ซอฟต์แวร์เฉพาะด้าน สร้างโอกาสอุตสาหกรรมไทย

ช่องว่างในตลาดซอฟต์แวร์ยังมีให้บริษัทไทยเข้าไปจับจอง โดยเฉพาะการดึงความสามารถเฉพาะมาสร้างผลิตภัณฑ์ตามความถนัดของตัวเอง เน้นความแตกต่างจากคู่แข่ง ทั้งราคา การสนับสนุนหลังการขาย รวมถึงเป็นทางเลือกใหม่ให้กับตลาด หรือแม้กระทั่งสร้างตลาดใหม่เอง ซึ่งบริษัทไทยหลายรายได้ลงมือพิสูจน์ด้วยตัวเองในสาขาต่างๆ ของอุตสาหกรรม

 

นางสาวศยามล ปรมัตถ์ทวีสิน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทเดฟฟิเนทลี่ คอร์ปปอเรชั่น จำกัด บริษัทในเครือดาต้าแมท ที่ถือหุ้น 60% กล่าวว่า บริษัทพัฒนาระบบติดตามควบคุมเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม "WebFAQtory" ซึ่งมีจุดเด่นการเชื่อมต่อเข้ากับฮาร์ดแวร์ได้หลายระบบ และมีราคาต่ำกว่าซอฟต์แวร์ต่างประเทศที่เป็นคู่แข่ง โดยการลงทุนระบบของบริษัทระดับหลายแสนบาท แต่ของคู่แข่งต้องลงทุนเป็นระดับล้านบาท

อีกทั้งการเป็นบริษัทไทยก็จะทำให้ได้เปรียบที่จะให้การสนับสนุนหลังการขายกับลูกค้าได้เร็วกว่าต่างประเทศที่ไม่มีสำนักงานในไทย "ยอมรับว่า บริษัทเพิ่งจะเข้ามาได้ 2 ปี และคู่แข่งในตลาดจะเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่เป็นเครื่องจักรในโรงงาน และพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อมาใช้กับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของตัว แต่ก็อาศัยจุดเด่นทั้งราคาและการสนับสนุนหลังการขายเป็นช่องว่างที่จับตลาดเป้าหมายในระดับเอสเอ็มอี" นางสาวศยามล กล่าว

 

ทั้งนี้ในปี 2546 จะมุ่งขยายตลาดนอกเหนือจากอุตสาหกรรมการผลิต ไปในอุตสาหกรรมอาหารด้วย โดยมองว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ติดตามควบคุมเครื่องจักรนั้น สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายอุตสาหกรรม เธอกล่าวต่อว่า อีกทั้งบริษัทมีโปรแกรมระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินสำหรับหน่วยงานเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล "Eptis" ซึ่งจะสอดคล้องกับการทำงานของเทศบาลที่มีการจัดเก็บภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน และภาษีท้องที่ ซึ่งเดิมการเรียกเก็บจะดูตามโฉนดและจัดเก็บข้อมูลเป็นกระดาษ

 

ดิสไทยชูจุดขายวัฒนธรรมไทย

นายอดิศร เทพวัลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิสไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทพร้อมขยายธุรกิจใหม่เพื่อรุกตลาดต่างประเทศ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ภายใต้โครงการ "ภูมิใจ...ไทยเจ้าของ" ภายในไตรมาสแรก ปี 2546 โดยเตรียมจัดตั้งเวบไซต์ในเดือนมกราคม และคาดว่าเดือนมีนาคมจะเสร็จสมบูรณ์ ล่าสุด บริษัทได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากกองทุนวรรณ ซึ่งเข้ามาลงทุนจำนวน 1 ล้านบาท โดยถือหุ้นในบริษัท 50%

 

ส่วนรูปแบบการทำธุรกิจใหม่นี้ บริษัทจะนำซีดี-รอมข้อมูลวัฒนธรรมไทย และแหล่งท่องเที่ยวไทย ฉบับภาษาอังกฤษ เข้าไปจำหน่ายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต โดยฝากขายไปกับเวบไซต์อเมซอน และเปิดให้ดาวน์โหลดโดยตรงจากไซต์ของบริษัท ที่จะพัฒนาเป็นเครื่องมือเผยแพร่ความรู้ของไทย ด้านมรดกไทย/มรดกโลก ลายไทย สมุนไพรไทย เป็นต้น "เราเห็นโอกาสจากความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทย ส่วนมากจะต้องหาหนังสือคู่มือไว้ก่อน โดยในเวบไซต์อเมซอนนั้น หนังสือท่องเที่ยวจะติดอันดับต้นๆ ของการขาย" นายอดิศรกล่าว พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงธุรกิจหลักเดิม ทั้งการพัฒนางานมัลติมีเดียในรายงานประจำปี ให้กับบริษัทต่างๆ รวมถึงจำหน่ายชุดซอฟต์แวร์ระบบบริหารองค์กร (อีอาร์พี) โดยในปี 2546 จะพัฒนาเป็นระบบการทำงานผ่านเวบ (เวบ-เบส แอพพลิเคชั่น)

 

ปัจจุบันซอฟต์แวร์ของบริษัท ทำงานร่วมกับเครื่องเอเอส/400 มีจำนวน 22 โมดูล จับตลาดการ์เมนท์ โรงแรมและรถยนต์ นอกจากนี้ ยังจำหน่ายซีดี-รอม และวีซีดี ที่มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งการสอนเขียนแม่ลายไทย คลิปอาร์ตที่เป็นชุดกรอบลายไทยสำหรับงานสิ่งพิมพ์ และพรีเซนเตชั่น รวมการ์ตูนไทย ท่องเที่ยวไทย สมุนไพรไทย โดยจับตลาดคอนซูเมอร์ และทำราคาระดับ 180 บาท เพื่อมิให้มีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งปี 2546 จะมุ่งขยายตลาดต่างจังหวัดด้วย "ปี 2546 นี้ เราตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจคอนซูเมอร์จาก 30% เป็น 50% โดยเป็นผลจากการขยายตลาดต่างประเทศและต่างจังหวัด" นายอดิศรกล่าว

 

เข้าเอ็มอาร์พี

นาวาอากาศตรีอรรถพงษ์ พุ่มอินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิวเจอร์ เทรน คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า บริษัทจะวางตลาดชุดโปรแกรม Wanflex สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมการผลิตในองค์กรขนาดกลางและเล็ก ที่ประกอบด้วย ระบบวางแผนความต้องการวัตถุดิบ (Material Resource Planning :MRP) ระบบวางแผนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Resource Planning :MRP II) และการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า หรือซีอาร์เอ็ม เนื่องจากบริษัทเห็นช่องว่างในตลาด ซึ่งลูกค้ามีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้ แต่ขาดงบประมาณด้านจัดซื้อไลเซ่นซอฟต์แวร์ต่างประเทศที่มีราคาสูง ขณะที่ราคาไลเซ่นของบริษัทจะต่ำกว่าคู่แข่ง 10 เท่า อีกทั้งมีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้า "การพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปออกจำหน่าย เป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญเดิมที่พัฒนาระบบงานด้านเอ็มอาร์พีให้กับลูกค้าอยู่แล้วในช่วง 2 ปีที่เปิดกิจการมา โดยทำให้ใช้เวลาการปิดโครงการสั้นลง แต่สร้างจำนวนลูกค้าได้มากขึ้น" กรรมการผู้จัดการ กล่าว

 

เจาะตลาดอาหาร

นายเชษฐา อุดมวงศ์ หัวหน้าการตลาด กลุ่มบริษัทเอฟเอ็กซ์เอ กล่าวว่า ตัวเอง และนายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ ได้ร่วมทุนกับนักธุรกิจต่างประเทศ เปิดธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับตรวจสอบขั้นตอนการผลิตสินค้าเกษตร หรือ Traceability Software ครอบคลุมระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ (ฟาร์ม เทรซ) จากฟาร์มหรือเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบคุณภาพ (ควอลิตี้ เทรซ) การติดตามการผลิต (โปรดักชั่น เทรซ) การติดตามการขนส่ง (ชิปเทรซ) ไปจนถึงผู้ค้าปลีก (เทรซ เซฟ) สู่ผู้บริโภค "แนวคิดการพัฒนาระบบ มาจากการมองเห็นถึงโอกาสทางการตลาดโลกมหาศาล ที่ปัจจุบันความตื่นตัวแรงผลักดันของผู้บริโภคจะให้ความสำคัญความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดผู้ซื้อใหญ่ทั้งในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น โดยเฉพาะในยุโรปกำหนดสมุดปกขาวด้านความปลอดภัยอาหาร และจะออกเป็นกฎหมายที่จะบังคับใช้ในปี 2548 ด้วย" ประกอบกับมองว่ากลุ่มธุรกิจด้านอาหารและเกษตรกรรมนั้น เป็นส่วนที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่ำมาก ขณะที่มูลค่าตลาดมีขนาดใหญ่ทั่วโลกอุตสาหกรรมนี้สูงถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในไทยเองสูงถึง 11-12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งไม่มีคู่แข่งที่ใกล้เคียงในตลาดด้วย "เป็นการประสานจุดแข็งของนักธุรกิจที่มีความรู้ตลาดและเห็นศักยภาพของเอเชียและไทยเองว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารขนาดใหญ่ ขณะที่ก็อาศัยความชำนาญด้านเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์" นายเชษฐากล่าว

ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดกับลูกค้า โดยเฉพาะที่เป็นโรงงานผลิตนั้น จะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นำมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดได้ ว่าอาหารที่ผลิตมีความปลอดภัย รวมถึงหากสินค้ามีปัญหาก็สามารถติดตามต้นตอได้ว่าเกิดจากที่ใด และเรียกคืนเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา โดยไม่ต้องทำลายทั้งหมดเช่นเดิม กลุ่มเป้าหมายของบริษัท ในไทยจะมุ่งกลุ่มผู้ผลิตอาหารเพื่อส่งออก ทั้งอาหารสด อาหารทะเล และสัตว์ปีก ส่วนต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่นจะมุ่งผู้ค้าปลีก หรือรีเทลเลอร์ ที่ต้องการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าเป็นหลัก ล่าสุดเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดสำนักงานในซีแอตเติล สหรัฐแล้ว หลังจากได้ลูกค้าที่เป็นรีเทลเลอร์รายใหญ่ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และยังได้ลูกค้าในยุโรป ได้ลูกค้าที่ธุรกิจด้านเกษตร-ปิโตรเคมี ที่มีมูลค่าโครงการกว่า 4-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 มกราคม 2546

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.