เครื่องใช้ไฟฟ้า ปี 2544

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำน่ายในท้องตลาดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และ เครื่องใช้ไฟฟ้าหมวดภาพและเสียง โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนประกอบด้วย หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เตารีด ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน เป็นต้น ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าหมวดภาพและเสียงประกอบด้วย เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเสียง สเตอริโอ เครื่องเล่นวิดีโอ ซีดี วีซีดี และดีวีดี เป็นต้น

ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2544 ยังคงมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง ทำให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องนำกลยุทธ์ด้านการผลิตและการตลาดเข้ามาส่งเสริมการขาย ไม่ว่าจะเป็นการนำสินค้ารุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าหมวดภาพและเสียงซึ่งจะเน้นเทคโนโลยีที่เป็นระบบดิจิตอลมากขึ้น ขณะที่ราคาไม่แพงจนเกินไป และเน้นการให้เครดิตในลักษณะที่มีและไม่มีดอกเบี้ย โดยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำเพียงร้อยละ 1-1.5 ต่อเดือน และมีระยะเวลาผ่อนชำระนานขึ้น จาก 12-24 เดือนในปี 2543 เป็น 36-48 เดือนในปี 2544 เป็นต้น ทั้งนี้ กลยุทธ์การให้เครดิตสามารถกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในหมวดภาพและเสียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพิ่มจากที่มีอยู่หรือการซื้อเพื่อต้องการเปลี่ยนเป็นเครื่องที่มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ซึ่งมักจะมีราคาแพงมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับผู้ซื้อมองว่าไม่ใช่สินค้าจำเป็น ดังนั้น กลยุทธ์การให้เครดิตของผู้จำหน่ายที่ดึงดูดใจด้วยระบบปลอดเงินดาวน์หรือดาวน์ต่ำ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนาน ทำให้ผู้ซื้อส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกซื้อด้วยเงินผ่อนมากกว่าการซื้อด้วยเงินสด ส่งผลให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในลักษณะการเช่าซื้อมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในปี 2544 จากที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 40 ในปี 2543

ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2544 นั้น นอกจากจะจำหน่ายผ่านตัวแทนหรือเข้าร่วมกับห้างสรรพสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการยังมีการใช้ช่องทางใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การตั้งสถานที่จำหน่ายเฉพาะ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นดึงดูดลูกค้า โดยภายในมีสินค้าหลากหลายยี่ห้อ เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสเลือกสินค้าและราคาได้ตามกำลังซื้อ นอกจากนี้ การจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ยังมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

สำหรับมูลค่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมในปี 2544 คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือมีมูลค่าประมาณ 55,000 ล้านบาท จากที่มีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาทในปี 2543 ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นมูลค่าเครื่องใช้ไฟฟ้าหมวดภาพและเสียงประมาณ 33,000 ล้านบาท และมูลค่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนประมาณ 22,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีปัญหาบางประการที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น อัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่สำคัญคือ เม็ดพลาสติก ซึ่งต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 20 และเหล็ก เสียภาษีนำเข้าร้อยละ 17 ขณะที่สินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศเสียภาษีเพียงร้อยละ 5 (แม้ว่าในปี 2546 ประเทศไทยต้องมีการปรับอัตราภาษีนำเข้าให้เหลือร้อยละ 0 ตามข้อตกลงของ AFTA ก็ตาม แต่ขณะนี้การปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวยังดำเนินไปค่อนข้างล่าช้า) ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูง ขณะที่ไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายให้สูงขึ้นตามไปด้วย เพราะจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ในส่วนของตลาดส่งออกปัจจุบันความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่ต่ำของไทยเริ่มลดน้อยลง โดยมีประเทศผู้ผลิตอื่นที่มีความได้เปรียบมากกว่าคือ จีน เวียดนาม และพม่า ประกอบกับมีคู่แข่งในด้านคุณภาพสินค้า เช่น มาเลเซีย ดังนั้น การเปิดเขตเสรีอาฟต้าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยทำให้เสียเปรียบผู้ผลิตต่างประเทศและอาจสูญเสียตลาดที่สำคัญให้กับคู่แข่งได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2544 จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในและภายนอกว่าจะเอื้ออำนวยมากน้อยเพียงใด เช่น ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การแก้ไขภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งกลยุทธ์ต่างๆ ของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเอง เป็นต้น

กุมภาพันธ์ 2544

ที่มา : บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.