ไวร์เลส บรอดแบนด์ โอกาสใหม่ทางธุรกิจ-โอกาสเข้าถึงข้อมูล

กิ่งกาญจน์ ตรียงค์

การเพิ่มจำนวนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการเพิ่มชั่วโมง ในการออนไลน์ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี กำลังเป็นปัจจัยทางการตลาดที่สำคัญ ซึ่งกระตุ้นการแข่งขัน ของบริการ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขมูลค่าการลงทุน และระยะเวลา ติดตั้ง เครือข่าย รวมถึงต้นทุนในการกระจายบริการสู่ผู้บริโภคปลายทาง ทำให้เจ้าของ เทคโนโลยี บางราย มองถึงการนำ "เครือข่ายความเร็วสูงไร้สาย" เข้ามาเป็นคำตอบ สำหรับอุปสรรค ดังกล่าว

 

จากรายงานของทีเอสเอ เอเชีย แปซิฟิก ประมาณการไว้ว่า ยอดผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ระหว่างปี 2544-2548 จะเติบโตขึ้น 2.7 เท่า ขณะเดียวกัน ตลาดกลุ่มนี้ ก็จะใช้เวลาท่องโลกออนไลน์มากกว่าผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต แบบไดอัล อัพ 4 เท่า ขณะที่ มูลค่าตลาดของบริการบรอดแบนด์ จะเติบโตถึงหลักหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมทั้งลูกค้า ทั่วไป (คอนซูเมอร์), การต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต, ตลาดองค์กร, ลูกค้า ในกลุ่มผู้ให้บริการ (โฮลเซล), การจำหน่ายอุปกรณ์ต่อเชื่อม (รีเทล) และโครงการภาครัฐ

 

ล่าสุด บริษัท โมโตโรล่า หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารรายใหญ่ของโลก ก็ตัดสินใจก้าวเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้อย่างจริงจัง ผ่านแพลทฟอร์ม บริการสื่อสารความเร็วสูงไร้สาย ในเทคโนโลยีล่าสุด ภายใต้ชื่อ "คาโนปี้ (Canopy)" ซึ่งนับเป็นการผสานประสบการณ์ 75 ปีของจุดแข็งในธุรกิจสื่อสารผ่านคลื่นความถี่วิทยุ (RF : Radio Frequency) เข้ากับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สาย "คาโนปี้" เป็นอุปกรณ์สื่อสารความเร็วสูงไร้สาย ที่ออกแบบเป็นกล่องรับส่งสัญญาณ และกล่องกระจายสัญญาณขนาดเล็ก ทำงานในช่วงความถี่ 5.2-5.7 กิกะเฮิรตซ์ มีรัศมีครอบคลุมสัญญาณประมาณ 16 กิโลเมตร และสามารถต่อเชื่อมสัญญาณโดยติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มในจุดต่อเชื่อม โดยไม่ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร โดยบริษัทวางจุดเด่นของคาโนปี้ ไว้ที่ความรวดเร็วในการติดตั้ง, เคลื่อนย้ายได้เร็ว, ไม่ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายใดรองรับ ดูแลรักษาง่าย และใช้งบประมาณในการลงทุนต่ำ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเดินสายเคเบิล หรือใยแก้วนำแสง เพื่อเป็นสื่อในการกระจายบริการไปยังผู้บริโภค

 

มุ่งลูกค้าเป้าหมาย ทั้งรัฐ-เอกชน

นายเดวิด แวนดายล์ ผู้อำนวยการฝ่ายการให้บริการองค์กร เอเชียแปซิฟิก บริษัท โมโตโรล่า อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการลดต้นทุนในการนำเสนอบริการไปยังลูกค้าปลายทางแล้ว เทคโนโลยีนี้ ยังสามารถตอบรับกับนโยบาย "อี-กอฟเวิร์นเม้นท์" ของรัฐบาลในหลายประเทศ ที่กำลังให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสเข้าถึงข้อมูล ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (ดิจิทัล ดีไวด์) ภายใต้เวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเดินข่ายสาย โดยก่อนหน้านี้ บริษัทเข้าเป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ได้รับเลือกให้ร่วมทดลองให้บริการ สำหรับโครงการด้านดิจิทัล ดีไวด์ ของประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ ในส่วนของการทำตลาดเชิงพาณิชย์นั้น ปัจจุบันมีลูกค้าแล้วในเม็กซิโก และบางประเทศในอเมริกาใต้ รวมถึงเตรียมติดตั้งเพื่อให้บริการกับลูกค้ารายหนึ่งในเอเชียเร็วๆ นี้ "โอกาสทางการตลาดสำหรับบริการความเร็วสูงไร้สาย ยังครอบคลุมถึงผู้ให้บริการรายใหม่ๆ ที่ต้องการความรวดเร็วในการให้บริการ ตลอดจนผู้ให้บริการสื่อสารที่กำลังทำธุรกิจอยู่ และองค์กรที่มีสาขากระจายอยู่หลายพื้นที่ เพราะช่วยลดต้นทุนในการให้บริการ" ด้านนายชวพล จริยาวิโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจโซลูชั่นโทรคมนาคม บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น ช่วงแรกคงมุ่งเน้นไปที่ผู้เล่นรายหลักๆ ในตลาดให้บริการสื่อสาร ได้แก่ ผู้ที่เป็นเจ้าของโครงข่ายสื่อสารอยู่แล้ว, ไอเอสพี รวมถึงตลาดภาครัฐ

 

เปรียบเทียบต้นทุนเทคโนโลยีอื่น

ทั้งนี้ นายแวนดายล์ กล่าวด้วยว่า แม้กลุ่มตลาดเป้าหมายในประเทศไทย ปัจจุบันมีบางรายที่เป็นกลุ่มบริษัท ซึ่งมีฐานธุรกิจทั้งเครือข่ายสื่อสารแบบมีสาย, ไร้สาย และให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) เองด้วย แต่ก็ยังเป็นตลาดที่คาโนปี้มี "โอกาส" เนื่องจากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยทั่วไปที่ให้บริการผ่านเครือข่ายดีเอสแอล หรือเอดีเอสแอลนั้นก็ยังมีต้นทุนในการเดินสายไปยังลูกค้าที่อยู่ห่างไกลจากชุมสายโทรศัพท์ โดยผู้ให้บริการสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อขยายบริการให้กับลูกค้าในพื้นที่ห่างไกลดังกล่าว ด้วยต้นทุน และเวลาในการติดตั้งข่ายสายที่ลดลง รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เพราะไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษาต่อเนื่อง

 

"เรามองว่าเทคโนโลยีนี้ จะตอบสนองเป้าหมายของลูกค้าได้ โดยต้นทุนและระยะเวลาที่ลดลงในการนำเสนอบริการกับลูกค้านั้น จะช่วยให้เขามีโอกาสมากขึ้นในการแข่งขันทางธุรกิจ รวมถึงโอกาสสร้างรายได้ด้วย" นายแวนดายล์ กล่าว พร้อมกันนี้ เขาได้เปรียบเทียบการลงทุนของบริการบรอดแบนด์ ผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงว่า อยู่ในระดับ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่ออาคาร และ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อหลังคาเรือน นายชวพล กล่าวว่า เขามั่นใจว่าการประกาศตัวเข้าสู่ตลาดของคาโนปี้ครั้งนี้ ไม่ได้สายเกินไป แม้ในประเทศไทยจะมีผู้เริ่มเปิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปก่อนแล้ว รวมถึงการทำบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม เนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียม ยังมีข้อจำกัดทางการตลาด ในแง่ของต้นทุนค่าใช้บริการ เพราะอุปกรณ์มีราคาสูง นอกจากนี้ ยังมีช่วงดีเลย์ของการรับ-ส่งสัญญาณกับภาคพื้นดิน รวมถึงปัญหาการรบกวนของสัญญาณในเวลาที่มีฝนตกหนัก

 

รอรัฐไฟเขียว "คลื่นความถี่"

นายชวพล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านการตลาดของการใช้งานเทคโนโลยีนี้ก็คือ "คลื่นความถี่" ซึ่งในแต่ละประเทศก็กำหนดนโยบาย ไว้แตกต่างกัน ทำให้บริษัทต้องใช้กลยุทธ์การเข้าไปเจรจาเป็นกรณีๆ ไปในทุกประเทศที่เข้าไปนำเสนอเทคโนโลยีนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับช่วงความถี่ ที่แต่ละประเทศอนุมัติให้ใช้งาน ปัจจุบันเทคโนโลยีของคาโนปี้ ทำงานในช่วงความถี่ประมาณ 5.2 และ 5.7 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา กำหนดให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ต้องขออนุญาตใช้งาน ขณะที่ ในการนำไปให้บริการที่ประเทศญี่ปุ่น ในลักษณะของการทดลองใช้งานจริง (Trial) นั้น บริษัทได้ปรับให้ลงมาทำงานกับช่วงความถี่ย่าน 4.9 กิกะเฮิรตซ์ ที่รัฐบาลญี่ปุ่น อนุมัติให้เป็นช่วงความถี่สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง สำหรับในประเทศไทยนั้น โมโตโรล่า ก็อยู่ในขั้นตอนเจรจากับกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับการอนุมัติความถี่ ในระหว่างที่ยังจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ยังไม่แล้วเสร็จ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.