วอนรัฐหนุนเทคโนโลยี กระตุ้นชิ้นส่วนไทยปรับตัวก่อนสูญพันธุ์

วานนี้ (17 มี..) สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย จัดเสวนาในหัวข้อ "โอกาสทอง ชิ้นส่วนไทย ไปสู่ระดับโลก" ที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ กรุงเทพมหานคร (ไบเทค) เนื่องในโอกาสประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2546 โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย นายมนู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายอัจฉรินทร์ สารสาส นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย นายปราโมทย์ พงษ์ทอง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และนายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

 

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดรวมจะอยู่ที่ 67 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 18% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 57 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้ อเมริกาเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยยุโรป และอันดับที่ 3 คือ เอเชีย ที่เป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงสุด 36% และหากมองเฉพาะตลาดอาเซียน จะพบว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะมียอดรวม 2.2 ล้านคัน หรือเติบโต 40% ซึ่งหมายถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะไทยที่ปัจจุบันมีการผลิต 50% ของอาเซียน ดังนั้นจึงเชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะไปได้ดีในอนาคต หากมีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ

 

นายอัจฉรินทร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไม่สามารถที่จะวัดจากอุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ได้ เนื่องจากปัจจุบัน อุตสาหกรรมนี้เจ้าของยี่ห้อ (brand owner) ได้เข้ามาเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการเกือบ 100% แล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดความแข็งแกร่งก็คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนภายในประเทศ และที่สำคัญต้องเป็นชิ้นส่วนที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามปัจจุบัน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนในประเทศนั้นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงสุด (tier 1) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่งชิ้นส่วนเข้าโรงงานประกอบรถโดยตรง เป็นธุรกิจของคนไทย 300 บริษัท และอีกครึ่งหนึ่งเป็นของบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ รวมไปถึงบริษัทที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน 100% ส่วนกลุ่มระดับ 2 (tier 2) ปัจจุบันยังมีของคนไทยนับพันบริษัท

 

"ปัจจุบันชิ้นส่วนไทยมีการแข่งขันที่รุนแรง และจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขัน ซึ่งหนทางที่ชิ้นส่วนไทยจะโตได้ จะต้องมีความสามารถในการลดต้นทุน เพื่อให้ราคาถูกลง สามารถแข่งขันได้ เพราะว่าโรงงานประกอบรถยนต์จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ชิ้นส่วนที่แม้ว่าจะมีคุณภาพดี แต่ถ้าราคาสูงก็ไม่ไหวเหมือนกัน" นายอัจฉรินทร์ กล่าวว่า แนวทางที่จะพัฒนาชิ้นส่วนไทย ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริม แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่าแนวทางการส่งเสริมไม่ควรจะเป็นไปในวงกว้าง เนื่องจากจะไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ แต่ควรจะใช้วิธีคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมากลุ่มหนึ่ง และส่งเสริมอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถอยู่ในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง และจากนั้นกลุ่มนี้จะไปมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ต่อไป

 

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางหนึ่งที่ภาครัฐจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนได้ก็คือ การมีศูนย์ทดสอบและวิจัย เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงนับพันล้านบาท ทำให้เอกชนไม่สามารถลงทุนได้ ซึ่งหากมีศูนย์ดังกล่าวจะทำให้กระบวนการออกแบบผลิต และทดสอบครบวงจรภายในประเทศ อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถที่จะคุยกับโรงงานประกอบรถยนต์ได้ง่ายขึ้นในเรื่องแผนงานการผลิต และแผนการปรับปรุงสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงงานรถยนต์ให้ความสำคัญมาก แต่ปัจจุบัน ชิ้นส่วนมักจะไม่สามารถให้คำตอบได้เนื่องจากไม่มีศูนย์ทดสอบและวิจัยดังกล่าวภายในประเทศ

 

นอกจากนั้นในวงเสวนายังแสดงความคิดเห็นในการส่งเสริมของภาครัฐในอีกหลายประเด็น ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของภาษีต่างๆ เพื่อช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการพัฒนา ก่อนที่จะเข้มแข็งพอจะแข่งได้กับต่างประเทศ ซึ่งตัวแทนจากภาครัฐก็ยืนยันว่ารัฐมีแนวคิดดังกล่าว และมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของภาครัฐ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.