ซันชูธรูพุทคอมพิวติ้งขจัดปัญหาสื่อสารบนเครือข่าย

 

จากโลกของข้อมูลที่หลั่งไหลมาจากทุกทิศทุกทาง ผ่านสื่อต่างๆ ในยุคที่อุปกรณ์ทุกประเภทต่างเชื่อมต่อเข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยข้อมูลจากบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ป. (ไอดีซี) ประมาณการว่า ในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือ พ.. 2555 อุปกรณ์หลากหลายประเภทประมาณ 17,000 ล้านชิ้นจะส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เฉพาะคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่จะเป็นสื่อในการส่งผ่านข้อมูลเช่นอดีต

 

สำหรับอุปกรณ์ที่จะเชื่อมต่อถึงกันเพื่อส่งข้อมูลข้ามกันไปมามีหลากประเภท ประกอบด้วย คอมพิวเตอร์ 1,080 ล้านเครื่อง, อุปกรณ์มือถือ (แฮนด์เฮลด์) 2,600 ล้านเครื่อง, อุปกรณ์เพื่อความบันเทิง 1,300 ล้านเครื่อง, อุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ 400 ล้านเครื่อง, อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนและของเล่น 11,000 ล้านเครื่อง ไม่เพียงเท่านั้น แต่ปริมาณที่มากมายของอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ จะสร้างให้เกิดการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันสูงถึง 1 ล้านล้านครั้ง ยิ่งเมื่อมีระบบอาร์เอฟไอดี แท็ก แอนด์ เซ็นเซอร์ (RFID Tags and Sensors) เข้ามาเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างผลิตภัณฑ์ในระบบซัปพลายเชน ทั้งนี้ ปริมาณงานที่กระจัดกระจายมาจากหลากหลายของประเภทอุปกรณ์ และสิ่งแวดล้อม ยิ่งทำให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มีปัญหาด้านการให้บริการประมวลผล

 

แนวคิดธรูพุท คอมพิวติ้ง

นายเอ็ด วอลเดซ (Ed Valdez) รองประธานฝ่ายการตลาด ด้านผลิตภัณฑ์ประมวลผล และเครือข่าย บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ อิงค์. กล่าวว่า จากความหลากหลายของแหล่งที่มาของข้อมูล และปริมาณข้อมูลดังกล่าว ซัน จึงนำแนวคิดธรูพุท คอมพิวติ้ง (Throughput Computing) ซึ่งสนับสนุนการทำงานร่วมกันบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างในการรับส่งข้อมูล โดยซัน ได้พัฒนาเทคโนโลยีจาวา การ์ด ขึ้นรองรับการทำงาน โดยเพิ่มขีดความสามารถในการประมวลผลของชิพซีเอ็มที (Chip Multithreading) ซึ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด ธรูพุท คอมพิวติ้ง มาช่วยบริหารจัดการระบบที่หลากหลายได้ จากการดึงศักยภาพต่างๆ ที่มีให้เพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด เพื่อรองรับการประมวลผลจำนวนมหาศาล และพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้รองรับการส่งข้อมูลผ่านแบนด์วิธใหญ่ๆ และรวดเร็ว

 

สำหรับแนวคิดธรูพุท คอมพิวติ้ง จะทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานทุกอย่างในเวลาเดียวกันได้ หรือถ้ามีหน่วยประมวลผลหลายตัวก็จะทำงานแยกกันได้เลย ทั้งนี้ต่างจากการทำงานประมวลผลในปัจจุบัน ที่หน่วยประมวลผลต้องรับข้อมูลเข้ามาจากระบบเครือข่าย แล้วส่งไปประมวลผล เมื่อประมวลผลเสร็จจึงส่งผลรับออกมา จากนั้นจึงรับข้อมูลใหม่มาประมวลผล หรือเรียกว่า ทฤษฎีปิงปอง คือการสะท้อนกลับไปกลับมา ทำให้ต้องมีระยะเวลารอคอย (Delay Time) ซึ่งผู้ใช้ระบบใหม่ จะได้ประโยชน์จากตลาดใหม่ๆ การส่งผ่านข้อมูลอย่างสะดวกในเครือข่าย มีความปลอดภัย และลดความซับซ้อนลง โดยปัจจุบัน ชิพดังกล่าวกำลังพัฒนาสู่เทคโนโลยียุคที่ 2 ภายใต้ชื่อรหัส ไนแองการา แฟมิลี่ ซึ่งในปี 2548 จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จากนั้นยังพัฒนาต่อเนื่องถึงยุคที่ 3 ภายใต้ชื่อรหัส ร็อค แฟมิลี่ ที่จะออกมาราวๆ ปี 2549 ส่วนเทคโนโลยียุคที่ 1 นั้น ได้ออกเทคโนโลยีอัลตร้าสปาร์ค IV และอัลตร้าสปาร์ค V มาแล้ว โดยทำงานบนแพลตฟอร์มชิพออพเทอรอน และซีออน ของเอเอ็มดี พร้อมกันนี้ ยังคาดว่าอีก 4 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีมูลค่าจากการทำตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์เครือข่าย และระบบเชื่อมต่อข้อมูลประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ลดความซับซ้อนบนเครือข่าย

ด้านมาร์ค คาเนปา รองประธานฝ่ายบริหาร บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า ซันมีภารกิจหลักต่อการจัดการและแก้ไขปัญหาความซับซ้อนของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อการจัดเก็บข้อมูล สำหรับลูกค้าทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้ให้บริการต่างๆ (เซอร์วิส โพรไวเดอร์) บนมาตรฐานเทคโนโลยีระบบเปิด และรองรับเทคโนโลยีจาวา ซึ่งจะสามารถทำงานร่วมกันบนเครือข่ายเดียวได้ ทั้งนี้ บริษัทใช้งบประมาณลงทุนวิจัยและพัฒนาประมาณ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ตามกำหนดออกผลิตภัณฑ์ใหม่ไตรมาสละ 1 ครั้ง ซึ่งบริษัทมีผลิตภัณฑ์ 3 โซลูชั่นให้บริการ คือ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นการให้บริการ โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 3 ด้านหลัก คือ การจัดบริการที่เหมาะสมบนระบบเครือข่าย, มุ่งสนับสนุนความปลอดภัยบนระบบเคลื่อนที่ (โมบิลิตี้ วิธ ซีเคียวริตี้) ซึ่งปัจจุบันการทำงานจะสามารถเข้าสู่ระบบเครือข่ายของสำนักงานจากที่ต่างๆ เช่น ซันเองใช้สมาร์ท การ์ด อำนวยความสะดวกให้พนักงานทำงานได้จากทุกที่ โดยไม่ต้องหิ้วคอมพิวเตอร์ติดตัว และการจัดการด้านราคา ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมตรงความต้องการของลูกค้า ในลักษณะโซลูชั่นต่างๆ

 

ประสิทธิภาพเพิ่ม

ขณะที่นายสตีฟ แคมป์เบลล์ รองประธานผลิตภัณฑ์ระบบเอ็นเตอร์ไพรซ์ บริษัทเดียวกัน กล่าวถึงผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ของซันที่ใช้เทคโนโลยีอัลตร้าสปาร์ค IV ว่า จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในราคาต่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้นราว 50% ซึ่งผู้ใช้อัลตร้าสปาร์ค III ของซันสามารถอัพเกรดมาเป็นเทคโนโลยีใหม่นี้ได้โดยไม่เสียเวลาเปลี่ยนระบบ ต่างจากเครื่องแม่ข่ายยี่ห้ออื่น นอกจากนี้ นโยบายของซัน จะเสนอระบบให้ตรงความต้องการลูกค้า ซึ่งมีทั้งขยายงานตามแนวลึก (Scale Up) ที่เหมาะสำหรับการมีฐานข้อมูลจำนวนมากๆ และแนวกว้าง (Scale Out) เช่น เวบ เซิร์ฟเวอร์ ที่ไม่ได้เก็บข้อมูลโดยตรง แต่ไปดึงข้อมูลจากที่อื่นมาเผยแพร่ ทั้งนี้ คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ สำหรับตลาดเอ็นเตอร์ไพรซ์ เซิร์ฟเวอร์ คือ ซันไฟร์ อี 6900 และตลาดโลว์เอนด์ เซิร์ฟเวอร์ คือ ซันไฟร์ วี20ซี ที่ใช้ชิพเอเอ็มดี ออฟเทอรอน สำหรับตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่จะอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม, อุตสาหกรรมการผลิต, รัฐบาล, และอุตสาหกรรมการเงิน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 8 เมษายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.