้บริการจะได้คุณภาพของภาพเคลื่อนไหวที่ดีกว่า เนื่องจากเทคนิคการแบ่งเฟรมภาพทำให้มีการล่าช้าของสัญญาณภาพน้อย ภาพที่ได้คมชัดและเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติ

 

การใช้บริการ สำหรับการใช้บริการนั้น ผู้ใช้ต้องมีเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีกล้องดิจิทัลในตัว หรือวิดีโอ โฟน และแอ็คเซสไปยังเวบไซต์ที่ชินนี่ดอทคอมจัดหาให้ โดยระบบในเครื่องจะถามผู้ใช้ว่า ยินดีสมัครสมาชิกหรือไม่ หากกดปุ่มยืนยัน ก็จะลงทะเบียน (Register) จากนั้นระบบจะส่งรหัสประจำตัวผู้ใช้มา พร้อมส่งซอฟต์แวร์ผ่านเครือข่ายมายังเครื่องลูกข่ายซึ่งซอฟต์แวร์นี้จะแปลงภาพที่ถ่ายจากกล้องดิจิทัล เป็นภาพเคลื่อนไหว โดยจะส่งเป็นวิดีโอเมลไปได้ ขณะที่ ชินนี่ ซึ่งมีบทบาทเป็นตัวแทนด้านการตลาดทั้งหมด จะต้องติดตั้งเครื่องแม่ข่ายที่มีซอฟต์แวร์ NancyCodec และรับผิดชอบการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และบริการให้เหมาะสมกับตลาดในประเทศ ตลอดจนกำหนดอัตราค่าบริการ และให้บริการผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอสของเอไอเอส

 

ไลฟ์สไตล์ไทย-ญี่ปุ่นใกล้เคียง ด้านนายชูจิ อิโนอูเอะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายโครงการไทย ระบบสื่อสารและเคเบิล บริษัท มิตซุย จำกัด กล่าวว่า หน้าที่หลักของบริษัทให้แพลทฟอร์มเทคโนโลยีแนนซี่กับชินนี่ ร่วมสนับสนุนการทำให้บริการนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในไทยมากขึ้น ทั้งนี้ เขามองว่าบริการดังกล่าว มีศักยภาพการเติบโตสูงในประเทศไทย เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นไทยจะใกล้เคียงกับญี่ปุ่น "ในประเทศญี่ปุ่น คนจะนิยมใช้ถ่ายวิดีโองานสังสรรค์กับเพื่อน งานแต่งงานหรือวาระโอกาสพิเศษต่าง ๆ ทั้งนี้ในญี่ปุ่นจะให้บริการพื้นฐานที่เป็นพิคเจอร์เมล และวิดีโอเมล" นายอิโนอูเอะกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสพัฒนาไปในอนาคต เพื่อใช้เป็นช่องทางโฆษณาเชิงธุรกิจได้ เช่น การส่งมิวสิคคลิป เป็นตัวอย่างเพลงสั้น ๆ ของอัลบั้มใหม่ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากจำนวนเครื่องลูกข่ายที่มีกล้องดิจิทัล ซึ่งจะทยอยเข้ามาทำตลาดมากขึ้นประมาณกลางปีหน้า ได้แก่ พานาโซนิค, โซนี่ อีริคสัน, โนเกีย, โมโตโรล่า และซัมซุง ซึ่งผลักดันให้ราคาเครื่องลดลง ขณะที่ ภายในสิ้นปีนี้เอง เครื่องลูกข่ายรุ่นใหม่ๆ ที่จะออกสู่ตลาด และรองรับบริการรูปแบบดังกล่าว ได้แก่ มีอีริคสัน พี 800, พานาโซนิค จีดี 88 และโนเกีย 5670

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.