มุมมองตลาดซอฟต์แวร์ไทย

นายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ให้ความเห็นว่า ปี พ.ศ. 2544 ถือว่าเป็นเคราะห์ร้ายของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และมีแนวโน้มที่จะไม่เติบโตตรงตามที่คาดการณ์ในช่วงต้นปีร้อยละ 30 แต่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 10 โดยภาพรวมยังถือว่า มีการชะลอตัวและน่าจะมีอัตราการเติบโตดีกว่าอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า

สำหรับปี พ.ศ. 2545 ในช่วงครึ่งปีแรกตลาดซอฟต์แวร์ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยอาจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดไอทีสำคัญของโลกในอเมริกาและยุโรปไม่ถือว่า มีการชะลอตัวรุนแรงจึงมีความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะฟื้นตัวใช่วงปลายปี พ.ศ.2545 ส่วนแนวโน้มของตลาดซอฟต์แวร์คาดว่า ปริมาณความต้องการซอฟต์แวร์ประเภทเนื้อหา (Content) จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับซอฟต์แวร์มัลติมีเดีย เพื่อรองรับการเติบโตของกระแสอี-เลิร์นนิ่งในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ งานพัฒนาซอฟต์แวร์ในไทย จะเริ่มเห็นการพัฒนาเนื้อหาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอนเทนท์) สำหรับอี-เลิร์นนิ่ง ธุรกิจบันเทิงและธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น รวมทั้งปริมาณการนำเข้าและใช้งานซอฟต์แวร์ด้านอี-คอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ ระบบบริหารทรัพยากรองค์กร (อีอาร์พี) ในองค์กรขนาดใหญ่ จะไม่มีการเติบโต แต่ความต้องการระบบอีอาร์พีขนาดเล็กจะยังมีอยู่ โดยอุตสาหกรรมการผลิตจะเติบโตในปีหน้า ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ จะมองหาระบบงานส่วนหน้า (ฟร้อนท์ ออฟฟิศ แอพลิเคชั่น) ทั้งระบบการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (ซีอาร์เอ็ม) และระบบเซลล์ ออโตเมชั่น โดยเฉพาะการใช้กับพีดีเอ อย่างไรก็ตาม ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นบริการ (เวบเซอร์วิส) ที่ใช้เทคโนโลยี Microsoft .NET จะยังเติบโตช้าอยู่ เนื่องจากประชาชนจะยังไม่ใช้วิธีการพัฒนาประเภทนี้ โดยต้องเห็นการประยุกต์ใช้ได้จริงให้มากขึ้น จึงจะเริ่มปรับใช้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.