ตลาดรถยนต์จีน : ความเย้ายวนที่ดึงดูดค่ายรถทั่วโลก
ปีที่ 9 ฉบับที่ 1298
วันที่ 11 กรกฎาคม 2546
ปัจจุบันตลาดรถยนต์ในจีนกำลังเป็นที่ดึงดูดบรรดาค่ายรถยนต์ใหญ่ๆทั่วโลก
ทั้งจากยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่เกาหลีใต้ ทั้งนี้ในปี 2002 ที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งหรือรถเก๋งในจีนได้พุ่งสู่ระดับ
1 ล้านคันเป็นครั้งแรก โดยสามารถทำสถิติยอดขายได้ 1.126 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 จากปีก่อนหน้า และเมื่อรวมยอดขายรถยนต์ทุกประเภท
ก็มีจำนวนสูงถึง 3.248 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 จากปี 2001 ความร้อนแรงของตลาดรถยนต์ในจีนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปีนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคซาร์สได้คลี่คลายลงแล้ว ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้
ยอดขายรถยนต์รวมในจีนมีจำนวนกว่า 1.02
ล้านคันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
จากจำนวนประชากรกว่า
1,300 ล้านคน และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่สูงอย่างต่อเนื่องในระดับร้อยละ
7-8 ต่อปี ได้ทำให้รายได้ประชาชาติของจีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนและสัดส่วนของชนชั้นกลางในจีนซึ่งปัจจุบันอยู่ในราวร้อยละ
5 ของประชากรทั้งหมด ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันหมายถึงกำลังซื้อขนาดมหึมาที่นับวันจะโตขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นศักยภาพตลาดรถยนต์ในจีนจึงมีมหาศาล และแม้ว่าปัจจุบันขนาดของตลาดรถยนต์ในจีนยังจัดอยู่ในอันดับ
3 ของเอเซียหรืออันดับ 7 ของโลก (ตามหลังสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ บราซิล และเกาหลีใต้) แต่จากปัจจัยทางโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว ผนวกกับฐานตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่มียอดขายรวมกว่า
3 ล้านคันต่อปีและมีอัตราเติบโตสูงที่สุดในโลกในขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าจีนจะเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างที่ไม่มีใครจะทัดเทียมได้ภายในเวลาประมาณ
15 ปี ข้างหน้า
นอกจากนี้
การที่ปัจจุบันสัดส่วนจำนวนรถยนต์ต่อจำนวนประชากรในจีนยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากคือเพียง 1.5
คันต่อประชากร 1พันคน เทียบกับอัตราเฉลี่ยของโลกที่ประมาณ 90
คันต่อประชากร 1 พันคน จึงสะท้อนว่าตลาดรถยนต์จีนมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก
ดังนั้นตัวเลขยอดขายรถยนต์นั่งที่ทำสถิติเกิน 1
ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว จึงเป็นแค่จุดเริ่มต้นของตลาดที่จะโตไปได้อีกยาวไกล ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี
2003 นี้ ความต้องการรถยนต์ในจีนจะขยายตัวประมาณร้อยละ
20-25 โดยจะมียอดขายรวมกว่า 3.8-3.9 ล้านคัน ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นรถยนต์นั่งประมาณ
1.4 ล้านคัน และแม้ว่าในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า
อัตราการเติบโตของตลาดอาจจะชะลอตัวลงบ้างเหลือราวร้อยละ 15-20 ต่อปี แต่ด้วยศักยภาพของฐานตลาดขนาดมหึมาของจีน จะทำให้จีนกลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ได้เกื้อหนุนให้ตลาดรถยนต์ในจีนเติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าวแล้ว
ปัจจุบันปัจจัยที่เสริมให้ตลาดรถยนต์ในจีนมีความคึกคัก ยังได้แก่การขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในจีนที่ได้ช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค
ทั้งนี้ในปี 2002 ที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในจีนมีมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านหยวน เทียบกับยอดรวมกันเพียง 4.2 หมื่นล้านหยวนในช่วง
4 ปีก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โดยสถาบันการเงินต่างๆในจีน
ในขณะที่ค่ายรถต่างๆเร่งผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาด ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งการเติบโตของตลาดรถยนต์จีน
คาดว่าในปี 2010ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนจะโตเป็นเกือบ 3 เท่าของปัจจุบัน
ปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศจีนกว่าร้อยละ90เป็นรถยนต์ที่ผลิตหรือประกอบภายในประเทศ
โดยมีการนำเข้าเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการนำเข้ารถยนต์ของจีนมีแนวโน้มค่อยๆเพิ่มขึ้นหลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก
หรือ WTOแล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ที่สุด
3 กลุ่มที่เรียกว่าบิ๊กทรี (คือกลุ่ม FAW,
กลุ่มเซี่ยงไฮ้ออโต้ฯ, กลุ่มดองเฟ็ง) ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดประมาณเกือบครึ่งหนึ่งและกลุ่มใหญ่รองลงมาอีกประมาณ
4-5 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มต่างๆเหล่านี้มีการร่วมทุนกับค่ายรถยนต์ใหญ่ๆจากต่างประเทศที่ได้ทยอยเข้ามาลงทุนในจีนตลอดช่วงเวลา
20 ปีที่ผ่านมา ดังนี้คือ :
·
กลุ่ม
FAW (First
Automotive Works) มีการร่วมลงทุนกับค่ายโฟล์คสวาเกนของเยอรมนีตั้งแต่เมื่อประมาณ
20 ปีที่แล้ว จัดเป็นกลุ่มร่วมทุนกับค่ายรถใหญ่จากต่างประเทศรายแรกของจีน
นอกจากนี้เมื่อเร็วๆนี้ ยังมีการร่วมทุนกับโตโยต้า
·
กลุ่มเซี่ยงไฮ้
ออโตโมทีฟ อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น หรือ SAIC มีการร่วมทุนกับโฟล์คสวาเกนและเจนเนอรัล
มอเตอร์ส
·
กลุ่มดองเฟ็ง
มอเตอร์ มีการร่วมทุนกับซีตรอง ฝรั่งเศส
·
กลุ่มเทียนจิน
ออโตโมทีฟ อินดัสตรี มีการร่วมทุนกับไดฮัทสุและโตโยต้า
·
กลุ่มกวางโจว
ออโตโมบิล อินดัสตรี มีการร่วมทุนกับฮอนด้า
·
กลุ่มฉ่งชิ่ง-ฉางอัน
มีการร่วมทุนกับซูซูกิ และฟอร์ด
·
กลุ่มปักกิ่ง
ออโตโมทีฟ อินดัสตรี มีการร่วมทุนกับเดมเลอร์-ไคร์สเลอร์ และฮุนได
ด้วยศักยภาพตลาดรถยนต์ขนาดมหึมาในจีน
ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลกดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ปัจจุบันตลาดรถยนต์ของจีนจึงเป็นเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดค่ายรถยนต์ใหญ่ๆจากทั่วโลกให้เข้ามาตั้งหรือขยายโรงงานเพิ่มขึ้น
ค่ายรถใหญ่ๆที่มีการลงทุนในจีนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโฟล์คสวาเกนของเยอรมนี เจนเนอรัล
มอเตอร์ส เดมเลอร์-ไคร์สเลอร์ และฟอร์ดจากสหรัฐ ตลอดจนฮอนด้าและโตโยต้าจากญี่ปุ่น ต่างก็ได้เตรียมที่จะขยายกำลังผลิตในจีนอย่างรีบเร่ง
เพราะไม่ต้องการที่จะพลาดโอกาสทางธุรกิจ โดยปล่อยให้ค่ายรถคู่แข่งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดไปเฉยๆ
ดังนั้นบรรดาค่ายรถใหญ่ๆของโลกต่างรุกคืบเข้าไปเพิ่มการลงทุนในจีนมากขึ้น อาทิ :
·
ค่ายโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นค่ายรถต่างชาติรุ่นแรกที่เข้ามาลงทุนในจีนเมื่อ 20 ปีก่อน และปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งสูงสุดในจีน
คือราวร้อยละ 40 ก็ได้มีการขยายการลงทุนในจีนเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ
รวมทั้งเมื่อเร็วๆนี้ ได้ประกาศเพิ่มการร่วมทุนกับกลุ่ม FAW ของจีนเพื่อขยายกำลังผลิต
ด้วยการสร้างโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นอีก ที่เมืองฉางชุน โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มยอดขายจากปีละกว่า
5-6 แสนคันในปัจจุบัน เป็น 1 ล้านคันต่อปีภายในปี
2007 ปัจจุบันค่ายโฟล์คสวาเกนได้พยายามขยายฐานลูกค้า ด้วยการผลิตรถยนต์รุ่นต่างๆหลากหลายมากขึ้น
รวมทั้งจะเพิ่มการผลิตอีกสองเท่าสำหรับรถยนต์ระดับหรูหราอย่างรถออดี้ ที่กำลังเป็นที่นิยมในจีน
นอกเหนือจากเดิมที่มักจะเน้นผลิตแต่รถยนต์ขนาดเล็ก
·
ค่ายเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็มจากสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 8-9 ในจีน ก็ได้เพิ่มการลงทุนในจีนร่วมกับพันธมิตรเดิมคือ
กลุ่มเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ ฯ โดยจะตั้งโรงงานแห่งใหม่เป็นแห่งที่ 4 ที่เมืองเยนไต๋ ทางภาคตะวันออกของจีน ด้วยกำลังผลิต 1 แสนคันต่อปี เพราะจีเอ็มตระหนักว่าหนทางเดียวที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดในจีนที่กำลังโตอย่างก้าวกระโดด
ก็คือการเพิ่มกำลังผลิตให้ทันกับการเติบโตของตลาด
·
ค่ายฮอนด้า ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมทุนกับกลุ่มกวางโจว ออโตโมบิล ฯ
มีโรงงานที่เมืองกวางโจว ด้วยกำลังผลิต 120,000 คันต่อปี ก็กำลังขยายกำลังผลิตเป็น
2 เท่าเเล้วเสร็จในปี 2004
·
ค่ายโตโยต้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญที่สุดของญี่ปุ่นแต่เพิ่งได้บุกตลาดจีนเมื่อไม่กี่ปีมานี้
อย่างไรก็ตามจากการเล็งเห็นศักยภาพตลาดรถยนต์ของจีน เมื่อเร็วๆนี้โตโยต้าจึงได้ตกลงที่จะเพิ่มกำลังผลิตด้วยการร่วมมือกับกลุ่ม FAW ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ใหญ่ที่สุดของจีน
เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่เมืองเทียนจิน มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3 พันล้านหยวน เพื่อผลิตรถยนต์นั่งระดับหรูได้ในปี 2005 ทั้งนี้โตโยต้าคาดว่าจากความร่วมมือกับกลุ่ม FAW จะทำให้สามารถผลิตรถยนต์รวมได้ประมาณ
4 แสนคันต่อปีภายในเวลา 6-7 ปีข้างหน้า
·
ค่ายฟอร์ด มอเตอร์ ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐ ซึ่งในอดีตไม่ค่อยมีบทบาทในตลาดจีนมากนักเทียบกับคู่แข่งสัญชาติเดียวกันอย่างเจนเนอรัล
มอเตอร์ส และไคร์สเลอร์
(ปัจจุบันค่ายรถอเมริกันรวมกันครองส่วนแบ่งตลาดในจีนได้ประมาณร้อยละ
15) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฟอร์ดได้ตระหนักแล้วว่าจีนเป็นตลาดที่มิอาจละเลยได้อีกต่อไป
จึงได้ร่วมทุนกลุ่มฉ่งชิ่ง-ฉางอันเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อจัดตั้งโรงงานที่เมืองฉ่งซิ่ง
ด้วยกำลังผลิต 50,000 คันต่อปีในระยะแรก นับเป็นโรงงานแห่งแรกของฟอร์ดในจีน
ในขณะที่ค่ายรถอื่นๆต่างได้ขยายการผลิต โดยตั้งโรงงานแห่งที่ 2, 3 หรือ 4 กันแล้ว
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนประกอบไปด้วยกลุ่มใหญ่ๆ
ที่เป็นการร่วมลงทุนกับค่ายรถใหญ่ๆจากต่างประเทศ และกลุ่มขนาดเล็กลงมาซึ่งเป็นผู้ประกอบการในประเทศ
โดยมีจำนวนโรงงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 120 แห่งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆในกว่า
20 จังหวัดทั่วประเทศจีน ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนได้เน้นที่การตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก
นอกจากนี้จีนยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นับพันแห่งกระจัดกระจายอยู่ในหลายเมือง ซึ่งที่ผ่านมามาตรฐานคุณภาพโดยทั่วไปของอุตสาหกรรมรถยนต์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจีน
ยังถือว่าไม่เทียบเท่าระดับโลก ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่จีนยังต้องพัฒนาปรับปรุงก่อนที่จีนจะสามารถเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายสำคัญในตลาดโลก
อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนจะยังคงมุ่งเน้นการผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในที่จะยังโตได้อีกไกล
ขณะที่จีนยังต้องมีการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในประเทศ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า จีนคงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
กว่าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก ดังนั้นในช่วงเวลาอีก 5-10 ปีข้างหน้า จีนยังจะไม่ใช่คู่แข่งสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อการส่งออกของไทย
ประกอบกับปัจจุบันค่ายรถใหญ่ๆ อาทิ โตโยต้า เจนเนอรัล มอเตอร์ส/อีซูซุ ฮอนด้า ฟอร์ด ฯลฯ ได้จัดวางให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกของภูมิภาคไว้แล้ว
อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าในระยะยาวจีนมีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของตนให้ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก ดังจะเห็นว่าเมื่อเร็วๆนี้
จีนได้มีการริเริ่มโครงการเมืองอุตสาหกรรมยานยนต์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai International
Automobile Town) ณ อำเภอเจียตึง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเซี่ยงไฮ้ด้วยมูลค่าเงินลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศสูงถึง
5 หมื่นล้านหยวน อันจะประกอบไปด้วยโครงการต่างๆ ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
การผลิตยานยนต์ ศูนย์กลางธุรกิจยานยนต์ ศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ ศูนย์นิทรรศการและแสดงสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์
ฯลฯ อย่างครบวงจร โครงการที่ใหญ่ขนาดนี้แสดงให้เห็นถึงความจริงจังของจีนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์สู่ตลาดโลก
ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยได้ในอนาคต
ที่มา
: บริษัท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
|