"ไทพัฒ-2" ปลุกกระแสดาวเทียมไทย ดีเดย์ขึ้นฟ้าก่อน พ.ย.

ดาวเทียมไทพัฒ-2 มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ฝีมือการสร้าง ของมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีมหานคร เตรียมพร้อมทะยานขึ้นฟ้าอีกรอบ หลังปล่อยไทพัฒ-1 โดดเดี่ยว โคจรบนห้วงอวกาศ นานกว่า 4 ปี ย้ำดวงใหม่นี้คือ ต้นแบบของดาวเทียมเพื่องานวิจัย ที่ต้องการสร้างเป็นสื่อการเรียน การสอนภายในมหาวิทยาลัย และเป็นต้นแบบ ของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เผยปั้น "ไทพัฒ-2" ให้เป็นทั้งดาวเทียม สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และดาวเทียมที่หนุนเทคโนโลยี 3 จี

 

รองศาตราจารย์ ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ผู้รับผิดชอบโครงการดาวเทียมไทพัฒของมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเตรียมจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็ก "ไทยพัฒ-2" ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบ และพัฒนาของมหาวิทยาลัยเอง ขึ้นสู่วงโคจรประมาณเดือนสิงหาคม หรือพฤศจิกายนนี้ และเริ่มให้บริการได้หลังจากนั้น 2 เดือน ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยฯ เสร็จสิ้นขั้นตอนจัดสร้างดาวเทียมดวงนี้แล้ว และอยู่ระหว่างติดต่อประสานงานบริษัทผู้จัดส่งดาวเทียม คาดว่าจะลงนามสัญญาการจัดส่งได้ในเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่อง หลังจากมหาวิทยาลัยจัดส่งส่งดาวเทียมเพื่อการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ในชื่อ "ไทพัฒ-1" ขึ้นสู่วงโคจรไปในปี 2541 ด้วยงบประมาณโครงการราว 300 ล้านบาท

 

เพิ่มประสิทธิภาพหนุน 3 จี

ขณะเดียวกัน "ไทพัฒ-2" ยังได้รับการพัฒนาต่อยอดจากการเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร หรือสำรวจสภาพดินฟ้าอากาศ หรือสภาพภูมิประเทศ ให้มีประสิทธิภาพใช้งานด้านความมั่นคงด้วย เช่น ค้นหาพื้นที่ในบริเวณที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า การหาพิกัดพื้นที่ หรือบริเวณที่ปลูกยาเสพติด การค้นหาพิกัดของโรงงาน แหล่งค้ายาบ้า เป็นต้น

ขณะที่ในเรื่องของภาพถ่ายจากสถานที่จริง ก็จะเห็นชัดเจนมากขึ้นกว่าดาวเทียมดวงแรก ซึ่งสามารถเห็นภาพในระยะใกล้กว่า 30 เมตร จากเดิมอยู่ในระยะ 60 เมตร

 

อาจารย์สุเจตน์ กล่าวว่า ดาวเทียมดวงนี้ ยังสามารถหนุนต่อเทคโนโลยีโทรศัพท์ในยุคที่ 3 หรือ 3จี ด้วย โดยมองว่าเทคโนโลยีดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในแนวโน้มของการสื่อสารสมัยใหม่ของคนไทยในไม่ช้านี้ "แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไปมากนัก แต่ในส่วนของระบบที่เข้ามาสนับสนุนนั้นยังมีไม่มาก ดังนั้นจึงเชื่อว่า ไทพัฒ-2 นี้จะสามารถเข้ามาเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สนับสนุนโทรศัพท์ 3 จีได้"

 

เป้าหมายแท้จริง

ทางด้านวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีดาวเทียมที่สร้างขึ้นในประเทศไทยโดยคนไทย ซึ่งการตัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีลงไป ทำให้ดาวเทียมนี้ใช้เงินลงทุนจัดสร้างไม่สูงนัก

โดยใช้บุคลากรของมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสร้าง ซึ่งนับเป็นการพัฒนาบุคลากรในด้านเทคโนโลยีดาวเทียมด้วย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยใช้งบประมาณออกแบบ และสร้างดาวเทียมดวงนี้ราว 40-70 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายในการส่งดาวเทียมประมาณ 500,000-700,000 ดอลลาร์สหรัฐ "ดาวเทียมไทพัฒ-2 นี้ ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ไปในเชิงธุรกิจ เพราะเราตั้งใจที่จะสร้าง และพัฒนาขึ้นเพื่อการวิจัย และเป็นไปเพื่อการศึกษาสำหรับบุคลากรในมหาวิทยาลัยเอง โดยเฉพาะนักศึกษาในระดับปริญญาโท ในสาขาวิศวกรรมดาวเทียม รวมถึงหน่วยงานภายนอกที่สนใจ และมีเทคโนโลยีที่เกื้อหนุนได้กับดาวเทียมดวงนี้"

 

พร้อมหนุนสื่อสารไร้สาย

สำหรับดาวเทียมไทยพัฒ-2 จะยังคงใช้สถานีภาคพื้นดิน ในบริเวณเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 11 อาคาร D ในบริเวณมหาวิทยาลัย แต่ได้เพิ่มระบบจานรับสัญญาณย่านความถี่ ซึ่งจะทำให้ความเร็วการสื่อสารข้อมูลเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันใช้ย่านความถี่ 76 กิโลบิตเป็น 512 กิโลบิต ทั้งนี้ ระดับความเร็วในการรับส่งข้อมูลข้างต้น จะสามารถรองรับเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในระบบวายด์แบนด์ซีดีเอ็มเอ หรือเทคโนโลยี 3 จีของยุโรปได้ด้วย

 

ความร่วมมือกับต่างประเทศ

นอกจากนี้ โครงการดาวเทียมไทพัฒ-2 ยังมีความร่วมมือกับประเทศอัลจีเรีย ไนจีเรีย จีน อังกฤษ และไทย ในการปล่อยดาวเทียมของแต่ละประเทศร่วมกันเป็นฝูงดาวเทียม (Constellation) เพื่อให้สามารถถ่ายภาพเหนือทุกพื้นที่ได้ทุกวัน ซึ่งจะมีประโยชน์มาก ขณะนี้อัลจีเรียได้ส่งดาวเทียมดวงแรกไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยพยายามเผยแพร่ความรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ เพื่อปูพื้นฐานในการจัดหางบประมาณ สร้างดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติขึ้นเองในประเทศ เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศ และสร้างอุตสาหกรรมอวกาศขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งเข้าร่วมในคณะกรรมการด้านกิจการอวกาศของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ โครงการดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) ของกระทรวงคมนาคม โครงการดาวเทียม THEOS ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA : Geo-Informatics and Space Technology Development Agency) และศูนย์พัฒนากิจการอวกาศกระทรวงกลาโหม

 

ชี้รัฐควรเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง

อาจารย์สุเจตน์ กล่าวว่า ดาวเทียมไทพัฒนี้ จะสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารในสมัยปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยดาวเทียมในลักษณะนี้น่าจะมีการสร้างหรือพัฒนาต่อ ทั้งนี้ในส่วนของมหาวิทยาลัยนั้นเคยมีแนวทางที่จะพัฒนาดาวเทียมในรูปแบบนี้ดวงที่ 3 ต่อ เพราะเห็นว่ามีความสำคัญแต่เห็นว่าเกินความสามารถของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจมองว่าเป็นเชิงธุรกิจมากไป "ผมมองว่า ในประเทศไทยเราตอนนี้ ได้ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมค่อยข้างเยอะ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และล้ำหน้า แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่มีหน่วยงานใดเลยในการเข้ามาดูแลกำกับ จึงทำให้เสมือนว่ารัฐบาลมองไม่เห็นถึงความสำคัญ จริงๆ แล้วบ้านเราก็มีหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องดาวเทียมอยู่ อย่างคณะกรรมการกำกับกิจการอวกาศ แต่ก็เป็นเพียงหน่วยงานย่อยๆ ซึ่งมองว่า คนที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจ นั่นก็คือ รัฐบาล" พร้อมกันนี้ เขายังเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย ที่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดาวเทียมล้ำหน้าประเทศไทยแล้ว เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ

 

ล้อมกรอบ / เกาะติดการทำงานไทพัฒ-2 และสถานีภาคพื้น

ดาวเทียม "ไทยพัฒ-2" มีระบบหรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารบนดาวเทียม (Payload) ที่สำคัญคือ การสื่อสารในย่านเอส-แบนด์ (S-Band) เพื่อทดสอบการสื่อสารแบบวายด์แบนด์ ซีดีเอ็มเอ (WCDMA) ด้วยความเร็ว 8 เมกะบิตต่อวินาที ที่ใช้เป็นต้นแบบสำหรับโครงการโทรศัพท์ระบบ 3 จี โดยสิ่งที่ได้จากโครงการนี้ จะมีประโยชน์ในการสร้างอุตสาหกรรมสำหรับอุปกรณ์ภาคพื้นดิน (Ground Segment) ของการสื่อสารดาวเทียมในอนาคต ขณะเดียวกันยังมีความสามารถในส่วนของระบบถ่ายภาพแบบ Array CCD ความละเอียด 30 เมตร ในย่านแสงสี แดง เขียว และใกล้อินฟาเรด ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกับภาพจากดาวเทียมไทพัฒ-1 ขณะที่ ในส่วนของสถานีภาคพื้นดินของดาวเทียมไทพัฒ ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครนั้น นอกจากใช้เพื่อการควบคุมสื่อสาร กับดาวเทียมไทพัฒแล้ว ยังสามารถใช้งานด้านติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่ใช้งานความถี่ในย่านวิทยุสมัครเล่นดวงอื่นด้วย

 

ปัจจุบัน ระบบคอมพิวเตอร์ภายในสถานีภาคพื้นดินทั้ง 4 เครื่อง เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายและทำงานประสานกันอย่างอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง โดยคอมพิวเตอร์แทรคกิ้ง (TRACKING) จะทำหน้าที่คำนวณตำแหน่ง และเวลาที่ดาวเทียมจะโคจรขึ้นมาพ้นขอบฟ้ามาให้สถานีภาคพื้นดินติดต่อได้ คอมพิวเตอร์คอนโทรล (CONTROL) จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์สื่อสาร และสายอากาศให้มี ทิศทางชี้ไปยังตำแหน่งของดาวเทียมตลอดเวลาที่ทำการสื่อสาร ขณะที่ คอมพิวเตอร์เทเลเมทรี (TELEMETRY) จะทำหน้าที่รับข้อมูลสถานะของดาวเทียมเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และควบคุมต่อไป ส่วนคอมพิวเตอร์ดาต้า (DATA) ใช้เก็บข้อมูลที่จะส่งขึ้นไปยังดาวเทียมและรับข้อ มูลเช่นภาพถ่ายจากดาวเทียมโดยอัตโนมัติ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.