ทีเมคเกาะติดอี-ซิติเซน ปรับสู่โรงงานเวเฟอร์ขนาดเล็ก

ศูนย์วิจัยไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ทีเมค) ปรับบทบาทเป็นโรงงานเวเฟอร์ขนาดเล็ก เกาะติดนโยบายอี-ซิติเซน ผลิตชิพป้อนบัตรสมาร์ทการ์ด ลดต้นทุนนำเข้าปีละ 650 ล้านบาท เล็งขออนุมัติเงินทุน ครม. รอบใหม่ภายใน 3 สัปดาห์

 

นายอิทธิ ฤทธาภรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ทีเมค) ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์ปรับแนวทางดำเนินงานเป็นโรงงานเวเฟอร์แฟบขนาดเล็กที่จะผลิตชิพสำหรับที่ใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดได้ จากเดิมมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพ เพื่อแสดงให้ภาครัฐเห็นว่าศูนย์สามารถผลิตชิพภายในประเทศเอง ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสร้างผลงานที่วัดได้ หากรัฐจะสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง

 

ล่าสุด ศูนย์อยู่ระหว่างการส่งเรื่องเพื่อขออนุมัติงบประมาณกรอบวงเงิน 770 - 980 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกเทคโนโลยีการผลิตชิพสมาร์ทการ์ด และเครื่องจักร ผลิตเวเฟอร์แฟบชนิดใด ระหว่างขนาด 6 นิ้ว 0.5 - 1 ไมครอน หรือ 8 นิ้ว 0.35 ไมครอน โดยเวเฟอร์ขนาด 6 นิ้ว สามารถรองรับการผลิตเวเฟอร์ได้ 6 ล้านชิพต่อปี ส่วนขนาด 8 นิ้ว จะผลิตเพิ่มได้ 1.7 เท่า ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายใน 1-3 สัปดาห์ข้างหน้า "ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ โครงการเคยมีแผนใช้งบจัดซื้อเครื่องจักรจากธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิค) แต่ไม่ได้รับอนุมัติแผนกู้เงินที่เสนอไปเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะติดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการพิจารณาที่ล่าช้า" นายอิทธิ กล่าว

 

ยื่นเงื่อนไขซื้อเวเฟอร์ไทย

ส่วนการยื่นของบครั้งใหม่ จะระบุเสนอเงื่อนไขกำหนดให้พันธมิตรเทคโนโลยีที่ประมูลงานได้ ต้องรับซื้อเวเฟอร์ที่ผลิตกึ่งหนึ่งด้วย โดยอีกกึ่งหนึ่งจะเป็นการผลิตป้อนให้กับโครงการภาครัฐ เพื่อให้พันธมิตรนั้นถ่ายทอดเทคโนโลยีเต็มที่ ซึ่งการติดต่อเจ้าของเทคโนโลยีชิพบางรายได้เจรจาถึงแนวคิดดังกล่าวแล้ว ทั้งอินฟินิออน ฮิตาชิ โตชิบา โอกิ เอสที ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกัน ก็ใช้งบประมาณที่ยังเหลืออยู่ 124 ล้านบาท จากวงเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้รับจาก ครม. ตั้งแต่ปี 2538 จัดซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติมอีก 7 รายการ โดยจะเป็นเครื่องจักรเสมือนใหม่ (Refurbished Machine) 4 รายการ อีก 3 รายการเป็นเครื่องจักรใหม่ ซึ่งจะเปิดขายซองเดือนพฤษภาคม และเปิดซองราคา รวมถึงประกาศผลในเดือนมิถุนายนนี้ จากก่อนหน้านี้ใช้งบ 240 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารศูนย์ และอีก 170 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักร และ 65 ล้านบาท เป็นค่าใช้ด้านปฏิบัติการทั่วไป

 

"เมื่อได้เครื่องจักร จะทำให้ศูนย์สามารถผลิตเวเฟอร์ขนาด 6 นิ้ว ระดับ 0.5-1 ไมครอน เพื่อใช้บริการมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ผลิตอาร์เอฟไอดีชิพการผลิตซิมการ์ดที่ใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงสมาร์ทการ์ดชิพด้วย" นายอิทธิ กล่าว อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับงบจัดซื้อจาก ครม. ศูนย์จะยังสามารถให้บริการผลิตเวเฟอร์ ที่เป็นเทคโนโลยีระดับ 1 ไมครอน ได้จากเครื่องจักรที่มีอยู่ และอีก 7 รายการ ที่จะจัดซื้อ โดยชิพ 1 ไมครอน จะใช้ในนาฬิกา อุปกรณ์นับจำนวน เครื่องคิดเลข เป็นต้น แต่ถ้าได้เครื่องจักรครบและทันสมัย จะผลักดันให้ทำเทคโนโลยีเวเฟอร์ขนาด 6 นิ้ว ต่ำถึงระดับ 0.5 ไมครอนได้

 

คุ้มทุนใน 5 ปี

ทั้งนี้การผลิตชิพในประเทศจะมีประโยชน์ที่ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณลงกว่า 30% จากต้นทุนชิพบัตรละ 65 บาท แต่ถ้านำเข้าบัตรต่างประเทศต้นทุนราวบัตรละ 100 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณจากกำลังผลิตเครื่องจักรของศูนย์ หากได้รับงบประมาณจะผลิตได้ 6 -10 ล้านชิพต่อปี รวมมูลค่าปีละ 390-650 ล้านบาท ขณะรัฐต้องการบัตร 14 ล้านบัตรต่อปี ดังนั้น หากรัฐลงทุนครั้งนี้ เมื่อคำนวณรวมค่าเสื่อมเครื่องจักรก็จะคุ้มทุนภายใน 5 ปี ทั้งนี้ รัฐต้องให้คณะกรรมการบูรณาระบบการทะเบียนแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบการทำโครงการบัตรประชาชนตามนโยบายอี-ซิติเซน กำหนดสเปคบัตร ตัวระบบ (ซิสเต็ม) ที่ส่วนหนึ่งอาจจะระบุว่า ให้ใช้ชิพในประเทศ เพื่อให้เอกชนที่ชนะการประมูลบัตรป้อนงานให้กับศูนย์ และน่าจะเป็นเอกชนรายเดียวกับพันธมิตรเทคโนโลยีของศูนย์ด้วยให้เอกชนที่ชนะการประมูลได้ใช้เทคโนโลยีในประเทศสอดคล้องกับงบประมาณที่รัฐให้กับศูนย์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม 2546

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.