พัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของคนไทย ... กลยุทธ์ต้องชัดเจน
ปีที่ 8 ฉบับที่ 1312 วันที่ 6 กันยายน 2545


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

 

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนได้ถูกกำหนดจากภาครัฐให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาเคียงคู่กันมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในอดีตกฎเกณฑ์ที่ทางการบังคับให้โรงงานรถยนต์ต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ(Local Contents)ในสัดส่วนที่กำหนด ได้เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้มีการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนโรงงานรถยนต์โดยตรง (Original Equipment Manufacturers หรือOEM) โดยได้มีการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการผลิต ทั้งนี้เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานรถยนต์แต่ละรุ่นที่บริษัทแม่จะเป็นผู้กำหนด ผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภท OEM เหล่านี้ จะประกอบไปด้วยกลุ่มที่เรียกว่า First-Tier Suppliers ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานรถยนต์โดยตรง และกลุ่มที่เป็นระดับ Second-Tier Suppliers ลงไป ซึ่งจะรับช่วงการผลิตเพื่อป้อนชิ้นส่วนบางประเภทให้กลุ่มแรกอีกทอดหนึ่ง

 

ปัจจุบันมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ OEM ที่เป็นระดับ First-Tier จำนวนประมาณ 386 ราย ทั้งนี้ผู้ผลิตรายใหญ่ๆในกลุ่มนี้จะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญี่ปุ่น และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์OEMระดับSecond และThird Tier จำนวนกว่า 800 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมหรือ SME ของคนไทย นอกจากนี้ ก็ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทที่เรียกว่า Replacement Equipment Manufacturers หรือ REM ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการทดแทนชิ้นส่วนที่เสียหรือสึกหรอ เพื่อป้อนร้านจำหน่ายอะไหล่ ศูนย์บริการและอู่ซ่อมรถยนต์ โดยผู้ผลิตในกลุ่มนี้หลายรายก็เป็นผู้ผลิตสำหรับตลาดOEM ระดับ Second หรือ Third Tier ด้วย

 

ผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทย ... ต้องปรับตัวครั้งใหญ่หลังเปิดเสรี

ปัจจุบันการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทย ครอบคลุมรายการชิ้นส่วนต่างๆ ตั้งแต่ ตัวเครื่องยนต์ ระบบช่วงล่าง ระบบเบรกและคลัทช์ ระบบพวงมาลัย ระบบขับเคลื่อนและถ่ายทอดกำลัง ตัวถังรถยนต์ ไปจนถึงอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า อุปกรณ์เสริมและตกแต่ง ยางรถยนต์ อุปกรณ์พลาสติกและกระจกรถยนต์ ฯลฯ อย่างไรก็ตามการยกเลิกมาตรการบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ประกอบกับนโยบายเปิดเสรีการค้าภายใต้กฎเกณฑ์ของWTO และเขตการค้าเสรีอาเซี่ยนหรือ AFTAนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยมาก ทั้งนี้ในแง่ของผู้ผลิตรถยนต์นั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งสามารถเลือกซื้อชิ้นส่วนในระบบ Global Sourcing เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสมที่สุด ทว่าในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นในภาวะที่ต้องประสบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งในกรณีของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ๆที่เป็นการลงทุนหรือร่วมลงทุนจากต่างชาติและมีเทคโนโลยีสูง ผลกระทบมีค่อนข้างน้อยเนื่องจากผู้ผลิตเหล่านี้หรือที่เรียกกันว่า First-Tier OEM เป็นผู้ป้อนชิ้นส่วนให้กับโรงงานหรือบริษัทรถยนต์โดยตรงตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ด้วยมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นที่ยอมรับ ในขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับรองลงมาหรือSecond และ Third-Tier OEM และผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทดแทนหรือผู้ผลิตประเภทREM จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเปิดเสรีการค้าหรือการจัดซื้อชิ้นส่วนในระบบ Global Sourcing ของบริษัทรถยนต์ค่อนข้างมาก

 

ปัจจุบันบริษัทรถยนต์หลายแห่งได้นำเอาระบบ Global และ Regional Sourcing มาใช้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการจากบริษัทผู้ผลิตในเครือข่ายที่มีโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซี่ยน มาใช้แทนชิ้นส่วนเดิมที่เคยสั่งซื้อภายในประเทศ เช่น โดยการใช้สิทธิพิเศษด้านภาษีภายใต้โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซี่ยน AICO (ASEAN Industrial Cooperation Scheme) นอกจากนี้เมื่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซี่ยนในการยกเว้นภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2546 (ยกเว้นมาเลเซียที่จะเข้าร่วมในปี 2548) จึงเป็นที่คาดว่าปริมาณการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยวิธี Regional Sourcing จะยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางกระแสการเปิดเสรีทางการค้าของโลก ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทนหรือ REM นั้นก็มีแนวโน้มว่าจะเผชิญกับการแข่งขันของชิ้นส่วนยานยนต์ จากไต้หวัน จีน และอินเดียเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพของสินค้าที่นำเข้าจากประเทศเหล่านี้

 

คุณภาพมาตรฐานสากล ... หัวใจของการพัฒนาปรับปรุง

การยกเลิกมาตรการบังคับใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ และการเปิดเสรีทางการค้าได้เป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นคนไทยให้ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผู้ผลิตในต่างประเทศ และยังจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการผลิตให้สูงขึ้นอย่างมากสอดคล้องตามมาตรฐานสากลและความต้องการที่บริษัทรถยนต์จะเป็นผู้กำหนด ปัจจุบันบริษัทรถยนต์ได้ตั้งมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนไว้ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องมีการพัฒนาเพื่อยกระดับตัวเอง เช่น ต้องได้รับรองมาตรฐาน ISO 9000 QS 9000 และ ISO 14000 ทั้งนี้เพื่อการยอมรับจากบริษัทรถยนต์ แนวโน้มการใช้ข้อกำหนดที่เข้มงวดมากขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นคนไทย ซึ่งเป็นผู้รับช่วงการผลิต หรือที่เรียกว่าผู้ผลิตประเภท Second และ Third Tier ค่อนข้างมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เป็นการลงทุน/ร่วมทุนจากต่างชาติ หรือผู้ผลิตประเภท First Tier และมีความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยีและการจัดการสูงอยู่แล้ว จึงสามารถตอบสนองเงื่อนไขเหล่านี้ได้ดีกว่ามาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเชื่อว่าในอนาคตเงื่อนไขมาตรฐานสากลอย่างของ QS และ ISO คงจะถูกนำมาใช้กับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนทั้งระบบ ดังนั้น ผู้ผลิตในระดับ Second Tier ลงไปจะต้องเผชิญกับการปรับตัวอย่างมากเพื่อยกระดับมาตรฐานของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่บรรดาผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐต้องร่วมกันกำหนดแนวทางดำเนินงานเพื่อรองรับทิศทางและแนวโน้มดังกล่าว

 

พัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วน REM ยกระดับSMEไทย ... หวังรัฐเร่งผลักดัน

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สามารถแบ่งประเภทออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่ม OEM กับกลุ่ม REM ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะเป็นคนละตลาดกัน แม้ว่าปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภท OEMในระดับล่างๆหลายรายจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้ตลาด REM ด้วยในเวลาเดียวกัน คือในแง่ของผู้ผลิตอาจผลิตป้อนทั้งตลาด OEM และREM แต่ในแง่ของตลาดแล้วจะแยกจากกัน กล่าวคือ ผู้ผลิตประเภท OEM ระดับ First Tier จะป้อนชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆให้โรงงานรถยนต์หรือศูนย์บริการของบริษัทรถยนต์โดยตรง ในขณะที่ตลาดประเภท REM จะเป็นร้านค้าอะไหล่รถยนต์ ศูนย์บริการและอู่ซ่อมรถยนต์ต่างๆ ซึ่งจะมีประเภทของชิ้นส่วนรถยนต์ที่หลากหลายรวมทั้งรถยนต์ที่ตกรุ่นไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ผลิตในกลุ่ม REM จะเป็นผู้ประกอบการคนไทยที่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME ซึ่งสมควรจะได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาและยกระดับการผลิตจากภาครัฐ

 

ในขณะที่อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยได้ถูกกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนจากนโยบายของรัฐโดยมีเป้าหมายให้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนOEMสำหรับป้อนโรงงานรถยนต์ก็ย่อมจะเติบโตเป็นอุตสาหกรรมส่งออกเคียงคู่ไปด้วย และในขณะเดียวกันการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทอะไหล่ทดแทนหรือREM ก็ย่อมจะมีโอกาสที่จะขยายตลาดในต่างประเทศตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นจากการที่รถยนต์บรรทุกปิคอัพถูกกำหนดให้เป็นProduct Championในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดโลกตามร่างแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่จะถูกนำมาใช้ดำเนินการในเร็ววันนี้ ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนสำหรับตลาดREMโดยให้เริ่มต้นจากการเน้นที่ชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถปิคอัพ จึงควรเป็นเป้าหมายที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมกันเตรียมวางแผนกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาทั้งการผลิตและการตลาดไว้ได้เลย ซึ่งในตอนแรกๆตลาดส่งออกก็คงจะเป็นประเทศเดียวกับที่ไทยส่งออกรถปิคอัพไปขายนั่นเอง ทั้งนี้จะต้องมีโครงการพัฒนาและปรับปรุงอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนสำหรับตลาดREM อย่างจริงจังเพื่อไปสู่มาตรฐานที่แข่งขันได้ในระดับสากล

 

ในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทREM เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น การมีศูนย์ทดสอบมาตรฐานและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งหากประเทศไทยต้องการจะพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของคนไทยที่มีตราสินค้าหรือ Brand Name ของตนเองในตลาดโลก เช่นเดียวกับที่ไต้หวันได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว จนปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทREMครองตลาดรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่ปัจจุบันชิ้นส่วนจากไต้หวันมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงเกือบ 40% ด้วยมูลค่าส่งออกกว่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2001 ทั้งนี้เบื้องหลังความสำเร็จของไต้หวัน คือการเน้นพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไต้หวันมีศูนย์ทดสอบและพัฒนาคุณภาพชิ้นส่วนยานยนต์ครบวงจรที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ด้วยจำนวนเงินสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 4 พันล้านบาท มีการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทดสอบที่ทันสมัยและสมบูรณ์แบบ ทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์จากไต้หวันได้รับการยอมรับด้านคุณภาพจากทั่วโลก

 

ที่มา : บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.