UPS ไทยกระอักของนอกตีตลาด "ซินโดมฯ" จี้รัฐลดภาษีวัตถุดิบ 3%


"ซินโดมฯ" ผู้ผลิตเครื่องสำรองไฟฟ้า UPS สายเลือดไทย ประกาศปั๊มรายได้เพิ่มเป็น 200 ล้านบาทในปีนี้ วาดแผนการตลาดเชิงรุกตีกันคู่แข่งจากอเมริกา ยุโรป ไต้หวัน เผยธุรกิจแข่งเดือดเหตุจากสินค้าสำเร็จรูปอาศัยช่องโหว่ภาษีแค่ 3% แห่เข้ามาตีตลาดเพียบ วอนรัฐบาลเร่งปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ยังสูงโด่งถึง 20% ให้เหลือ 0-3% เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตในประเทศ

นายจักรกฤษณ์ เชิดชูวงศ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซินโดม อิเลคทรอนิคส์ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตเครื่องควบคุมและสำรองไฟฟ้า หรือ UPS เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงผลประกอบการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า ปี 2544 ทำรายได้รวม 132 ล้านบาท, ปี 2545 ทำยอดรายได้เป็น 160 ล้านบาท ขณะที่ปี 2546 คาดว่าจะเพิ่มรายได้เป็น 200 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 25 จากมูลค่าตลาดโดยรวมปีละ 1,000 ล้านบาท

บริษัทซินโดมฯเป็นผู้ผลิตเครื่อง UPS ภายใต้ยี่ห้อ ซินโดม (SYNDOME) และเพาแบค (POWBACK) โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 3 กลุ่มหลักคือ 1)กลุ่มสถาบันหรือ Corporate ร้อยละ 50 2) กลุ่มผู้ใช้ทั่วไป ร้อยละ 35 3) หน่วยงานราชการ ร้อยละ 15 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะการแข่งขันสูง บริษัทจึงหันมาเน้นเจาะตลาดกลุ่มหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 ขณะที่ลูกค้ากลุ่มผู้ใช้ทั่วไปจะลดสัดส่วนเหลือร้อยละ 25 และกลุ่มสถาบันยังคงสัดส่วนเดิมคือร้อยละ 50

ทั้งนี้ เครื่อง UPS จะมีหลายขนาดด้วยกัน ตั้งแต่ขนาด 50 KVA ที่ยังไม่มีการผลิตในเมืองไทย ปัจจุบันต้องพึ่งการนำเข้าเป็นหลัก รองลงมาคือขนาดระหว่าง 30 KVA (1000 VA)-500 VA ซึ่งเป็นตลาดหลักที่บริษัททำการผลิตอยู่ และมีมูลค่าตลาดโดยรวมเฉพาะเซ็กเมนต์นี้เท่ากับปีละ 1,000 ล้านบาท

นายจักรกฤษณ์กล่าวว่า เครื่อง UPS เป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการใช้ไฟฟ้า โดยเมื่อมีเหตุไฟฟ้าขัดข้อง ไฟฟ้ากระชากหรือไฟฟ้าดับ UPS จะเป็นแหล่งจ่ายไฟสำรองให้ โดยอัตราสำรองไฟปกติคือนานประมาณ 10 นาที และสำรองไฟอย่างต่อเนื่องให้อีกเป็นเวลาประมาณ 15-30 นาทีแล้วแต่ขนาด ซึ่งตามลักษณะการใช้งานทำให้เหมาะที่จะเป็นอุปกรณ์สำรองฉุกเฉินสำหรับผู้ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ในบ้านหรือในสำนักงาน เพราะเมื่อมีเหตุไฟฟ้าดับกะทันหัน UPS จะสำรองไฟให้ระยะหนึ่งเพียงพอที่จะทำการเซฟไฟล์ข้อมูลก่อนจะปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้เอกสารที่กำลังบันทึกหรือใช้งานไม่เกิดความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม นายจักรกฤษณ์กล่าวว่า ขณะนี้ผลกระทบจากนโยบายเปิดเสรีทางการค้า รวมทั้งกรณีจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO กำลังกระทบต่อผู้ผลิต UPS ในเมืองไทย เนื่องจากโครงสร้างภาษีวัตถุดิบนำเข้ายังสูงถึงร้อยละ 0-20 ขณะที่ภาษีนำเข้า UPS สำเร็จรูปมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลควรจะรีบเร่งพิจารณาและปรับลดอัตราภาษีวัตถุดิบนำเข้าให้เท่ากับภาษีสำเร็จรูป เพื่อให้สามารถแข่งขันได้บนพื้นฐานภาษีที่เท่ากัน

"บริษัทก่อตั้งได้ 16 ปี พบว่าพัฒนาการด้านราคาของเครื่อง UPS มีทิศทางที่ตกต่ำมาตลอด จากช่วงปี 2530 ที่ยังต้องมีการนำเข้าอย่างเดียวพบว่า UPS ขนาด 500 VA มีราคาขายเครื่องละกว่า 1 แสนบาท เมื่อบริษัทก่อตั้งและผลิตเครื่องเองสามารถเสนอขายในราคาเพียงเครื่องละ 25,000 บาท และลดเหลือประมาณ 10,500 บาทภายใน 2-3 ปี

มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2535 ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการผลิตมากขึ้นทำให้เหลือเครื่องละ 5,000 บาท จนถึงปัจจุบันที่ UPS ได้พัฒนาเป็นคอนซูเมอร์โปรดักต์และมีผู้ผลิตต่างชาติหลายรายเข้ามาตั้งโรงงานทั้งจากอเมริกา ยุโปร ไต้หวัน แข่งขันราคาจนเหลือประมาณเครื่องละกว่า 2,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่ส่วนประกอบยังต้องนำเข้าร้อยละ 30-40 เช่น แบตเตอรี่แห้ง เซมิคอนดักเตอร์ที่ถึงแม้จะมีผลิตในเมืองไทยแต่จะส่งออกทั้งหมด เป็นต้น"

สำหรับแผนธุรกิจปีนี้ นายจักรกฤษณ์กล่าวว่า จะใช้แผนการตลาดเชิงรุก ได้แก่ 1)บริการหลังการขาย โดยรับเหมางานซ่อมบำรุงสำหรับเครื่อง UPS ทุกยี่ห้อ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ใช้ในปัจจุบัน เพราะถ้าเป็นองค์กรใหญ่จะมีหลายยี่ห้อ เวลาเครื่องมีปัญหาการติดตามช่างซ่อมประจำยี่ห้อจะมีปัญหามาก ซึ่งบริการซ่อมบำรุงข้ามยี่ห้อนี้เองที่เป็นจุดแข็งของบริษัท
2)จัดแคมเปญพรี-โพสต์เซลเซอร์วิส โดยจะวัดโลดหรือตรวจสอบสภาพปัญหาทางไฟฟ้าให้กับลูกค้าสถาบัน เพื่อประเมินว่าสมควรจะจัดซื้อเครื่อง UPS ไว้ใช้แค่ไหน เนื่องจากปัญหาทางไฟฟ้าจะมีถึง 7 แบบ ความต้องการหรือความจำเป็นในการใช้ย่อมแตกต่างกันออกไป โดยจะฟรีค่าบริการตรวจสภาพปัญหาทางไฟฟ้าจนถึงสิ้นปี 2546
3)เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการทั่วประเทศ โดยจัดให้มีศูนย์ภูมิภาคสำหรับสนับสนุนงานบริการหลังการขายกรณีเป็นโครงการใหญ่ และจะมีแคร์ เซ็นเตอร์ เป็นหน่วยบริการตามพื้นที่ย่อยลงมา โดยมีเป้าหมายรับประกันกับลูกค้าเมื่อมีการติดต่อให้ซ่อมบำรุง ซึ่งพนักงานจะไปถึงจุดรับบริการใน 6 ชั่วโมง-1 วัน ภายในรัศมีให้บริการ 400 กิโลเมตร รวมทั้งบริการจัดส่งฟรีสำหรับผู้สั่งซื้อเครื่อง UPS ที่เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไปหรือตามบ้านอยู่อาศัย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.