"ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ปมใหม่อุตสาหกรรมไฮเทค

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐ เรียกร้องให้ทางการ คิดหาทางออกในการกำจัด ขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม นอกเหนือจากการทำลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ หลังผลการศึกษาล่าสุด พบประเทศกำลังพัฒนา ในภูมิภาคเอเชีย แปรสภาพเป็นสถานที่เก็บขยะพิษ

 

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 5 กลุ่ม ซึ่งมาจากสหรัฐ 2 กลุ่ม และอีก 3 กลุ่ม มาจากเอเชีย เปิดเผย รายงานการศึกษาผลกระทบ ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เวสท์ (e-waste)ในภูมิภาคเอเชีย ในหัวข้อ "Exporting Harm: The Techno-Trashing of Asia." และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการควบคุมการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม นอกเหนือจากการทำลาย หรือนำกลับมาใช้ใหม่ กระนั้น ศูนย์นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่ากลับมาใช้ใหม่ประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย จัดส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังประเทศกำลังพัฒนาในภูมิเอเชีย โดยขยะเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้ลำคลองตื้นเขิน และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์

 

ตัวแทนของกลุ่มดังกล่าว ยืนยันว่าขยะพิษเหล่านี้ ถูกส่งไปยังจีน อินเดีย และปากีสถาน โดยนักสิ่งแวดล้อม ประเมินว่า คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในสหรัฐฝั่งตะวันออก ที่จะต้องนำกลับมาใช้ใหม่ นายเท็ด สมิธ จากองค์การพันธมิตรว่าด้วยวัตถุมีพิษจากซิลิคอน วัลเลย์ กล่าวว่า ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในชนบท และไม่มีความรู้เกี่ยวกับอันตรายเกี่ยวกับสารพิษ จะคัดแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันวัตถุมีพิษ และสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง

 

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มั่นใจว่า กองขยะที่ไม่สามารถตรวจสอบได้นี้ มีการสะสมเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และสหรัฐ ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ แต่ยังรวมถึงอังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ด้วย นอกจากนี้ นายสมิธ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชีย ประกอบด้วย การขัดขวางทางเดินน้ำในคูคลอง ซึ่งอุดมไปด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือการที่เผาขยะ ซึ่งจะสร้างควันสีดำขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศ พร้อมกันนี้ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เงิน เป็นเหตุผลที่เอเชีย กลายเป็นสถานที่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บคอมพิวเตอร์เก่าในสหรัฐ โดยทั่วไปจะมีราคาระหว่าง 5-10 ดอลลาร์ เทียบกับประเทศโลกที่ 3 ซึ่งมีราคาน้อยกว่า 1 ดอลลาร์

 

ขณะที่ ตัวแทนของคณะบริหารของประธานาธิบดี บุช เปิดเผยว่า พวกเขาอยู่ระหว่างระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ต้องการให้ยุติการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ที่อาจเป็นสาเหตุหลักให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม จากผลการศึกษาของสภาความปลอดภัยแห่งชาติ สรุปได้ว่า ในช่วงปี พ.. 2540 - 2547 คอมพิวเตอร์ 315 ล้านเครื่อง จะกลายเป็นขยะ และมีเพียง 6 ใน 11% เท่านั้นที่จะมีการนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างไรก็ดี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรืออีพีเอ (EPA) อยู่ระหว่างยื่นเรื่องต่อรัฐ โดยโฆษกของอีพีเอ แถลงว่า ส่วนประกอบอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาจจะเป็นโปรแกรมประกาศนียบัตรนานาชาติ ของผู้นำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ และคณะบริหารของประธานาธิบดี บุช อยู่ระหว่างร่างสนธิสัญญาดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ตัวแทนภาครัฐ ผู้ผลิต และนักสิ่งแวดล้อม จะประชุมร่วมกันที่วอชิงตันในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับเงินทุน เพื่อจัดการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เป็นที่ต้องการ และกำหนดแนวทางกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม

 

บริษัทไฮเทคโยนภาระให้ลูกค้า

ขณะที่ บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด, บริษัท คอมแพค และบริษัท โซนี่ อิเล็กทรอนิกส์ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการพัฒนา "ระบบการเงินแบบเบ็ดเสร็จ" (Front-end finances system) เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บ การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่ากลับมาใช้ใหม่ และมีความเป็นไปได้ที่ค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะรวมเข้ากับราคาขายปลีกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือโทรทัศน์เครื่องใหม่ ข้อตกลงดังกล่าว มีขึ้นหลังการประชุม ขององค์กรว่าด้วยการพิทักษ์ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือเอ็นอีพีเอสไอ (NEPSI) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวของบริษัท ไฮเทค หน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแหล่งข่าว คาดว่า จะสามารถสรุปผลการพิจารณาขั้นสุดท้าย พร้อมแจกแจงรายละเอียด และนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างช้าภายในปีนี้

 

"ทางสถาบัน มองว่า แนวทางดังกล่าว เป็นกระบวนการที่สำคัญ แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องแก้ไขอีกมาก เพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นชอบ ของตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ผลิต ร้านค้าปลีก รวมถึงกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และบรรดาผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในเดือนกันยายนนี้" นายสก็อต คาสเซล ผู้อำนวยการสถาบันเอ็นอีพีเอสไอ ของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ในเมืองโลเวลล์ กล่าว

 

ด้าน นักวิเคราะห์ มองว่า ราคา เป็นอีกรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เนื่องจาก เป็นนโยบายหลักของทุกอุตสาหกรรม โดยในปัจจุบันโครงการรับคืนสินค้าเก่า ของบริษัทเอกชนหลายแห่ง อย่างเช่น บริษัทเอชพี บริษัทโซนี่ และบริษัทเบสท์ บาย คิดค่าบริการจัดการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เก่า ที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้กับลูกค้าราว 30 ดอลลาร์ หรือน้อยกว่า กระนั้น ยังคงต้องรอต่อไปว่า ระบบดังกล่าว จะสามารถนำมาใช้งานได้เมื่อใด

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.