แท็บเล็ต พีซี : กระตุ้น ... ยอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์ปี 2003
ปีที่ 8 ฉบับที่ 1146 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2545


การเปิดตัวของ แท็บเล็ตพีซี (Tablet PC) หรือ คอมพิวเตอร์พกพารุ่นใหม่ที่ป้อนข้อมูลด้วยปากกาแทนการป้อนข้อมูลด้วยการพิมพ์ผ่านคีย์บอร์ดหรือแป้นพิมพ์ของผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 4 ราย คือ เอ็นอีซี ฟูจิตซึ โซเท็ก และ โตชิบา พร้อมกับไมโครซอฟต์ บริษัทซอฟแวร์อันดับหนึ่งของโลก ที่ได้ประกาศเปิดตัวระบบปฏิบัติการวินโดว์ เอ็กซ์พี แท็บเล็ต พีซี เอดีชั่น หรือระบบปฏิบัติการวินโดว์ที่ใช้กับเครื่องแท็บเล็ตพีซี ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ พีซี ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ยอดการจำหน่ายเครื่องพีซีทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 4 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ยอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลปรับตัวลดลงนั้นมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดเทคโนโลยีขนาดใหญ่ แม้ว่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หลายรายจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าตลาดเพื่อกระตุ้นยอดการจำหน่าย เช่น เพนเที่ยมโฟร์ โปรเซสเซอร์ ซึ่งเป็น ซีพียู (Central Processing Unit : CPU) หรือหน่วยประมวลผลกลาง ที่มีความเร็วและประสิทธิภาพการทำงานมัลติมีเดียสูงขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมากนัก

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของปี 2545 ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่หลายรายได้นำผลิตภัณฑ์ใหม่ แท็บเล็ตพีซี ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะสามารถกระตุ้นยอดการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เพิ่มสูงขึ้นได้ในปี 2546 แท็บเล็ต พีซี มีความคล้ายคลึงกับการใช้งานคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค แต่มีคุณสมบัติพิเศษด้วยการป้อนข้อมูลด้วยปากกา (pen base) มีระบบการสื่อสารไร้สายในตัวที่สามารถเชื่อต่ออินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้ มีอุปกรณ์เสริมหรือตัวฐาน (docking station) เพื่อให้ใช้งานเหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเชื่อมกับอุปกรณ์อื่น เช่น เม้าส์ แป้นพิมพ์ ซีดีรอม เครือข่ายแลน และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ทำให้เครื่องมีความยืดหยุ่นในการใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายได้สะดวกหรือมีแอพพลิเคชั่นการทำงานเหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (desktop) เคลื่อนย้ายได้สะดวกเหมือนคอมพิวเตอร์พกพา (notebook) และการใช้ปากกาเพื่อป้อนข้อมูลเหมือนคอมพิวเตอร์มือถือ (PDA) เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตคาดว่าจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกในปี 2546 ให้ขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การเปิดตัวแท็บเล็ตพีซี อาจจะไม่ส่งผลต่อตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยในช่วงแรกมากนัก เนื่องจากมีราคาจำหน่ายสูงถึงระดับ 90,000-100,000 บาท ในขณะที่ซอฟท์แวร์ระบบปฏิบัติการยังรองรับได้เพียง 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งหากราคาปรับลดลงและมีการพัฒนาซอฟท์แวร์ภาษาไทยรองรับแล้ว คาดว่า แท็บเล็ต พีซีจะได้รับความสนใจมากขึ้น

 

สำหรับสถานการณ์ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในประเทศไทย ในช่วงปี 2545 นั้น ตลาดในประเทศมียอดจำหน่ายโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15-20 จากปี 2544 โดยมียอดจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 760,000 เครื่อง ทั้งนี้สามารถแบ่งออกเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือตั้งโต๊ะ ประมาณ 600,000 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา หรือ โน้ตบุ๊ค ประมาณ 100,000 เครื่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (พีดีเอ) จำนวน 60,000 เครื่อง สำหรับในปี 2546 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ยอดจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยรวมจะขยายตัวขึ้นร้อยละ 15 โดยที่ตลาดคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 7 ปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 642,000 เครื่อง ส่วนตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่าย 165,000 เครื่อง มีอัตราการขยายตัวประมาณ ร้อยละ 65 ปริมาณการจำหน่ายเครื่องพีดีเอ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มีปริมาณการจำหน่าย 66,000 เครื่อง

 

ทั้งนี้ ตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เป็นตลาดที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวของยอดขายในปี 2545 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 จากปี 2544 ที่ผ่านมา และเป็นที่คาดหมายว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2546 โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65 ปัจจัยที่ส่งผลให้ยอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คขยายตัวเพิ่มขึ้นมากนั้นมาจาก

1. ระดับราคาจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง โดยมีราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ระดับ 30,000 บาทขึ้นไป เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเริ่มต้นที่กว่า 80,000 บาทต่อเครื่องเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายกลุ่มลูกค้าในระดับล่างได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทั้งนี้ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่ปรับลดลงนั้นเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลงมา โดยเฉพาะจอภาพแอลซีดี ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญปรับลดราคาลงมากว่า 50%

2. ประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น มีความใกล้เคียงกับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ทั้งในด้านความเร็วในการประมวลผล หรือการใช้งานระบบมัลติมีเดีย อีกทั้งยังมีการเพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานรองรับเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สาย เช่น อินเทอร์เน็ต ระบบแลนไร้สาย หรือเชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อีกด้วย

3. เคลื่อนย้ายสะดวก ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คทีเหนือกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ทั้งนี้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานนอกสถานที่เพิ่มขึ้น ทำให้หน่วยธุรกิจและกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์เคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ ได้สะดวก โดยเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คในปัจจุบันได้รับการออกแบบให้มีน้ำหนักเบาขึ้น และมีขนาดที่เล็กลง ทำให้การพกพาสะดวกขึ้นตามไปด้วย

 

สำหรับตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบตั้งโต๊ะนั้น แม้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ก็ยังมีปริมาณการจำหน่ายสูง ทั้งในตลาดคอนซูเมอร์และตลาดองค์กร ในปี 2546 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 นั้น เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการขยายตัวของงบประมาณการใช้จ่ายของภาครัฐทางด้านการซื้อสินค้าทางด้านไอที ในปี 2546 ที่มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ตามแผนการพัฒนาโครงการ e-government นอกจากนี้ยังมีโครงการอินเทอร์เน็ตตำบลของกระทรวงมหาดไทย และโครงการเช่าซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรุงเทพมหานคร มูลค่ากว่า 750 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งโครงการของหน่วยงานราชการเหล่านี้ได้ส่งผลให้ยอดจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ในประเทศ หรือ โลคัลแบรนด์ เนื่องจากนโยบายสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศของรัฐบาลในการใช้แบรนด์ในประเทศทดแทนแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของพีซีโลคัลแบรนด์ในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 จากในปี 2545 ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ในขณะที่พีซีแบรนด์ต่างประเทศมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 40 ในปี 2545 เหลือร้อยละ 30 ในปี 2546 อย่างไรก็ตาม พีซีแบรนด์เนมจากต่างประเทศยังคงมีบทบาทสูงในการจำหน่ายให้กับหน่วยงานเอกชน ซึ่งนิยมใช้แบรนด์จากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงและบริการหลังการขายที่ดีเป็นปัจจัยหนุน ส่วนในตลาดคอนซูเมอร์หรือผู้ใช้ตามบ้านนั้น ปัจจัยทางด้านราคาจำหน่ายยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อ และคาดว่าการแข่งขันทางด้านราคายังอยู่ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะในตลาดระดับล่าง อย่างไรก็ตามการจัดรายการส่งเสริมการขายและการจำหน่ายแบบเช่าซื้อดอกเบี้ยต่ำจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ปริมาณการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะขยายตัวขึ้น

 

สำหรับตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือหรือพีดีเอ ในปี 2546 คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 นั้น ภาวะตลาดยังมีการแข่งขันสูง โดยเริ่มมีผู้ผลิตหลายรายเริ่มเข้ามาทำตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะโลคัลแบรนด์ที่เริ่มเดินสายการผลิตพีดีเอ เช่น เบลต้า เป็นต้น ทำให้การแข่งขันในตลาดระดับกลางถึงล่าง ยังคงเน้นที่ตัวเครื่องที่มีราคาต่ำ ในขณะที่เครื่องในตลาดระดับบนเน้นการใช้งานที่ซับซ้อนขึ้น และรองรับเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย หรือการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อรับส่งข้อมูล เป็นปัจจัยกระตุ้นตลาด

 

อย่างไรก็ตามประมาณการณ์อัตรการเติบโตของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนี้ เป็นเพียงประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีปัจจัยลบหลายด้านที่อาจทำให้การขยายตัวของยอดการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์อาจสูงขึ้นได้ตามเป้าหลายประการ เช่น ราคาของซอฟท์แวร์สำหรับใช้งานควบคู่กับตัวเครื่อง ความผันผวนของเศรษฐกิจ การชะลอการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่อปริมาณการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.