รายงาน : "ทีแอลโอ" ทางออกของปัญหา "งานวิจัยไทย" "

ความคิดของการจัดตั้ง "ฟอรัม" เพื่อสานแนวคิด "องค์กรถ่ายทอดเทคโนโลยี" (Technology Licensing Organization : TLO) หรือทีแอลโอ ที่เป็นรูปธรรมและมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน คือ "ภารกิจแรก" ของเหล่าองค์กรเทคโนโลยีที่มีบทบาทในไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างหน่วยงานกลางทำหน้าที่ผลักดัน "งานวิจัยไทย" ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน รวมถึงการหาจุดลงตัวในการสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ให้สามารถต่อยอดงานวิจัยได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม และด้วยความมั่นใจที่ว่า "ทีแอลโอ" จะสามารถดึงให้นักวิจัยหันมาจดสิทธิบัตรปกป้องผลงานมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา งานวิจัยไทยส่วนใหญ่มักถูกละเมิด และถูกดองโดยไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์

 

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม ที่ผ่านมา สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้เชิญตัวแทนของหน่วยงานทางด้านเทคโนโลยีจากไทย ให้เข้าร่วมดูงาน และสัมมนาภายใต้หัวข้อ "Technology Licensing For Thailand" (THTL) ที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับหน่วยงานด้านเทคโนโลยีของไทยที่ได้รับเชิญครั้งนี้ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น

 

ตั้ง "ฟอรัม" ประสานความร่วมมือ

ผศ.ประยูร เชี่ยววัฒนา อุปนายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ สสท.กล่าวว่า ประสบการณ์จากการร่วมงานดังกล่าว จะเป็นประโยชน์สำหรับ สสท.และกลุ่มหน่วยงานด้านเทคโนโลยีไทย รวมทั้งภาคเอกชนในการเดินหน้าจัดตั้ง "ฟอรัม" ขึ้นมาสานต่อเพื่อผลักดันแนวคิด "องค์กรถ่ายทอดเทคโนโลยี"(ทีแอลโอ)ในไทย โดยจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) และเปิดกว้างให้ภาคเอกชน และกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานที่มีงานวิจัยได้ร่วมเป็นสมาชิกใน "ฟอรัม" ดังกล่าว เพื่อให้เข้ามารับรู้ และฝึกอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจ และให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการจดสิทธิบัตร เนื่องจากจะนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความถูกต้องและชัดเจน สามารถสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ และสร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับเจ้าของงานวิจัยได้ ฟอรัม ที่เราตั้งขึ้นมาชุดนี้ ประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องทางด้านเทคโนโลยีที่สำคัญหลักๆ หลายหน่วยงาน ซึ่งแนวคิดของการจัดตั้งเกิดขึ้น หลังจากที่พวกเราได้ไปดูงานทางด้านทีแอลโอในประเทศญี่ปุ่น และได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำงาน รวมถึงกรณีศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับการนำงานวิจัยมาให้ให้เกิดประโยชน์ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น เป็นรายได้อีกทางหนึ่ง" ผศ.ประยูรกล่าว

 

"ทีแอลโอ" สร้างมูลค่าเพิ่มงานวิจัย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานักวิจัยของไทยยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการจดสิทธิบัตรที่ถูกต้อง ทำให้บางครั้งงานวิจัยถูกละเมิด เพราะผู้วิจัยไม่ได้ให้ความสำคัญของการจดสิทธิบัตร ในขณะเดียวกัน งานวิจัยบางครั้งก็ถูกเก็บเอาไว้ไม่ได้นำมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงสังคม ทำให้ขาดแรงจูงใจของการสร้างงานวิจัย ซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการที่ประเทศไทยมีงานวิจัยน้อย ผศ.ประยูร กล่าวว่า เหตุผลข้างต้น ได้นำมาสู่แนวคิดในการตั้งองค์กรทีแอลโอ ที่จะให้บริการตั้งแต่การจดสิทธิบัตร ให้คำแนะนำ รวมไปถึงเป็นตัวแทนไปเจรจากับหน่วยงานภาคเอกชน อุตสาหกรรม เพื่อถ่ายทอดงานวิจัยนั้นออกไป (Licensing Technology) ซึ่งผู้วิจัยก็จะเกิดแรงจูงใจ ในผลงานที่สามารถสร้างรายได้ และประโยชน์ให้กับสังคม

 

เตรียมสานต่อเป็นสมาคมในอนาคต

ด้าน ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ฟอรั่มที่ตั้งขึ้นมานี้ จะเป็นเครือข่ายระหว่างผู้คนที่ต้องทำงานในเรื่องนี้ เพื่อถ่ายทอดข้อมูลซึ่งกันและกัน ช่วยผลักดันประเด็นสำคัญไปสู่ผู้มีอำนาจ และอาจเติบโตขึ้นเป็นสมาคม ที่จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานด้านเทคโนโลยี ที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการเทคโนโลยีจากต่างประเทศ "หากสามารถดึงคนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาร่วมด้วยได้ จะทำให้เขาได้ทราบถึงความต้องการ ว่าเราต้องการผลักดันในเรื่องของการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาไปสู่อุตสาหกรรม หรือทำในเชิงพาณิชย์ และสามารถปรับปรุงเรื่องของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างไร จะมีนโยบายในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไร หลายๆ อย่างมันมีองค์กรที่ดูแลอยู่แล้ว แทนที่จะต้องไปตั้งองค์กรใหม่" .ดร.ชัชนาถกล่าว ทั้งนี้ ในประเทศไทยนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะทำหน้าที่เพียงการออกสิทธิบัตร ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น หน่วยงานดังกล่าวจะมีบทบาทครอบคลุมถึงเรื่องของนโยบาย การวางแผน และจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

 

ดึงองค์กรเชี่ยวชาญจัดสัมมนาในไทย

"ฟอรัมนี้จะต้องร่วมแชร์ความคิดด้วยกัน และได้ข้อสรุปอย่างไร เราก็ต้องดันเรื่องนี้เข้าไปสู่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอยู่ใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ สวทช.อยู่ภายใต้กระทรวงวิทย์ฯ จะให้กระทรวงวิทย์ฯ ไปสั่งกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้" ดังนั้น คนในฟอรัมนี้ก็จะต้องทำงาน และเสนอเรื่องต่อไปยังหน่วยงานบังคับบัญชา เป็นลักษณะรูปแบบการดำเนินงานจากส่วนล่างไปยังส่วนบน หรือที่เรียกว่า Bottom up ในขณะที่หน่วยงานที่เป็นผู้วิเคราะห์นโยบาย เช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ก็ต้องทำหน้าที่วิเคราะห์

สำหรับฟอรัม "ทีแอลโอ" ในไทยนั้น คาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้อย่างเป็นทางการ พร้อมแผนงานที่ชัดเจน ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้

 

กรมทรัพย์สินฯ พร้อมร่วมเป็นสมาชิก

แหล่งข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการร่าง พ... ส่งเสริมด้านสิทธิบัตร แต่ยังไม่ได้ลงลึกในเรื่องของรายละเอียด โดยตัวร่างคร่าวๆ จะเน้นไปที่การส่งเสริมการสร้างสรรค์งานด้านทรัพย์สินทางปัญญา และอาจรวมถึงการให้ทุน (Funding) อุดหนุนการทำวิจัยในทุกแขนง สำหรับร่าง พ... ดังกล่าว ได้มีการนำร่าง พ... ที่เกี่ยวข้องมาเทียบดูเป็นตัวอย่างด้วย เช่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมฯ จะเน้นให้ความสะดวกในการจดทะเบียนตามกฏหมาย และให้ข้อมูลในภาคอุตสาหกรรมที่ผู้วิจัยสามารถติดต่อได้เท่านั้น "ส่วนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในฟอรั่มดังกล่าว หากทำเรื่องเสนอเข้ามา เราก็ยินดีเพราะกรมฯ ก็มีแผนงานที่จะทำแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน" แหล่งข่าวกล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 มีนาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.