ธุรกิจสื่อสารปี 45 จุดเริ่มต้น กฎ-กติกาใหม่

ธุรกิจโทรคมนาคมปี 45 เป็นอีกภาคธุรกิจใหญ่ที่ได้รับการจับตามองใกล้ชิด เหตุมีการเคลื่อนไหวใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านขนาดของตลาด, การแปลงสัมปทานสัญญาสื่อสาร, กฎระเบียบใหม่ๆ, การปรับตัวของผู้ให้บริการ เพื่อรับมือกับกฎระเบียบใหม่ที่จะส่งผลทั้งด้านบวกและลบกับธุรกิจ ทั้งนี้เพราะปีนี้เป็นปีที่จะต้องจัดตั้ง "คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)" ซึ่งเป็นองค์กรกลางทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ในการกำกับดูแล และกำหนดนโยบายด้านโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาต, การกำหนดค่าบริการให้แล้วเสร็จ หลังจากที่ล่าช้ามาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่ พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม ซึ่งเปรียบเสมือนแผนแม่บทของธุรกิจภาคนี้ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และยกเลิกกฎหมายเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสื่อสาร ที่ออกมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด กลไกต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญทั้งในแง่ยกเลิกการผูกขาด ของกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ออกจากมือของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.), การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.), กรมไปรษณีย์โทรเลข และกระทรวงคมนาคม รวมถึงการผูกขาดทางอ้อม ผ่านเอกชนคู่สัญญาของหน่วยงานต่างๆ ข้างต้น

ฐานธุรกิจ-ลูกค้า หนุนจุดแข็ง

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาพการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ยังไม่ได้ออกมาในเชิง "รูปธรรม" ทำให้ผู้ประกอบการเดิมที่อยู่ในตลาด ต่างต้องเร่งใช้ศักยภาพของฐานธุรกิจ และทรัพย์สินในโครงการ โดยเฉพาะโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมที่ลงทุนไปแล้ว ให้สร้างรายได้ตอบกลับให้กับบริษัท ในรูปแบบและบริการที่หลากหลายที่สุด เพื่อเพิ่มรายได้-ลูกค้าเป็น "ต้นทุน" ให้แก่แต่ละราย ก่อนจะถึงวันที่ กทช.เปิดให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจแข่ง เนื่องจากการสร้างฐานการตลาด หรือลงทุนให้บริการใหม่ จำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้น ผู้ประกอบรายเก่าจึงต้องอาศัยความได้เปรียบที่มีอยู่ ช่วยขยายฐานการตลาดไว้รับมือล่วงหน้า

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทค กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปีนี้ ของกลุ่มบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแทค จะมุ่งเน้นเรื่องบริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้น ตามปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ต ที่คาดว่าจะขยายการใช้งานออกไปในต่างจังหวัด แนวโน้มดังกล่าว จะสอดคล้องกับนโยบายใหม่ๆ ของกลุ่มยูคอม ที่ริเริ่มโครงการสนับสนุนให้มีการใช้ไอที โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล และเพิ่มโอกาสขายสินค้าให้กับกลุ่มชาวบ้านหรือเกษตรกร ในโครงการ "รักบ้านเกิด"

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ กล่าวว่า การมีธุรกิจในเครือที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเข้าถึงการสื่อสารประเภทต่างๆ (แอ็คเซส แชนัล) ทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน, โทรศัพท์ไร้สายพกพา (พีซีที), โทรศัพท์เคลื่อนที่, บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และบริการเคเบิลทีวี รวมทั้งเครือข่ายใยแก้วนำแสง ที่ครอบคลุมทุก 500 หลังคาเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะกลายเป็น "ศักยภาพพื้นฐาน" สำคัญของทีเอ ในการสร้างความพร้อมรับมือการแข่งขัน นอกจากนี้ การวางโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายในปีที่ผ่านมา เป็นระบบเครือข่ายอัจฉริยะ (อินเทลลิเจนท์ เน็ทเวิร์ค) และการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้า ควบคู่ไปกับการเข้าถึงลูกค้าโดยตรง บริษัทจะประสานความร่วมมือ (ซินเนอร์ยี) ในธุรกิจระหว่างบริษัทในเครือมากขึ้น เพื่อนำเสนอบริการโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารที่มีอยู่ บันเดิลไปกับระบบงานและเนื้อหา ที่ทำให้ลูกค้าใช้งานได้สะดวกแบบ "วันสต็อปช็อป"

กระแสบริโภคมือถือเพิ่ม

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังอยู่ในยุคแห่งการติดต่อสื่อสารในปัจจุบัน ยังเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแทค, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือดีพีซี รวมถึงบริษัท ซีพี ออเร้นจ์ จำกัด ซึ่งคาดว่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น ทีเอ ออเร้นจ์ ก่อนเดินเครื่องบุกตลาดอย่างเต็มตัว ในราวไตรมาสแรกของปี 2545 นี้ โดยเฉพาะเมื่อดูจากประมาณการทั้งของผู้ให้บริการ และผู้ผลิตเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งออกมาฟันธงกันไว้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาว่า ตลาดรวมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 45 มีโอกาสเติบโตอีกถึง 2 เท่า จากปี 2544 ที่มียอดผู้ใช้บริการของทุกค่ายรวมกันประมาณ 6 ล้านราย ซึ่งเติบโตจากปี 2543 ที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านรายเท่านั้น กระแสนิยมบริโภคมือถือ ที่ได้ขยายลงมาถึงกลุ่มผู้ใช้ระดับทั่วไปจริงๆ ด้วยราคาเครื่องยี่ห้อดังๆ บางรุ่นที่ต่ำสุดเพียง 3,900 บาท และรูปแบบค่าโทรที่หลากหลาย ตามพฤติกรรมการโทรของลูกค้า ยังจะเป็นแรงส่งต่อเนื่องสำหรับผู้ให้บริการในตลาดนี้ ที่จะสร้างยอดลูกค้าได้แบบ "กินยาว" ก่อนที่รายใหม่จะมีโอกาสเข้ามาแข่ง ซึ่งมีการประเมินกันไว้ว่า ไม่น่าจะเข้ามาให้บริการได้ทันก่อนปี 2546

เนื่องจากเมื่อคำนวณถึงระยะเวลาการจัดตั้ง กทช.ที่แม้จะแล้วเสร็จเป็นรูปเป็นร่างได้ภายในปี 2545 แต่ในกระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์ขอใบอนุญาต ซึ่งคงไม่ต่ำกว่า 1 ปี รวมมาถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาต ต้องใช้เวลาในการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ และเครือข่ายเพื่อให้บริการอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปีเช่นกันแล้ว ไม่น่าจะทำได้เสร็จก่อนปี 2546 โดยนายบุญชัยกล่าวว่า แทคตั้งเป้าเติบโตของยอดลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้อีกกว่า 2 ล้านเลขหมาย จากตลาดรวมที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นราว 5 ล้านเลขหมาย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเติบโตดังกล่าว คงมีสัดส่วนหลักจากลูกค้าในระบบโทรศัพท์พร้อมใช้ (พรีเพด) ถึงราว 90% ดังนั้น บริษัทจึงเน้นการทำตลาดพรีเพดเป็นหลัก โดยกำหนดรูปแบบอัตราค่าบริการหลายแพ็คเกจ ตามพฤติกรรมการใช้งานของ "ลูกค้า" ขณะเดียวกัน ปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่มีตลาดหลักอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งไม่สามารถขยายฐานการตลาดออกไปเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นผู้ให้บริการจำเป็นต้องหากลยุทธ์ขยายฐานตลาดออกไปในภูมิภาค

กฎ-ภาระหนี้สินยังเป็นปัญหา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นของการจัดตั้ง กทช.ยังนับเป็น "จุดอ่อน ( Weekness)" ที่สำคัญของธุรกิจโทรคมนาคมในปีนี้ โดยเฉพาะปัญหาความล่าช้าในการจัดตั้ง ส่งผลให้ไม่สามารถออกกฎเกณฑ์กติกาสำหรับการแข่งขัน เป็นอุปสรรคต่อการประมาณการทิศทางการตลาด ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเอง กล่าวยอมรับว่า การคัดเลือก และจัดตั้ง กทช. ที่มีแนวโน้มจะล่าช้าออกไปอีก 1 ปี และจะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายใหม่ ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดสื่อสารไทย เนื่องจากยังไม่สามารถขอใบอนุญาตเพื่อให้บริการได้ เพราะติดข้อบังคับทางด้านกฎหมาย นอกจากนี้ ยังกระทบถึงกรมไปรษณีย์โทรเลข ที่ถูกกำหนดให้แปรสภาพไปเป็นสำนักงานเลขานุการ กทช.แทนบทบาทเดิมในฐานะผู้ให้ใบอนุญาตสำหรับคลื่นความถี่ ซึ่งจำต้องยุติบทบาทเดิม ขณะที่ กทช.ซึ่งเป็นองค์กรกลางยังไม่เกิดขึ้น "กระทรวงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของวุฒิสภา ดังนั้นระหว่างนี้ คงต้องให้หน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบเตรียมพร้อม และดำเนินงานในส่วนที่เป็นงานประจำไปก่อน" นายวันนอร์กล่าว

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัทแทค กล่าวว่า ควรรีบเร่งจัดตั้ง กทช.เพราะจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศ ให้เป็นระบบสากลได้ ขณะที่หากดำเนินงานล่าช้าออกไป อาจจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมล่าช้า เพราะสิ่งที่ต้องยอมรับคือ โทรคมนาคมในประเทศไทย ยังขาดเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่ง กทช.จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการตรงส่วนนี้ "ควรจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาก่อน แล้วเมื่อมีปัญหาถึงจะเข้าไปแก้ไข จะต้องยอมรับว่าอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ไม่สมบูรณ์แบบ แล้วค่อยมีการปรับปรุง โดยเฉพาะตัวบุคคลคงไม่มีใครสมบูรณ์แบบ รวมทั้งบุคลากรในโทรคมนาคม มีอยู่จำนวนเท่านี้" นายบุญชัยกล่าว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กทช.และ กสช.จะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมาก เนื่องจากสามารถออกกฎระเบียบข้อบังคับใช้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังมีหน้าที่กำกับดูแลด้วย รวมถึงสามารถให้หรือถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการได้ ซึ่งแตกต่างจากองค์กรอิสระในต่างประเทศ ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลเท่านั้น ส่วนการกำหนดนโยบายเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ขณะที่นายศุภชัยกล่าวว่า จุดอ่อนอีกข้อหนึ่งของผู้ให้บริการสื่อสารไทย อยู่ที่ผู้ประกอบการหลายราย ยังมีภาระหนี้สินที่เกิดจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ หากค่าเงินมีความผันผวน บริษัทตั้งเป้าชำระหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่กว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้หมดภายในปี 2545 เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเมื่อตัดปัจจัยนี้แล้ว คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2545 นี้ บริษัทจะเริ่มถึงจุดคุ้มทุน และทำกำไรสุทธิได้

กระแสเทคโนโลยีเพิ่มโอกาส

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า หากการเปิดเสรีโทรคมนาคม การจัดตั้ง กทช.และการแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้วเสร็จภายในปี 2545 จะเห็นรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ มากขึ้น โดยบริษัทเองอาจเปิดให้ผู้ให้บริการรายเล็ก ที่ได้สิทธิการให้บริการ เข้ามาเช่าใช้โครงข่ายที่มีอยู่ ในแบบที่เรียกว่า "รีเซลลิ่ง คอนเซ็ปท์" ขณะเดียวกัน กระแสความนิยมเทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูล ยังเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการสื่อสารของไทย ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปแล้ว เพื่อให้เป็น "ช่องทาง" ในการให้บริการเนื้อหา (คอนเทนท์) โดยส่วนของทีเอ วางเป้าหมายให้โครงการมัลติ แอ็คเซส พอร์ทัล (MAP:Multi Access Portal) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ที่สร้างเนื้อหาจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการต่างๆ ในเครือทีเอ ได้แก่ โทรศัพท์พื้นฐาน, โทรศัพท์เคลื่อนที่, เคเบิลทีวี ผ่านเวบไซต์กลางแห่งนี้ ขณะที่นายบุญชัยกล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการรายเก่าต้องดำเนินการ ก่อนจะมีการเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินธุรกิจที่จะมีขึ้นในปี 2545 คือ การกำหนดกลยุทธ์เลือกธุรกิจที่มีความชำนาญ และจุดแข็งของตลาด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งใช้ประสบการณ์ เพื่อบริการจัดการต้นทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ภายในองค์กร และนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาให้บริการ

แปรสัญญา : ปัญหาที่รอทางแก้

อย่างไรก็ตาม อุปสรรค หรือสัญญาณเตือนภัย (Threaten) สำคัญของธุรกิจในกลุ่มนี้ คือ การแปรสัญญาร่วมการงานกิจการโทรคมนาคมทั้ง 25 ฉบับที่ยังค้างคาอยู่ ซึ่งหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเปิดเสรีตลาดสื่อสารโทรคมนาคม ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2549 แล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ระหว่างผู้ประกอบการรายเดิม-ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือผู้ประกอบการในประเทศ-ผู้ประกอบการจากต่างประเทศอย่างแน่นอน ทั้งนี้ แม้แนวทางการแปรสัญญาร่วมการงานฉบับล่าสุด จากผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์ทางปัญญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกำกับการแปรสัญญาร่วมการงาน (กปส.) แล้วจะได้ชื่อว่า เป็นแนวทางที่ทำให้รัฐสูญประโยชน์ที่พึงได้จากการแปรสัญญา และเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนผู้ประกอบการแบบ "สุดๆ" ก็ยังได้รับเสียงคัดค้านจากเอกชน โดยเฉพาะแนวทางข้อ 2 เกี่ยวกับหลักการซื้อหรือเช่าทรัพย์สินคืน ในอัตราที่ยุติธรรม ปัจจุบันยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะมองว่าจะสร้างภาระต้นทุนในการดำเนินงาน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.