ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2544
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเริ่มทำการผลิตในประเทศมาตั้งแต่ปี 2515 โดยมีภาครัฐให้การส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ ประกอบกับค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ ส่งผลให้มีนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยทำการผลิตในลักษณะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่มาประกอบเป็นชิ้นส่วนแล้วส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดหรือบริษัทแม่ในต่างประเทศ
การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของไทย ซึ่งได้แก่ สายไฟและส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ วงจรพิมพ์ ตลับลูกปืนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล มอเตอร์ไฟฟ้า และแผ่นวงจรพิมพ์ ในช่วงปี 2539-2543 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากมูลค่า 199,521.4 ล้านบาท หรือประมาณ 8,149.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็น 609,146.5 ล้านบาท หรือประมาณ 15,288.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2543 หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.15 รองลงมาได้แก่ สหภาพยุโรป ร้อยละ 16.34 และญี่ปุ่น ร้อยละ 15.53 ตามลำดับ ทั้งนี้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญซึ่งส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในปี 2543 นั้น เป็นการส่งออกส่วนประกอบและสายไฟคอมพิวเตอร์มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.3 ของมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ รองลงมาได้แก่ ชิ้นส่วนประเภทเซมิคอนดักเตอร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.3 โดยในส่วนนี้เป็นการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าในสัดส่วนถึงร้อยละ 90.7 รองลงมาได้แก่ ทรานซิสเตอร์ ร้อยละ 8.4 และไดโอด ร้อยละ 0.9 ตามลำดับ
ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2544 ภาวะเศรษฐกิจและการค้าของโลกเริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สหรัฐฯ เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ จึงประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึง 2 ครั้งในปี 2543 ซึ่งแม้ว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลทำให้ประชาชนไม่แน่ใจในเสถียรภาพของเศรษฐกิจและเริ่มชะลอการใช้จ่ายลง สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน โดยลูกค้าได้ชะลอคำสั่งในการส่งมอบสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ จะส่งผลต่อเนื่องให้การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐฯ ในปี 2544 มีแนวโน้มลดลงอย่างแน่นอน
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนั้น จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐและความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยในระยะสั้นอาจขยายฐานการตลาดไปยังประเทศที่ยังมีศักยภาพสูง เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และจีน รวมไปถึงการขยายฐานไปยังตลาดใหม่ๆ ได้แก่ แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา เป็นต้น ประกอบกับส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิตใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น สำหรับในระยะยาวนั้น ควรสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงการผลิตให้ครบวงจรตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างภาษีและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในระดับที่สูงขึ้น
มีนาคม 2544
ที่มา : บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
|