รวมพลังพีซีไทย สร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์

ขณะที่ผู้ผลิตชิพประมวลผล หรือซีพียูยังคงมุ่งพัฒนาชิพ ที่มีความเร็วในการประมวลผลได้เร็วปานสายฟ้าแลบ แม้แต่คอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ซึ่งมีราคาถูกกว่าโทรศัพท์มือถือบางรุ่น มีความเร็วในการประมวลผลปาเข้าไปถึง 1 กิกะเฮิรตซ์ แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่มักจะเน้นการ ใช้งานพื้นๆ เป็นหลัก อาทิ พิมพ์เอกสาร ดูหนังฟังเพลง หรือแม้แต่เล่นเกม ซึ่งใช้ความสามารถ ในการประมวลผลเพียง 10% ของซีพียูเท่านั้นหรือว่าศักยภาพอีก 90% ที่เหลือจะถูกปล่อยทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ !!! เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีนักคอมพิวเตอร์กลุ่มหนึ่งคิดที่จะนำเอาพลังการประมวลผล "ส่วนเกิน" มาใช้เป็น "ขุมพลัง" เพื่อนำไปใช้ประมวลผลข้อมูล จำนวนมหาศาลทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ทำให้กลุ่มนักวิจัยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ราคาสูงลิ่วมาใช้งาน เพียงแค่หาทางนำเอาพลังงานเหลือทิ้งมาใช้ให้ได้เท่านั้น และนี่ถือเป็นแนวคิดพื้นฐานของ "การประมวลผลแบบกริด" (grid computing)

 

เสก "พีซี" ให้เป็น "ซูเปอร์คอมพ์"

ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และเครือข่าย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการไทยกริด อธิบายแนวคิดกริดให้ฟังว่า โดยทั่วไปแล้วคอมพิวเตอร์จะใช้ซีพียูประมวลผลงานหรือโปรแกรมเพียงตัวเดียว แต่ถ้าเราใช้ซีพียู หลายตัวมาช่วยกันประมวลผลงานแบบเดียวกันนี้ก็จะลดเวลาการประมวลผลลงได้ ยิ่งใช้ซีพียูจำนวนมาก เวลาในการประมวลผลก็จะยิ่งลดลง "ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดที่เรียกว่า คลัสเตอร์ คอมพิวเตอร์ (Cluster Computer) ขึ้นมา โดยนักวิทยาศาสตร์เอาคอมพิวเตอร์ ส่วนบุคคลที่ใช้โอเอสของลินิกซ์มาต่อพ่วงกันหลายๆ สิบตัว ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูง เพื่อใช้ประโยชน์จากซีพียู ของคอมพิวเตอร์ แต่ละเครื่อง ด้วยการแบ่งงานให้ซีพียูแต่ละตัวทำงาน ทำให้สามารถคำนวณงานขนาดใหญ่ได้เร็วขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์"

 

และเมื่อความเร็วในการรับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเริ่มมีความเร็วมากขึ้น แนวคิดระบบคลัสเตอร์จึงถูกนำมาใช้กับคอมพิวเตอร์จำนวนนับล้านๆ เครื่องที่ต่อผ่านเครือข่ายระดับโลกนี้ นั่นคือนำพลังที่เหลือใช้ของคอมพิวเตอร์ที่อยู่ต่างสถานที่กันมาสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์เสมือน ทำให้ผู้ใช้ที่เชื่อมเข้ามาในระบบสามารถใช้กำลังการคำนวณนับหมื่นนับแสนล้านครั้งต่อวินาที และพื้นที่เก็บข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ขนาดมหึมาให้เป็นประโยชน์ได้

ดร.ภุชงค์ เพิ่มเติมว่าการทำงาน ของกริดหรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ มีลักษณะเหมือนกับการกระจายแหล่งประมวลผล โดยมีแม่ข่ายกลางเป็นตัวควบคุม และตรวจสอบการจราจร ซึ่งจะแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ และสั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงาน เมื่องานแต่ละส่วนประมวล ผลเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำผลที่ได้มารวมกัน และสั่งงานต่อไปจนกว่างานชิ้นใหญ่จะแล้วเสร็จ

 

"ก่อนการประมวลผลจะเริ่มขึ้นนั้น แหล่งประมวลผล หรือคอมพิวเตอร์ที่เข้าร่วมในกริดจะต้องแสดงตน และบอกสถานที่ตั้ง นั่นหมายความว่าจะต้องมีการตกลงกันก่อนที่จะเข้าใช้ทรัพยากร ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างมาตรฐานร่วมกันระหว่างเครือข่าย เพื่อระบุโปรโตคอลเหมือนกับที่อินเทอร์เน็ตใช้ TCP/IP นั่นเอง" เท่ากับว่าการสร้างเครือข่ายเพื่อใช้ประโยชน์จากการประมวลผลแบบกริดนั้น จะต้องมีผู้ให้บริการเครื่องแม่ข่ายกลางที่ทำหน้าที่จดทะเบียน "บริการ" (service) และทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับทุกคนได้รู้ เปรียบเสมือน "ไซต์ท่า" ที่ข้างในไม่ใช่ข้อมูล หรือไดเรคทอรี่ส์ของข้อมูล แต่เป็นไดเรคทอรี่ส์ ของโปรแกรมใช้งาน โดยที่ทุกคนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันทั้งในฐานะผู้ใช้บริการ (ของคนอื่น) หรือให้บริการ (แก่ผู้อื่น) ได้ และผู้ใช้ที่อยู่ในเครือข่าย สามารถช่วยกันทำงานอย่างหนึ่งได้พร้อมๆ กัน ด้วยการแบ่งงานออกเป็นหลายๆ ส่วนกระจายออกไปให้กับเครื่องลูกข่าย ที่ลงทะเบียนว่าจะเข้ามาช่วยประมวลผล

 

เทคโนโลยีในลักษณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ กริด และ เพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) โดยกริดจะเป็นลักษณะคลัสเตอร์เชื่อมต่อคลัสเตอร์ (คลัสเตอร์กริด) แต่เพียร์ทูเพียร์จะเป็นลักษณะพีซีเชื่อมพีซี (พีซีกริด) ในส่วนของกริดนั้นปัจจุบันมีหลายองค์กรที่พยายามสร้างมาตรฐานในการเชื่อมต่อระบบกริดเข้าด้วยกัน แต่ที่ได้รับความนิยมมากสุด ก็คือ เทคโนโลยีของ "โกลบัส" (https://www.globus.org) โครงการวิจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางซอฟต์แวร์ เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์ สามารถทำงานร่วมกันได้ในลักษณะของกริด โดยคณะทำงานกำลังพัฒนามาตรฐานโปรโตคอลด้านความปลอดภัย และบริการต่างๆ เช่น การค้นหาแหล่งทรัพยากร การจัดการทรัพยากร การเข้าถึงข้อมูล การจัดลำดับการประมวลผล และห้องสมุดซอฟต์แวร์ เป็นต้น

 

ตัวอย่างโครงการที่ประยุกต์แนวคิดเพียร์ทูเพียร์ไปใช้แล้วคือ "เซติแอตโฮม" (Seti@home ย่อมาจาก Search for Extraterrestial Intelligence) หรือโครงการค้นหามนุษย์ต่างดาว ที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จากทั่วโลกนับล้านเครื่องมาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์ คลื่นวิทยุ ที่กวาดหาคลื่นไปทั่วท้องฟ้าเพื่อหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตนอกโลก ทีมงานเซติแอตโฮมได้พัฒนาโปรแกรมพักหน้าจอ (สกรีนเซิร์ฟเวอร์) ขึ้นมาให้อาสาสมัครร่วมโครงการดาวน์โหลดไปไว้ที่เครื่องของตัวเอง และโปรแกรมดังกล่าวจะถูกเรียกขึ้นมาทำงาน หากคอมพิวเตอร์ที่ร่วมโครงการถูกเปิดทิ้งไว้เฉยๆ และทางโครงการจะใช้หน่วยประมวลผล หรือซีพียู ของคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมาประมวลผลข้อมูล ซึ่งหากไม่ใช้วิธีนี้อาจจะต้องใช้เวลาประมวลผลนับล้านปี ถึงจะคำนวณข้อมูลได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ดร.ภุชงค์ มองว่าในท้ายที่สุดแล้วภายใน 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีทั้งสองจะผนวกเข้าหากันโดยมีเวบเซอร์วิสเป็นเทคโนโลยีแกนหลัก นั่นคือทุกคนในเครือข่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ใช้ และผู้ให้บริการนั่นเอง

 

ปูมหลัง "ไทยกริด"

สำหรับโครงการประมวลผลแบบกริดในไทยนั้น เกิดขึ้นจากทีมงานทางด้านระบบคลัสเตอร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ และทีมงานของ ผศ.ดร.วรา วราวิทย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสารสนเทศ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ซึ่งตกลงใจก่อตั้งโครงการไทยกริด (https://www.thaigrid.net) ขึ้นเมื่อปี 2542 ด้วยการเชื่อมต่อคลัสเตอร์ทั้งสองสถาบันเข้าหากัน เพื่อสร้างเป็นระบบกริดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเครือข่ายความเร็วสูงเพิ่มเติมแก่ทาง สจพ.

 

ดร.ภุชงค์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือด้านกริดขึ้นมานั้น เนื่องจากความต้องการเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ในการการคำนวณข้อมูล จำนวนมหาศาลของนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทย ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวมีราคาสูงเกินความสามารถของนักวิจัยไทยที่จะหางบประมาณมาจัดซื้อได้ "ผมเรียนจบทางด้านนี้มา ก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำได้ จึงใช้พีซี และไฮสปีดเน็ตเวิร์ค มาต่อพ่วงกัน และจัดการลงซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นฟรีแวร์ ที่ดาวน์โหลด มาจากอินเทอร์เน็ต จากนั้นเราก็เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีของเราบางส่วน และเขยิบขึ้นมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายสามารถสร้าง คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงใช้ได้เอง"

 

ทั้งนี้ ไทยกริด เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยด้านการประมวลผลสมรรถนะสูงภายในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมพลังการคำนวณของระบบคอมพิวเตอร์ที่กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านงานวิจัยต่างๆ ปัจจุบันไทยกริดเชื่อมคลัสเตอร์จาก 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำนวน 48 โหนด (ซีพียู) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ 12 โหนด และสถาบันเทคโนโลยีเอเชีย (เอไอที) 8 โหนด นอกจากนี้ ยังมีอีกกว่า 100 โหนดจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนคเทค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสุรนารี ที่เตรียมพร้อมจะเชื่อมเข้ากับระบบ หากสำเร็จไทยกริดจะมีความสามารถในการประมวลผลราว 120 กิกะฟลอป (1 กิกะฟลอป เท่ากับ 1,000 ล้านครั้งต่อวินาที) หรือเทียบเท่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดย่อมที่ระดับ 20-30 กิกะฟลอป จำนวน 4 เครื่อง นอกจากนี้ คณะทำงานกำลังพยายามปรับปรุงระบบ ให้สามารถใช้งานร่วมกับโกลบัส และสร้างไซต์ท่า (portal site) เพื่อให้สั่งงานผ่านคลัสเตอร์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย

 

"เรามีพันธมิตรคลัสเตอร์ทั่วประเทศราว 14 กลุ่ม แบ่งเป็นคนทำซิสเต็ม 2-3 กลุ่ม ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นคนทำแอพพลิเคชั่น ปัจจุบันจำนวน คลัสเตอร์กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่หนึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากพิจารณาแล้ว การเพิ่มขึ้นโดยที่ยังขาด คนดูแลที่มีความเชี่ยวชาญนั้น ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ดังนั้นผมจึงพยายามผลักดันให้เกิดเป็นธุรกิจ เพราะจะทำให้การจัดการง่ายขึ้น" ดร.ภุชงค์ กล่าว

 

ขณะที่ ดร.วรา กล่าวเสริมว่าระบบกริดจะยากในแง่ของการจัดการระบบ เพราะต้องคำนึงถึงระบบความปลอดภัยเป็นหลัก ปัญหาที่ไทยกริดเจอ อยู่ในขณะนี้คือ คนที่สามารถจัดการระบบที่ซับซ้อนเทียบเท่ากับเครื่องในระดับเมนเฟรมได้นั้นมีเพียง 2 ทีมเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วไทยกริดต้องการ คนดูแลอย่างเป็นระบบจริงๆ 3 คน ด้วยงบประมาณต่อปีไม่น่าจะเกิน 1 ล้านบาท แต่หากจะพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ให้ลึกขึ้นนั้น จะต้องใช้งบมากกว่า 2-3 เท่า "เราชินกับเทคโนโลยีในแง่เป็นผู้ใช้มากกว่า ดังนั้นเราจึงมองไม่เห็นความจำเป็นของการเป็นผู้พัฒนา เห็นได้จากงบประมาณสนับสนุนไทยกริดที่มีจำนวนไม่มากนัก"

 

ความก้าวหน้าของโครงการ

ขณะนี้ โครงการไทยกริดอยู่ในช่วงการทดลองติดตั้งและทดสอบการใช้งานซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเน้นการรันงานข้ามไปมาระหว่าง คลัสเตอร์ผ่านเครือข่ายไทยสารที่ให้ลิงค์เชื่อมต่อที่ระดับความเร็ว 2 เมกะบิตต่อวินาที นอกจากนี้ ทีมงานยังได้พัฒนาซอฟต์แวร์ จัดลำดับงานที่ทำหน้าที่กระจายงานและตรวจสอบสถานะของระบบด้วย สำหรับกิจกรรมที่โดดเด่นของไทยกริดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความร่วมมือกับกริดระหว่างประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่าฐานคลัสเตอร์ ในประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้วได้เข้าร่วมแสดงผลงานในงานประชุมเอเชีย-แปซิฟิก แอดวานซ์ เน็ตเวิร์ค (เอแพน) ที่นครเซี่ยงไฮ้ ด้วยการเชื่อมไทย กริดเข้ากับเอเชีย-แปซิฟิก กริด (เอพีกริด) เพื่อสาธิตการรันโปรแกรมเรนเดอริง (rendering) กราฟฟิกผ่านคอมพิวเตอร์ข้าม 3 ประเทศจาก 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เนคเทค มหาวิทยาลัยฮ่องกง และสถาบันเอไอเอสที (National Institute of Advanced Industrial Science and Technology) ของญี่ปุ่น

"เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีของเราเทียบเท่าได้กับต่างประเทศ ซึ่งการสาธิตครั้งนั้นใช้ตัวแจกงานของเราเป็นหลัก นอกจากนี้ ในงานซูเปอร์คอมพิวติ้ง 2002 ญี่ปุ่นก็ขอแชร์เครื่องของเราไปสาธิตการพยากรณ์อากาศด้วย ที่สำคัญระบบทดสอบกริดในระดับเอเชีย-แปซิฟิกนั้นได้ใช้ซอฟต์แวร์ของ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นตัวตรวจสอบระบบที่มีตัวประมวลผลร่วมราว 250 โปรเซสเซอร์ จากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี ไทย และจากศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ซานดิเอโก สหรัฐ (https://www.apgrid.org/scmsweb/scms_home.html)"

 

ส่วนกิจกรรมในไทยที่ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายกริดในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้แก่ การประชุมทางไกลระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสุรนารีผ่านไทยแอ็กเซสกริด (Thai Access Grid) โครงการย่อยของไทยกริด ซึ่งเป็นการสร้างระบบการประชุมระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และไอพีมัลติคาสแบ็คโบน และในปลายปีนี้ อาจมีการสาธิตการเรนเดอริงกราฟฟิกจาก 100 โหนดที่เชื่อมไทยกริดเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการไทยกริดในช่วงหลังไม่ค่อยขยายตัวเท่าที่ควร เนื่องจากคลัสเตอร์ที่ตั้งขึ้นมาใหม่หลายๆ แห่งนั้น ยังไม่พร้อมที่จะเชื่อมต่อ เข้าระบบกริด อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องขาดผู้ดูแลที่เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ อาจเป็นเพราะลักษณะการทำงานของ ไทยกริดเป็นแบบอาสาสมัคร และไม่มีงบประมาณสนับสนุนอย่างเป็นทางการ

 

สถานการณ์กริดโลก

สำหรับเทคโนโลยีกริดในปัจจุบันนั้น ดร.วรา มองว่าเหมือนกับอินเทอร์เน็ตในยุค 1980 ที่ยังไม่มีมาตรฐานที่ลงตัว แต่พอ 1985 ทุกอย่างก็สามารถ ใช้งานได้หมด ดังนั้นกริดในช่วงนี้จึงอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจัดตั้งมาตรฐาน คาดว่าอีกราว 5 ปีข้างหน้า เราจะเห็นการใช้งานกริดที่แพร่หลายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศต่างก็ทุ่มเงินจำนวน มหาศาลกับการวิจัยและพัฒนา โครงการกริดคอมพิวติ้ง รวมทั้งบริษัท อย่าง ไอบีเอ็ม ซัน ไมโครซิสเต็มส์ และไมโครซอฟท์ด้วย "ตอนนี้ต่างประเทศกำลังบ้าคลั่งทำกริดกันมาก ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการทดสอบโครงสร้างพื้นฐาน และพยายามสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมาใช้งาน อาจกล่าวได้ว่ากริด ณ ปัจจุบันเหมือนกับอินเทอร์เน็ตเมื่อทศวรรษ 80 ที่เป็นการทดสอบส่งอีเมลข้ามไปมา หากวัดเทคโนโลยีของไทยในเรื่องกริด ตอนนี้จะเห็นได้ว่าเรามีเทคโนโลยีพอที่จะเข้าไปร่วมกับเขาได้สบาย ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ไทยก็จะเป็นผู้หนึ่ง ที่มีส่วนสร้างเทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบต่อโลกได้เท่าๆ กับอินเทอร์เน็ตปัจจุบัน ที่สำคัญเราจะได้ประโยชน์เชิงรุกอย่างมหาศาลด้วย"

 

จะเห็นได้ว่าโครงการไทยกริดเริ่มขึ้นใกล้เคียงกับโครงการกริดอื่นๆ ทั่วโลก แต่การสนับสนุนในไทยดูจะสู้แรงจากต่างประเทศไม่ได้ เห็นได้จากการทุ่มเงินสนับสนุนโครงการกริดของเกาหลีที่มีมากถึง 50 ล้านดอลลาร์ อังกฤษราว 100 ล้านปอนด์ สหรัฐ 50 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นให้ทุนสนับสนุนถึง 100 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่โครงการไทยกริดยังเป็นโครงการ "อาสาสมัคร" อยู่ ดร.หนุ่มทั้งสองมองไปในทิศทางเดียวกันว่าการลงทุนด้านกริดถือเป็นการสร้างฐานสำหรับอนาคต โดยขณะนี้เป็นช่วงที่ต้องให้ความสำคัญ กับระบบโครงสร้างพื้นฐานก่อน ยังไม่มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ชัดเจน ดังนั้นจึงยากที่จะอธิบายให้หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณเข้าใจได้

"เรามองว่าแหล่งให้ทุนสนับสนุนหรือกระทรวงไอซีทีน่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางลึก และการมองไปยังอนาคต เพื่อเป็นฝ่ายรุกทางเทคโนโลยีบ้าง ไม่ควรมุ่งแต่การประยุกต์ใช้ในปัจจุบันที่ทำให้เราต้องบริโภค เทคโนโลยีต่างประเทศเกือบตลอดเวลา"

 

พร้อมยืนด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะไม่สามารถเข้าไปร่วมสร้างมาตรฐานกริดได้ แต่ ดร.ภุชงค์ก็มองว่าทางออกที่ดีที่สุดก็คือการพัฒนาบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านนี้เตรียมไว้ และเมื่อถึงเวลานั้น ไทยจะมีความพร้อมทั้งเป็นผู้รับ และผู้สร้างเทคโนโลยีสนับสนุนได้ในคราวเดียว "นอกจากพัฒนาบุคลากรแล้ว เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองให้ได้ด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้ประเทศเราสามารถคงอยู่ได้ในประชาคมโลกได้ ผมมั่นใจว่าคลัสเตอร์คอมพิวติ้งที่เราทำในขณะนี้มาถึงจุดที่เราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง สมมติว่าวันนี้เราทะเลาะกับอเมริกา และเขาห้ามไม่ให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ แต่เรายังรันคลัสเตอร์ของเราได้ และยังมีภาษาโปรแกรมของเราเองด้วย"

 

นอกจากการคงอยู่ด้วยตนเองได้แล้ว ไทยกริดยังสร้างประโยชน์มากกว่านั้น เริ่มด้วยการเป็นเครือข่ายที่แบ่งปันทรัพยากรระหว่างนักวิจัยในประเทศ ช่วยให้ผู้ที่มีทรัพยากรน้อยสามารถเริ่มงานวิจัยได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคำนวณ หรือการจัดเก็บข้อมูล ตัวอย่างเช่นจากเดิมที่ต้องใช้เวลาประมวลผลเป็นอาทิตย์ๆ แต่หากเข้าร่วมในระบบกริดแล้วอาจลดเวลาในการประมวลผลเหลือเพียง 2 ชั่วโมง ขณะเดียวกันไทยกริดยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กำลังคนด้านเทคโนโลยีหลายอย่างในแนวลึก อาทิ การคำนวณแบบกระจาย ระบบคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ไทยกริดยังเป็นโครงการที่เตรียมความพร้อมของประเทศสำหรับเทคโนโลยีในอนาคต ดร.วรา บอกว่าเราต้องมีกลุ่มคนที่เข้าใจว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง และพร้อมเผยแพร่ให้กับคนทั่วประเทศ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้กับตลาดด้วย

 

"ในอนาคตสิ่งที่น่าสนใจในเทคโนโลยีนี้ คือ "กริดอีโคโนมี" หรือการคิดค่าบริการในการใช้เครือข่าย เช่น ผมต้องการใช้งานหน่วยประมวลผล 30 โหนด เพื่อคำนวณงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ผู้ให้บริการกลางก็จะคิดอัตราค่าบริการต่อจำนวนยูนิตที่ใช้ ซึ่งผมเชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วบริการกริดจะมีลักษณะเหมือนกับโทรศัพท์มือถือ หรือแนวคิดเดียวกับโรงไฟฟ้าเสรี นั่นคือเมื่อมีกำลังการประมวลผลเหลือ ก็สามารถนำออกมาขายให้ส่วนกลางได้ และแน่นอนว่าจะทำให้เกิดธุรกิจอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย" ดร.ภุชงค์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 24 เมษายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.