แฉระบบผูกขาดธุรกิจสื่อสาร ฉุดเศรษฐกิจไทยเสียหายยับ

รายงาน
ทิศทางการก้าวเดินของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศยังคงอยู่ในภาวะไร้ทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นการแปรสัญญาสัมปทาน การแปลงสภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ล้วนแล้วแต่มองไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจนว่าจะออกมารูปแบบใดและเมื่อไรจนหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า หากรัฐบาลปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อไปเรื่อยๆ เช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่ออนาคตของประเทศไทยแน่

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัย ภาคการพัฒนางานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (สกว.) ได้ทำการศึกษา 'แนวทางการปฏิรูประบบโทรคมนาคมของประเทศไทย' ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้และสนับสนุนการกำหนดหลักเกณฑ์ในด้านต่างๆ แก่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย อาทิ หลักเกณฑ์การให้อนุญาตประกอบการ, การจัดสรรคลื่นความถี่, การกำหนดอัตราค่าบริการ, การเชื่อมต่อโครงข่าย, การให้บริการอย่างทั่วถึง, การป้องกันการผูกขาด, การคุ้มครองผู้บริโภค และการสร้างความเชื่อถือของหน่วยงานกำกับดูแล

โดยผลการวิจัยในเบื้องต้นพบว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบผูกขาดและกึ่งผูกขาด ทำให้ระบบการแข่งขันไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สมบูรณ์จนต้นทุนการใช้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านถึง 20-25% ซึ่งความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจปีละกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท รายงานการวิจัยยังระบุด้วยว่า บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ และบริการวงจรอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศถือเป็นบริการผูกขาดโดย กสท. แต่เพียงผู้เดียวโดยแท้จริง ขณะที่บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการโทรศัพท์พื้นฐานเป็นตลาดกึ่งผูกขาด

สำหรับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ แม้ช่วงที่ผ่านมาจะเกิดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการภาคเอกชนในระดับที่รุนแรงมาก แต่ก็เป็นการแข่งขันกันด้านการตลาดและความหลากหลายของบริการไม่ใช่แข่งกันที่ 'ราคา' จะเห็นการแข่งขันด้านราคาเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ เมื่อแทคหรือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) รีแบรนด์ใหม่เป็น 'ดีแทค' เมื่อต้นปี 2544 และอีกครั้งเมื่อบริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด (ทีเอโอ) เริ่มเข้าสู่ตลาดช่วงต้นปี 2545

ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ เนื่องจากพบว่ามีมาตรการกีดกันการแข่งขันในรูปแบบต่างๆ ของผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหญ่ในตลาดตลอดเวลา เช่น การล็อกอีมี่เครื่องเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคนำเครื่องที่จัดหามาเองมาใช้ในโครงข่ายของผู้ให้บริการ ทำให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดราคาขายเครื่องลูกข่ายได้สูงกว่าตลาดทั่วไป อย่างไรก็ตาม การกีดกันดังกล่าวเพิ่งเลิกไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานี้เอง ขณะเดียวกัน ยังมีการกีดกันไม่ให้ผู้ให้บริการรายอื่นเข้ามาใช้โครงข่ายของตน รวมถึงไม่ให้ลูกค้าของผู้ให้บริการรายใหม่ส่งข้อความสั้น (SMS) มายังผู้ใช้บริการในโครงข่ายของตน ทำให้ผู้ใช้บริการเสียประโยชน์และทำให้ผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การคิดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ของผู้ใช้บริการในโครงข่ายของตนต่ำกว่าการโทร.ไปยังเครือข่ายอื่นทั้งที่ไม่ได้มีภาระด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการเชื่อมต่อโครงข่ายก็ถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่งด้วย

รายงานการวิจัยดังกล่าวยังมีรายละเอียดด้วยว่า หลักฐานหนึ่งที่ชี้ว่าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่มีการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ คือ การที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดเกือบ 60% และมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนสูงต่อเนื่องหลายปี ทั้งๆ ที่คิดค่าบริการสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่า 'เอไอเอส' เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด (market dominant) ตามความหมายในทางวิชาการ

ทั้งนี้ โครงสร้างตลาดในลักษณะกึ่งผูกขาดทำให้ต้นทุนโดยรวมของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนโดยรวมแพงกว่าประกอบด้วย ราคาเครื่องลูกข่าย และการกำหนดวงเงินขั้นต่ำที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายแต่ละเดือน

เมื่อหันมาพิจารณาตลาดโทรศัพท์พื้นฐาน เนื่องจากมีผู้ให้บริการเพียง 3 ราย คือ ทศท., บริษัทเทเลคอมเอเซียฯ และทีทีแอนด์ที ดังนั้น สภาพการแข่งขันที่เกิดขึ้นจึงเน้นกิจกรรมด้านการตลาดเป็นหลัก แทบไม่พบการแข่งขันด้านราคาเลย ส่วนหนึ่งเพราะติดเงื่อนไขในสัญญาร่วมการงานระหว่าง ทศท.กับเอกชนที่มีข้อจำกัดเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการทำให้ไม่สามารถปรับค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลในประเทศมานานเป็นเวลาหลายปี

เช่นเดียวกับตลาดอินเทอร์เน็ต แม้จะมีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการในประเทศสูงมาก แต่อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศยังผูกขาดโดย กสท. ในปี 2540-2545 กสท.มีการปรับลดอัตราค่าบริการครึ่งวงจรอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (internationl half circuit) ลงเพียง 2 ครั้ง ในอัตรา 27% ในรอบ 5 ปี ถือว่าต่ำกว่าการลดลงของตลาดเป็นอย่างมาก

รายงานการวิจัยยืนยันอีกว่า การแข่งขันที่ไม่มีประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากโครงสร้างตลาดผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดนี้เองส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากการผูกขาดสินค้าหรือบริการใดๆ ทำให้ราคาสินค้าหรือบริการนั้นสูงเกินจริงมากกว่าตลาดที่มีการแข่งขันทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรจากการผูกขาดมากขึ้น และราคาที่สูงนี้เองทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่ได้รับบริการ ถือเป็นความสูญเสียทางสังคมที่เกิดจากการผูกขาดโดยแท้จริง เมื่อบริการโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานของบริการอื่นๆ ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย

ดังนั้น เป้าหมายในการปฏิรูประบบโทรคมนา คมในประเทศไทยจึงควรพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนสภาพตลาดจากตลาดผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดไปสู่ตลาดที่มีการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ โดยเปิดให้มีการแข่งขันเสรีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิ ภาพเพื่อลดความสูญเสียทางสังคม โดยผลการศึกษาดังกล่าวยืนยันว่า หากมีการปฏิรูประบบโทรคมนาคมไทยอย่างแท้จริงจะทำให้ผลผลิตโดยรวมของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 2.08 หมื่นล้านบาท หรือทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.47 เลยทีเดียว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.