คอมพิวเตอร์ปี 46 : แข่งขันสูง ... ผู้ผลิตในประเทศต้องเร่งปรับตัว
ปีที่ 8 ฉบับที่ 1167
วันที่ 27 ธันวาคม 2545
ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศเริ่มระอุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์แบรนด์ดังจากต่างประเทศปรับลดราคาจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ลง
ทั้งเครื่องแบบตั้งโต๊ะและเครื่องโน้ตบุ๊ค รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในระดับล่างจากผู้ผลิตในประเทศ
หรือโลคัลแบรนด์ ทั้งนี้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะหรือพีซีมีการปรับราคามาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกันที่ประมาณ 19,000-25,000
บาทต่อเครื่อง ทั้งนี้การปรับลดราคาในครั้งนี้ทำให้ตลาดคอนซูเมอร์มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดองค์กรขนาดกลางและเล็ก
หรือเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเป้าหมายทางการตลาดที่สำคัญที่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์
การปรับลดราคาของผู้ผลิตในค่ายอินเตอร์แบรนด์
เช่น เอชพี คอมแพค และไอบีเอ็มนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับตัวขององค์กรภายหลังจากมีการคาดการณ์ว่า
ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์ในประเทศจะมีการปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 15-20
ในนอกจากนี้ยังพบว่า พีซีโลคัลแบรนด์จะเพิ่มสัดส่วนยอดขายเป็นร้อยละ 70 ของตลาดและอินเตอร์แบรนด์จะลดสัดส่วนยอดขายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 30 โดยมียอดจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 760,000 เครื่อง
ทั้งนี้สามารถแบ่งออกเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือตั้งโต๊ะ ประมาณ
600,000 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา หรือ โน้ตบุ๊ค ประมาณ
100,000 เครื่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (พีดีเอ) จำนวน 60,000 เครื่อง
สำหรับในปี
2546 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ยอดจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยรวมจะขยายตัวขึ้นร้อยละ
15 โดยที่ตลาดคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ
7 ปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 642,000
เครื่อง ส่วนตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่าย 165,000 เครื่อง มีอัตราการขยายตัวประมาณ ร้อยละ 65 ปริมาณการจำหน่ายเครื่องพีดีเอ
ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มีปริมาณการจำหน่าย 66,000 เครื่อง ทำให้ผู้ผลิตอินเตอร์แบรนด์ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ให้ได้มากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดโฮมยูสและกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ผลิตแบรนด์เนมให้ความสำคัญมาก
หลังจากที่ตลาดราชการและรัฐวิสาหกิจ กลุ่มผู้ผลิตแบรนด์เนมเข้าไปทำตลาดได้ยากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้งานสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสำหรับงานเทคโนโลยีสารสนเทศในภาครัฐ
ซึ่งจัดว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท จากโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
(e-government) โครงการอินเทอร์เน็ตตำบล โครงการอินเทอร์เน็ตโรงเรียน
และโครงการต่างๆ หน่วยงานอิสระต่างๆ เช่น การสื่อสารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น
รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือ e-procurement โดยเน้นจากผู้ประกอบการในประเทศ
การเพิ่มบทบาทของเครื่องคอมพิวเตอร์โลคัลแบรนด์ในตลาดโฮมยูส
เป็นที่น่าจับตามองเพิ่มขึ้น หลักจากที่รัฐบาลโดยเนคเทค หรือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
ได้จัดทำ โครงการคอมพิวเตอร์ราคาประหยัด หรือ โครงการคอมพิวเตอร์ไทยคุณภาพเนคเทค ขึ้นโดยจัดเครื่องคอมพิวเตอร์ราคา
19,900 บาทต่อเครื่อง พร้อมเครื่องหมายรับรองคุณภาพจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป
ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิต/ผู้ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศหรือโลคัลแบรนด์จำนวน
14 ราย เป็นผู้จำหน่าย โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 25,000 เครื่องต่อเดือน และได้รับการตอบรับพอสมควร รวมทั้งการจัดตั้ง สมาคมอุตสาหกรรมผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ไทย (Thai Computer
Manufacturer Association : TCMA) พร้อมทั้งการวางนโยบายให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับการส่งเสริมจากนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ
การเพิ่มบทบาทของคอมพิวเตอร์โลคัลแบรนด์
ได้ส่งผลให้ผู้ผลิตอินเตอร์ แบรนด์เริ่มปรับแผนการตลาดเพื่อรองรับสภาพการแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น
โดยส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีราคาต่ำใกล้เคียงกับเครื่องคอมพิวเตอร์โลคัลแบรนด์เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดหรือรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตนไว้
ทั้งที่ก่อนหน้านี้อินเตอร์แบรนด์จะเน้นสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง ความจุของหน่วยความมาก
และความเร็วของเครื่องสูง รองรับการใช้งานมัลติมีเดียและอินเทอร์เน็ต เป็นหลัก ซึ่งการปรับลดราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์อินเตอร์แบรนด์ในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงให้กับผู้ผลิตภายในประเทศ
ที่มีแผนการขยายตลาดมาสู่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปเป็นอันต้องสะดุดและต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปีหน้า
โดยเฉพาะในตลาดเอสเอ็มอีและโฮมยูส เนื่องจากอินเตอร์แบรนด์มีจุดแข็งในด้านความน่าเชื่อถือของแบรนด์หรือตราสินค้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ประกอบกับระบบการจัดการ บริการหลังการขาย และศูนย์บริการซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับการใช้งาน
ผนวกเข้ากับราคาที่ใกล้เคียงกับเครื่องโลคัลแบรนด์และเครื่องประกอบเองแล้ว จะเห็นได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์อินเตอร์แบรนด์มีความได้เปรียบทางด้านการตลาดมากกว่า
ในขณะที่ผู้ผลิตโลคัลแบรนด์หลายรายโดยเฉพาะรายย่อยก็มีจุดอ่อนในด้านต่างๆ คือ
ด้านการผลิต ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ต้องพึ่งพิงกับวัตถุดิบและส่วนประกอบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก
แม้ว่าไทยจะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ผลิตส่วนใหญ่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
หรือเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ และเป็นสินค้าที่เป็นส่วนประกอบ
เช่น แผ่นวงจร ไดโอด ยังไม่เป็นชิ้นส่วนที่สามารถทำมาประกอบได้โดยตรงเมื่อชิ้นส่วนเหล่านั้นถูกส่งออกไปประกอบเป็นอุปกรณ์และส่งกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศอีกครั้ง
เช่น ฮาร์ดดิสก์ เมนบอร์ด เมโมรี่ เป็นต้น ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
ด้านการบริการ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์โลคัลแบรนด์ซึ่งประมาณว่าจะมีประมาณ 3,000
รายทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กและมีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในตลาดเพียง
20-30 แบรนด์ ทำให้ระบบการบริการ หรือบริการหลังการขายน้อย ยังไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดมากนัก
ประกอบกับต้นทุนการให้บริการหลังการขายค่อนข้างสูง ในขณะที่ผู้ประกอบการมีเงินทุนไม่เพียงพอ
ทำให้มีการกระจายศูนย์บริการไม่ทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันบริการหลังการขายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภคอีกประการหนึ่ง
ช่องทางการจำหน่าย
เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องโลคัลแบรนด์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก
มีผู้ผลิตรายใหญ่อยู่น้อยราย และมีการกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพถึงร้อยละ 65-70 ทำให้การกระจายของสินค้าทำได้น้อย
และสินค้าไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ในขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์อินเตอร์แบรนด์จะมีการกระจายช่องทางการจำหน่ายไปยังตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ
ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง
แม้ว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์จากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
เช่น ฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ของบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี ชิพความจำของฟูจิตสึ ดิสก์ไดรฟ์ของมินิแบร์
แผ่นวงจรพิมพ์ของเดลต้า เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตตามคำสั่งจากบริษัทแม่จากต่างประเทศและส่งไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ
และส่วนใหญ่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ แต่การพัฒนาเทคโนโลยียังเป็นส่วนน้อย
สำหรับผู้ผลิตที่ผลิตส่วนประกอบคอมพิวเตอร์เพื่อจำหน่ายในประเทศส่วนมากจะซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อผลิต
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย นอกจากนี้บุคลากรของไทยที่จะรองรับมีจำนวนไม่เพียงพอ
ซอฟท์แวร์ ผู้ประกอบการไทยยังมีข้อเสียเปรียบในเรื่องซอฟท์แวร์ซึ่งยังพึ่งพิงกับซอฟท์แวร์ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ
และสายป่านความร่วมมือของผู้ประกอบการไทยยังเสียเปรียบผู้ประกอบการต่างประเทศอยู่มาก
และซอฟท์แวร์จะเข้ามามีบทบาทต่อวงการเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการลิขสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในปี 2546 ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นจากปี
2545 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับลดลงอีก
เนื่องจากการปรับลดภาษีเครื่องคอมพิวเตอร์ตามข้อตกลงว่าด้วยการค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ
หรือ ITA ที่ให้ปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปลงเหลือ
0% โดยเริ่มใช้ในเดือนมกราคม 2546 นี้ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องเร่งปรับตัวรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น
โดยเน้นการจำหน่ายในกลุ่มลูกค้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ การให้เครดิตแก่ลูกค้า เน้นโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคหรือช่องทางการขายตรงต่อลูกค้า
การขยายศูนย์บริการเพื่อครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง เป็นต้น
ที่มา
: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
|