โสมขาวผุดมาตรฐานมือถือความเร็วสูง

รัฐบาลเกาหลี เตรียมประกาศใช้มาตรฐานเครือข่ายไร้สาย "ไวโบร" ปีหน้า เผยคุณสมบัติ เปิดทางมือถือ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น 10 เท่า พร้อมรองรับความเร็วขณะเคลื่อนที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้านนักวิเคราะห์เชื่อสกัดอนาคตไวด์แบนด์-ซีดีเอ็มเอ ตลาดโสมขาว

 

เวบไซต์ เดอะ โคเรียนไทม์ รายงานว่า กระทรวงการสื่อสาร และข้อมูลข่าวสาร หรือเอ็มไอซี ของเกาหลีใต้ มีกำหนดออกใบอนุญาตการให้บริการเทคโนโลยี "ไวโบร" (WiBro) ที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และคาดว่าจะสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบ ในช่วงปี 2549 โดยค่าธรรมเนียมในการใช้ช่วงความถี่ดังกล่าว จะอยู่ที่ราว 3% ของรายได้ประจำปี

 

ทั้งนี้ มาตรฐานไวโบร ซึ่งเดิมมีชื่อว่า มาตรฐานอินเทอร์เน็ต 2.3 กิกะเฮิรตซ์ จะมีความเร็วรับส่งข้อมูลราว 1 เมกะบิตต่อวินาที และสามารถรองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของอุปกรณ์ที่กำลังเคลื่อนที่ได้เร็วสูงสุด 60 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ด้านผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า อัตราการเชื่อมต่อในระดับดังกล่าว มีความเร็วสูงกว่ามาตรฐานซีดีเอ็มเอ 1เอ็กซ์ อีวี-ดีโอ (CDMA 1x evolution data optimized) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันราว 10 เท่า ส่งผลให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศ สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ในขณะที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ ได้เร็วเทียบเท่ากับการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ผ่านโทรศัพท์พื้นฐาน ขณะที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตท้องถิ่น เปิดเผยว่า เครือข่ายดังกล่าวใช้งบประมาณลงทุนติดตั้งเพียง 1 ล้านล้านวอน เมื่อเทียบกับเครือข่ายไวด์แบนด์-ซีดีเอ็มเอ (W-CDMA) ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนวางโครงข่ายราว 2 ล้านล้านวอน

 

ทั้งนี้ ผลการสำรวจของกระทรวงเอ็มไอซี ชี้ให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามราว 50% มีแผนที่จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขณะที่บริษัทราว 30% จะใช้ในการเชื่อมต่อผ่านโน้ตบุ๊ค และอีก 20% ต้องการใช้เชื่อมต่อผ่านพีดีเอ "ค่าใช้บริการน่าจะตกอยู่ราว 30,000-50,000 วอนต่อเดือน เพราะหากคิดราคาแพงกว่านั้น ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะเลิกใช้" นายคิม ยง ซู รัฐมนตรีประจำกระทรวงเอ็มไอซีกล่าว

 

ผู้เชี่ยวชาญ ยังเผยว่า หากการใช้งานเทคโนโลยีไวโบรประสบความสำเร็จ อาจทำให้เครือข่ายไวด์แบนด์-ซีดีเอ็มเอ ไม่สามารถแจ้งเกิดในเกาหลีใต้ได้ โดยที่ผ่านมา ผู้ให้บริการเครือข่ายของเกาหลีลังเลที่จะทุ่มลงทุนวางโครงข่ายไวด์แบนด์-ซีดีเอ็มเอ เนื่องจากไม่แน่ใจในอนาคตของมาตรฐานดังกล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.