ไทยเจ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สารพัดยักษ์แห่ผุดโรงงาน

รายงาน

หลังจากเดินหน้าเข้าสู่เวทีการค้าโลก (WTO) "จีน" ได้กลายเป็นประเทศที่ได้รับการรุมล้อมจากนักลงทุนมากที่สุด เรียกได้ว่าเนื้อหอมที่สุดในเอเชียเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันตลาดภายในประเทศที่ใหญ่โตมโหฬาร ยิ่งทำให้จีนมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าทุกๆ ประเทศในเอเชีย แต่ในห้วงที่จีนกำลังก้าวย่างอย่างมังกร ในสายตาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก "ไทย" กลับเป็นประเทศที่เนื้อหอมที่สุดในแถบอินโดจีนเช่นกัน !!! โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอย่างเครื่องซักผ้า กลายเป็นสินค้าที่หลายค่าย ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ต่างเร่งสร้างฐานการผลิตในไทยกันเป็นแถว

ล่าสุดก็ "อีเลคโทรลักซ์" จากฝั่งยุโรป
เฟรดริก ราเมน ประธาน บริษัท อีเลคโทรลักซ์ เฮาส์โฮล แอปพลายแอนซ์ อีสต์ เอเชีย จำกัด ซึ่งดูแล 10 ประเทศทั่วภูมิภาคนี้ ประกาศชัดเจนว่าจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องซักผ้าฝาหน้าในไทย ด้วยเงินลงทุนถึง 500 ล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่า อีเลคโทรลักซ์มียอดขายเครื่องซักผ้าในไทยสูงถึงราว 1,000 ล้านบาท จากยอดขายรวมของภูมิภาคนี้ทั้งหมด 120 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 4,800 ล้านบาท นำหน้ากระทั่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาหลี นอกจากจีนแล้ว อีเลคโทรลักซ์มองว่า ไทยนี่แหละที่เหมาะสมต่อการเป็นฐานการผลิตเครื่องซักผ้าฝาหน้า รวมไปถึงสินค้าตัวอื่นๆ อาทิ เครื่องดูดฝุ่นและเตาอบไมโครเวฟ เป็นต้น เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ นับเป็นโรงงานแห่ง ที่ 7 ของอีเลคโทรลักซ์ นอกจากอีเลคโทรลักซ์ ยังมี "ซีเมนส์" คู่ฟัดโดยตรงกับอีเลคโทรลักซ์ก็ประกาศสร้างฐาน การผลิตเครื่องฝาหน้าในไทยไปก่อนแล้ว ส่วน "แอลจี" ยักษ์เกาหลี คู่ฟัดโดยตรงกับ "ซัมซุง" และแชมป์เครื่องซักผ้าฝาบน ด้วยส่วนแบ่งตลาด 23% ก็มีฐานการผลิตเครื่องซักผ้าในไทยเช่นกัน

ส่วน "เวิร์ลพูล" ถึงแม้จะประกาศย้ายสำนัก งานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสิงคโปร์มาอยู่ในไทย ซึ่งการย้ายครั้งนี้เหมือนเป็นนัยบางอย่างในตลาดเครื่องซักผ้าเมืองไทย แม้ว่า "ราจีฟ เวอร์มา" กรรมการผู้จัดการ บริษัทเวิร์ลพูล ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะปฏิเสธการลงทุนสร้างโรงงานในไทยก็ตาม โดยเขาให้เหตุผลว่า ธุรกิจของเวิร์ลพูลยังเล็กเกินไป แต่ก็ยอมรับว่ายอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของเวิร์ลพูลในไทยในปี 2546 จะมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านบาท จากยอดขายรวมทั้งภูมิภาค 2,000 ล้านบาท และคาดด้วยว่าตลาดเครื่องซักผ้าโดยรวมจะเติบโต 15% ของมูลค่าตลาดรวม 6,000 ล้านบาท

ในขณะที่เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นก็มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนก็มองไทยเป็นฐานการผลิต โดยเฉพาะแบรนด์ "ไฮเออร์" ซึ่งมีแผนจะร่วมทุนในส่วนโรงงานผลิตตู้เย็นของไดสตาร์และแดวู อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงเหตุผลในการขยายฐานการผลิตในไทย แต่ละค่ายต่างให้เหตุผลว่า "ต้องการใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น" ทั้งๆ ที่ปัจจัยหลักของการสร้างฐานการผลิตมีมากกว่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นเพราะไทยกำลังจะพิจารณาลดภาษีให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นกรณีพิเศษ เริ่มต้นจากทีวีและสายใยแก้ว (ไฟเบอร์ออปติก) ตามด้วยเครื่องเล่นวีซีดี ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า ส่งผลให้ภาษีนำเข้าวัตถุดิบมาอยู่ที่ 0% ส่วนสินค้านำเข้าสินค้าสำเร็จรูปภาษีจะเหลือเพียง 5% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ในปี 2546 นอกจากกำแพงภาษีแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งน่าจะเพราะไทยมีทำเลที่เหมาะสมแก่การผลิตและส่งออกมากกว่าประเทศอื่นๆ รวมไปถึงภาวะการ เมืองที่มั่นคงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน บวกกับค่าเงินบาทที่เริ่มมีเสถียรภาพ เป็นกุญแจที่คลายความสงสัยว่า อีกไม่นานเราจะได้เห็นโรงงานตู้เย็นและเครื่องซักผ้าผุดในไทยอีกหลายแห่ง เพราะกำแพงภาษีที่โดนทลายไปนั่นเอง

แต่ถึงกระนั้น เมื่อย้อนรอยไปในปี 2544-2545 ไทยกลับเป็นตลาดที่ฝั่งเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มภาพและเสียง (AV) หลายค่ายทยอยกันย้ายโรง งานไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียมากที่สุด ซึ่งค่ายที่ย้ายไปแล้วก็มี มิตซูบิชิ เอ็นอีซี ฟิลิปส์ ซันโย และโตชิบา เป็นรายล่าสุด

ส่วนเหตุผลการย้ายโรงงานคราวนั้น ทุกค่ายต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ภายใต้กรอบข้อตกลงของอาฟต้า กำหนดให้โครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะมาผลิตในไทยสูงถึง 10-30% แต่ภาษีนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำเร็จรูปกลับกำหนดให้ลดกำแพงภาษีเหลือ 10% ในปี 2545 และ 5% ในปี 2546 ความเหลื่อมล้ำของภาษีทำให้ต้องปิดโรงงานในไทยไปในที่สุด ทว่าปี 2546 กลับกลายเป็นช่วงจังหวะที่ "ไทย" ถูกรุมล้อมให้เป็นฐานการผลิตใหญ่ของเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน (HA) และเนื้อหอมที่สุดในแถบอินโดจีน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.