เกาะติดกระแส Wi-Fi เครื่องมือสร้างโอกาส (ใหม่) ทางธุรกิจ
คอลัมน์ Click World

ย้อนหลังไป 4 ปีก่อน ไว-ไฟ (Wi-Fi) หรือการต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายยังคงเป็นเพียงแค่ของเล่นสนุกๆ สำหรับนักนิยมเทคโนโลยีและพวกรักการท่องเว็บ แต่มาบัดนี้ ไว-ไฟ กำลังจะกลายเป็นช่องทางสร้างเงินล้านแห่งใหม่ให้กับธุรกิจหลากหลายสาขาเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่บริษัทผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปจนถึงสายการบิน ด้วยอัตราการขยายตัวของการใช้ไว-ไฟในภาคธุรกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 30%

สิ่งที่ทำให้ไว-ไฟกลายเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อ ไว-ไฟที่ถูกมาก รวมทั้งการพัฒนาให้สามารถรองรับการใช้งานได้ในระยะไกลขึ้นคือ 300 ฟุต และฮอตสปอต (hot spots) หรือจุดเชื่อมต่อไว-ไฟ เพียงจุดเดียวก็สามารถต่อคอมพิวเตอร์ได้หลายตัว ที่กำลังดึงดูดใจให้มีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นกว่า 18 ล้านคนทั่วโลก จากเมื่อสองปีก่อนที่มีผู้ใช้บริการเพียง 2.5 ล้านคน และส่งผลให้การติดตั้งฮอตสปอตเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวถึง 16,000 แห่งโดยมีเป้าหมายอยู่ที่โรงแรม สนามบินและศูนย์กลางการค้า

การเติบโตอย่างรวดเร็วของไว-ไฟทำให้บริษัทต่างๆ กระโดดเข้ามาลงทุนในด้านนี้มากขึ้นๆ เริ่มตั้งแต่บริษัทอินเทลที่ใช้เงินไปแล้วกว่า 300 ล้านเหรียญในการโหมโปรโมต "เซนทริโน" ชิปที่ผลิตขึ้นมาสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อรองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยเฉพาะ และยังร่วมมือกับไอบีเอ็มและเอทีแอนด์ที ตั้ง "โคมีต้า" (Cometa) เพื่อทำการขยายฮอตสปอตให้ได้ 20,000 แห่งทั่วประเทศภายในระยะเวลา 3 ปี ส่วนไมโครซอฟท์ก็ไม่ยอมน้อยหน้า หนุนโปรแกรมวินโดวส์ เอ็กซ์พี สุดตัวว่าได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นพิเศษเพื่อใช้กับไว-ไฟโดยเฉพาะ

ใช่ว่าจะมีแต่บริษัทคอมพิวเตอร์ที่สนใจลงทุนในตลาดไว-ไฟเท่านั้น แต่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น แมคโดนัลด์ก็ติดตั้งฮอตสปอตในร้านไปแล้ว 10 แห่งทั่วกรุงนิวยอร์ก โดยหวังฟันกำไรจากการเข้ามาใช้ไว-ไฟที่คิดค่าบริการ 3 เหรียญ/.. บริษัทโบอิ้งก็เตรียมเปิดตัวธุรกิจใหม่ "ไซเบอร์คาเฟ่บินได้" (flying cybercafes) ภายในต้นปีหน้า โดยจะติดตั้งไว-ไฟในเครื่องบินโบอิ้งกว่า 100 ลำคิดค่าบริการ 25 เหรียญต่อเที่ยวบิน นอกจากนี้บริษัทผลิตมือถือ 3G ก็ตั้งท่าจะเข้ามาใช้ระบบไว-ไฟด้วยเหมือนกัน การเข้ามาลงทุนกันอย่างหนาแน่นของบริษัทต่างๆ ทำให้ต้นทุนในการติดตั้งฮอตสปอตถูกลงถึง 1 ใน 5 ของเมื่อ 2 ปีก่อนโดยมีต้นทุนติดตั้งเพียง 2,000 เหรียญ/จุดเท่านั้น และคาดว่าภายในปี พ.. 2548 แล็ปทอปกว่า 90% จะได้รับการติดตั้งไว-ไฟมาพร้อม ซึ่งราคาของอุปกรณ์เชื่อมต่อไว-ไฟที่ถูกลงเรื่อยๆ นี้จะช่วยเปิดตลาดผู้ซื้อให้กว้างขึ้น

หลายๆ องค์กรธุรกิจนำระบบไว-ไฟไปใช้งานเนื่องจากเป็นระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติหน้าที่และเพิ่มผลิตผลในการทำงานให้กับธุรกิจต่างๆ มากขึ้น เช่น บริษัท ยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส (ยูพีเอส) บริษัทขนส่งทางอากาศรายใหญ่ของโลก ได้ลงทุนกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐในการนำระบบไว-ไฟมาใช้บริหารศูนย์กระจายสินค้าทั่วโลก โดยระบุว่าไว-ไฟช่วยทำให้กระบวนการขนส่งสินค้า รวมทั้งข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเพิ่มผลิตผลให้กับบริษัทได้ถึง 35%

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของไว-ไฟที่มีขณะนี้ก็คือ ระบบรักษาความปลอดภัยของเน็ตเวิร์กที่ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้เข้ามาใช้บริการได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาการแฮ็กข้อมูล แต่ทั้งนี้คาดว่าในปีหน้าระบบจะมีความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าทำได้จริงไว-ไฟก็จะกลายเป็นเค้กก้อนโตที่ใครๆ ก็อยากจะเข้ามาร่วมลิ้มลอง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.