จับตาเทคโนโลยีไร้สายยุคที่ 3 แรงขับเคลื่อน "มือถือ" ก้าวสู่ "มีเดีย พันธุ์ใหม่" "

 

โต๊ะข่าวไอที

ถ้าจะพูดถึง "ระบบโทรศัพท์มือถือยุคที่ 3 " หรือ 3จี ช่วงเวลานี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่คึกคักมากที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากกระแสความตื่นตัว ของการใช้โทรศัพท์มือถือของคนทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่มุมไหน โซนไหน อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือดูจะมีแนวโน้มของการเติบโตที่เห็นแววสดใส ขณะที่ 3จี เองสามารถเข้ามามีบทบาทในการสร้างสีสัน ตลอดจนความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้านไอเดีย และนวัตกรรมของรูปแบบทางธุรกิจที่จะเข้ามาเสริม กับการใช้งานเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคดังกล่าว เพื่อรองรับการเปลี่ยนสถานะให้โทรศัพท์มือถือกลายเป็น "มีเดีย พันธุ์ใหม่" (New Media Channel) แห่งยุค

 

ผู้บริหารที่ดูแลในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากบริษัทซีเมนส์ บอกว่า 3 จี จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดบริการบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีความชัดเจน มากขึ้น ในแง่ของการให้บริการ และแสดงผลของข้อมูล โดยข้อมูลประเภทเสียง และภาพถือเป็นมีเดียอย่างหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือ และข้อมูลเหล่านี้ยังถือเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล (Someone property) ของผู้ใช้อีกด้วย "ปัจจุบันนี้ผมถือว่า ข้อมูลภาพ และเสียงบนโทรศัพท์มือถือนั้นคือ มีเดีย แชนนัลรูปแบบใหม่ (New Media Channel) และข้อมูลเหล่านี้ก็เปรียบเสมือน เป็นทรัพย์สินของส่วนบุคคล ที่สามารถเก็บข้อมูลที่ตัวเองสนใจไว้ และก็สามารถเรียกกลับมาใช้งานได้ทันที ที่ต้องการไม่ว่าจะด้วยเชิงธุรกิจ หรือเชิงให้ความบันเทิงก็ตาม" เขาบอกว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดบริการบนโทรศัพท์มือถือใหม่ๆ ผู้ใช้งานมักจะมองข้ามเพราะเห็นว่าโทรศัพท์มีขนาดจอที่เล็กคงไม่สามารถดูภาพยนตร์ที่ตัวเองชื่นชอบได้อย่างออกอรรถรสมากสักเท่าไหร่ พร้อมๆ กับแนวคิดที่ว่า โทรศัพท์มือถืออย่างมากก็คงมีไว้แค่โทรเท่านั้น แต่ ณ วันนี้ ความคิดดังกล่าวเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยนวัตกรรมเครื่องลูกข่ายรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้มาตรฐานของเทคโนโลยีอย่างจีพีอาร์เอส หรือมือถือยุค 2.5จี และยูเอ็มทีเอส (3จี) ตลอดจนการพัฒนาการของเครื่องลูกข่ายมาเป็นสมาร์ทโฟน หรือประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของพีดีเอ

 

ขณะที่แนวโน้มของการสื่อสารกันด้วยความเป็นมีเดียระหว่างโทรศัพท์มือถือด้วยกันก็จะยิ่งเพิ่มความชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งภาพในตระกูลเจเปก (JPEG) ไปจนถึงภาพเอ็มเพ็ค 4 (วิดีโอ-เอ็มพี4) หรือการแลกไฟล์เอ็มพี 3 กันผ่านทางระบบอินฟราเรดของตัวเครื่องลูกข่ายถือเป็นมีเดีย ดิลิเวอรี่ (Media Delivery) ที่ง่าย และไม่ยุ่งยาก

"ต่อไปบริการประเภทมิวสิค วิดีโอ หรือภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดติดอันดับบล็อกบลัสเตอร์ เกมออนไลน์ชื่อดัง ความสามารถในการท่องโลกอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงกล้องตรวจสภาพการจราจร ที่พร้อมจะเตือนให้คุณทราบทุกเมื่อว่าถนนเส้นไหนที่รถติดแบบขยับไม่ได้ พร้อมๆ กับโชว์แผนที่บอกเส้นทาง และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการเลี่ยงเส้นทางนั้นๆ ขณะที่ยังเป็นนาวิกเตอร์จำเป็นบอกถึงร้านอาหาร และสถานที่สำคัญๆ ในละแวกที่คุณอยู่ได้อย่างแม่นยำ บริการเหล่านี้จะกลายเป็นมาตรฐานสำคัญของโทรศัพท์มือถือ"

 

สร้างความแตกต่างผ่านกล้องตัวจิ๋ว

จากความแรงในปัจจุบันของโทรศัพท์มือถือ ที่มาพร้อมกล้องดิจิทัลตัวจิ๋ว ยังได้เกิดบริการโมบาย วิดีโอที่สามารถสร้างวิดีโอ คลิป พร้อมทั้งเสียงสเตอริโอคุณภาพเยี่ยม ซึ่งถือเป็นบริการอีกขั้นของการถ่ายภาพ หรือรับส่งภาพผ่านมือถือ มาสู่การสร้าง หรือรับส่งวิดีโอผ่านมือถือ ที่ผู้ใช้งานสามารถเก็บ และย้อนกลับมาดูได้ทุกที่ ทุกเวลา

และโมบาย วิดีโอนี้ ยังสามารถสร้างสรรค์รูปแบบของธุรกิจในประเภทของออนดีมานด์ หรือบริการตามคำขอได้ด้วย ขณะที่เทคโนโลยีที่เรียกว่า "สตรีมมิ่ง" (Streaming) หรือการแพร่ภาพสด ก็สามารถนำมาผสมผสานกับเนื้อหาที่เป็นเอ็มเอ็มเอส เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างสรรค์งานได้ด้วยตัวเอง นวัตกรรมเหล่านี้ได้มาพร้อมกับบริการเสริมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง และกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางหนึ่งในการรับรู้ข่าวสาร และความบันเทิงแบบเคลื่อนที่ นอกเหนือไปจากสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์เชื่อมอินเทอร์เน็ต "บริการเสริม" บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในวันนี้ กลายเป็นการส่งผ่านความบันเทิงของสื่อชนิดใหม่ (Media Delivery) ตรงถึงผู้ใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นชินกับการบันเทิงส่งผ่านแบบนี้ จากการบอกรับเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี หรือการเดินเข้าไปซื้อซีดี หรือดีวีดี ตามร้านขายทั่วๆ ไป

 

แหล่งชุมชนใหม่บนมือถือ

พร้อมกันนี้ ด้วยประสิทธิภาพความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงขึ้นของเครือข่าย 3จี ยังช่วยตอบโจทย์ความต้องการสื่อสารในรูปแบบที่ล้ำหน้าขึ้นจาก การติดต่อระหว่างบุคคลต่อบุคคล ไปสู่การพูดคุย หรือพบปะกันผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระหว่างกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว ล่าสุด ผู้ผลิตและเจ้าของเทคโนโลยีด้านสื่อสารไร้สายหลายราย ต่างก็กำลังขะมักเขม้น ในการนำเสนอคุณสมบัติการใช้งานใหม่ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น "พุช-ทู-ทอล์ค" ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถโทร ส่งข้อมูล หรือส่งภาพผ่านไปยังผู้ใช้มือถือคนอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้อย่างสะดวกสบาย และประหยัดด้วยการกดเลขหมายโทรออกเพียงครั้งเดียว

 

ทั้งนี้ ซีเมนส์ หนึ่งในผู้ผลิตระบบสื่อสารไร้สายรายใหญ่ ก็กำลังใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของโปรโตคอลที่รองรับการใช้งานมัลติมีเดีย และโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เรียกว่า SIP (Session Initiation Protocal) เข้ามาสนับสนุนรูปแบบบริการใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดของพุช-ทู-ทอล์ค โดยพัฒนา "Present Manager" ติดตั้งในเครื่องลูกข่ายซีเมนส์ ซึ่งจะช่วยโอนย้ายไอพี แอดเดรส ของผู้ใช้รายนั้นๆ ลงมาในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ช่วยแปลงสภาพของเครื่องให้เป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ขนาดเหมาะมือ และสนับสนุนการติดต่อผ่านอินเทอร์เน็ตได้จากหน้าจอมือถือแทน ปัจจุบัน ซีเมนส์ เริ่มทดสอบบริการรูปแบบนี้แล้วกับออเร้นจ์ ในอังกฤษ รวมทั้งติดตั้งโปรโตคอลดังกล่าว ในเครื่องสมาร์ทโฟน และพอคเก็ต พีซี สำหรับบริการในกลุ่มแรกๆ ที่จะออกมาชิมลางตลาด ได้แก่ บริการข้อความทันใจ (Instant Messaging) และการประชุมทางภาพผ่านมือถือ (วิดีโอ โฟน) เป็นต้น

 

กระตุ้นยอดใช้บริการข้อมูล

ขณะที่ ลูเซ่นส์ เทคโนโลยีส์ จำกัด เจ้าของเทคโนโลยีสื่อสารรายใหญ่จากสหรัฐ ก็กำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อนำเสนอแอพพลิเคชั่น "พุช-ทู-สปีค" ให้กับบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก โดยมีความมั่นใจกับอนาคตของแอพพลิเคชั่นนี้ว่า จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ต่อเลขหมายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยการกระตุ้นยอดใช้บริการเสริมด้านข้อมูล และยังสามารถต่อยอดถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างความแตกต่างในการให้บริการจากคู่แข่งรายอื่นๆ ด้วย กระนั้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทซีเมนส์ ได้แบ่งพัฒนาการของบริการบนโทรศัพท์มือถือ โดยเขาใช้คำว่าเป็นพัฒนาการของธุรกิจโมบาย มีเดีย (Mobile Media Business) โดยจะเริ่มจากเทคโนโลยีเอสเอ็มเอส พัฒนาต่อมาเป็นโมบาย-อีเมล มาถึงเทคโนโลยีมัลติมีเดีย แมสเสจจิ้ง และก้าวขึ้นมาสู่การเป็นสตรีมมิ่ง เอ็มเอ็มเอสที่ได้รับการวางมือให้เป็นเทคโนโลยีดาวเด่นคู่หูของเทคโนโลยี 3จี ต่อไปในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม หากเรามองย้อนกลับมาที่ตลาดบ้านเราแล้ว การใช้บริการรูปแบบใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดพุช-ทู-ทอล์ค นั้น ยังคงต้องรอความหวังจากฟากของผู้ให้บริการ เนื่องจากท่ามกลางความสะดวกสบายในการสื่อสารของกลุ่มเพื่อนฝูง หรือครอบครัวของลูกค้านั้น ในแง่ของผู้ให้บริการก็ต้องทำใจกับยอดกดเลขหมายโทรออก ที่จะลดลงตามไปด้วย เพื่อแลกกับความนิยมที่จะตามมาหลังจากผู้ใช้ "ติดใจ" กับสีสันและความสะดวกสบายของการติดต่อสื่อสาร อันจะช่วยกระตุ้นปริมาณความถี่ในการใช้ในระยะกลาง หรือระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันหากเราส่งเอสเอ็มเอส, เอ็มเอ็มเอส หรือโทรประชุมหลายสายผ่านมือถือ ก็จะคิดค่าใช้บริการตามจำนวนเลขหมายที่เราสื่อสารด้วย แต่จากคุณสมบัติของพุช-ทู-ทอล์ค การสื่อสารไปยังกลุ่ม (คอมมูนิตี้) เดียวกัน จะเท่ากับการโทรออก หรือกดส่งข้อมูลเพียงครั้งเดียว

 

เปิดกรณีศึกษาความสำเร็จ 3จี

เมื่อพูดถึงความสำเร็จของ 3จี แล้ว คงจะไม่พูดถึง ซีดีเอ็มเอ เดลเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป (CDG) ไม่ได้ เพราะเขาได้มีการประกาศระบบโทรศัพท์ ซีดีเอ็มเอ 2000 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานเทคโนโลยี 3จี เน้นไปที่บริการด้านข้อมูลเป็นสำคัญ และมีผู้ใช้บริการใช้แล้วในวงกว้างวัดได้จากยอดของผู้ใช้บริการจนถึง ณ วันนี้มากกว่า 54 ล้านคนทั่วโลก อ้างอิงตัวเลขจากบริษัท อีเอ็มซี เวิลด์ไวด์ ดาต้าเบส และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่า 55% ของผู้ใช้บริการด้านดาต้าทั่วโลก ระบบซีดีเอ็มเอ 2000 นี้เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 50% มากกว่ายอดผู้ใช้โทรศัพท์ในระบบโทรศัพท์ 2จี ทั้งนี้ เพราะระบบโทรศัพท์ซีดีเอ็มเอ 2000 นั้น สามารถสนับสนุนบริการข้อมูลได้ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มยอดผู้ใช้บริการ โดยผู้ให้บริการบางราย ได้รายงานถึงตัวเลขรายได้ที่น่าสนใจจากระบบซีดีเอ็มเอ 2000 วันเอ็กซ์อีวี-ดีโอ (CDMA2000 1xEV-DO) ด้วยว่า ยอดผู้ใช้บริการนั้นได้เพิ่มขึ้นมากถึง 1,100% เมื่อเทียบกับยอดผู้ใช้โทรศัพท์ในระบบ 2จี ที่มีเพียง 30% ของรายได้ทั้งหมดของผู้ใช้บริการในระบบโทรศัพท์ 3จี

 

"บริการข้อมูลกำลังกลายมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญของโอเปอเรเตอร์ และซีดีเอ็มเอ 2000 ก็พร้อมที่จะส่งผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลนี้ ให้กับพวกเขาด้วยเช่นกัน" เพอรี่ ลาฟอร์ก ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มซีดีจี กล่าว

และด้วยความสามารถของระบบในการส่งผ่านข้อมูลได้จำนวนมาก และด้วยความเร็วที่สูง ขณะเดียวกับการจำหน่ายเครื่องลูกข่ายรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถรองรับในระบบดังกล่าวได้ ทำให้บรรดาผู้ให้บริการทั้งหลายสามารถสร้างรายได้ใหม่ๆ เช่น บริการด้านมัลติมีเดียที่เร้าใจ และสร้างสีสันให้ชีวิตประจำวันโดยจะเป็นตัวกระตุ้นความต้องการให้กับกลุ่มลูกค้า และ "เม็ดเงิน" มหาศาลก็จะไหลมาสู่โอเปอเรเตอร์ในท้ายที่สุด

 

ทั้งนี้ บางผู้ให้บริการนั้น รายได้ของพวกเขาเติบโตขึ้นเป็น 2 เท่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2003 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว และแนวโน้มดังกล่าวก็จะยังคงต่อเนื่อง ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการที่จะเพิ่มมากขึ้น และผู้ให้บริการก็จะแนะนำบริการด้านมัลติมีเดียที่สามารถ สร้างรายได้มหาศาลให้กับพวกเขาได้ต่อไป ด้วยความเร็วของการส่งผ่านข้อมูลจาก 60 กิโลบิตต่อวินาทีเป็น 100 กิโลบิตต่อวินาทีบนโครงข่ายซีดีเอ็มเอ 2000 วันเอ็กซ์ และ 300 กิโลบิตต่อวินาที เป็น 600 กิโลบิตต่อวินาทีบนโครงข่ายซีดีเอ็มเอ 2000 วันเอ็กซ์อีวี-ดีโอ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใดผู้ให้บริการถึงสามารถนำเสนอบริการที่หลากหลาย และเหมาะสมกับความเร็วของการส่งผ่านข้อมูลที่สูงสุด เช่น วิดีโอ ออนดีมานด์ มิวสิคออนดีมานด์ วิดีโอโฟน เอ็มเอ็มเอส และการถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ รายได้จากบริการเหล่านี้กำลังเป็นที่ได้รับความนิยม หรืออีกนัยหนึ่งคือกลายเป็น เค้กก้อนใหญ่ สำหรับผู้ให้บริการ หลายราย อย่างเคทีเอฟในเกาหลีได้รายงานตัวเลขที่น่าสนใจของเขาว่า วิดีโอออนดีมานด์ได้กลายเป็นแอพพลิเคชั่น สุดฮอต ของผู้ใช้บริการของเขา โดยมีการดาวน์โหลดมากกว่า 51% ของการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เขามีทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการรายอื่นที่ได้รายงานถึงตัวเลขที่น่าสนใจของผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบเครือข่าย ซีดีเอ็มเอ 2000 ด้วยปริมาณความต้องการของการใช้บริการต่างๆ เช่น

 

เอสเค เทเลคอมของประเทศเกาหลี รายงานรายได้จากบริการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นโมบาย อินเทอร์เน็ต การส่งข้อความ บริการจีพีอาร์เอส และอีคอมเมิร์ซ ที่พุ่งสูงถึง 91% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2003 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2545 เคดีดีไอ ของประเทศญี่ปุ่น มียอดรายได้ในระบบซีดีเอ็มเอ 2000 ราว 18% มากกว่ายอดรายได้จากผู้ใช้ในระบบ 2จี และมีการใช้งานของดาต้ามากกว่า 23% ต่อเดือน เวอร์ไรซอน ไวร์เลส ในอเมริกาเหนือรายงานว่า บริการ "Get It Now" ที่มีบริการอย่างเกม ริงโทน และแอพพลิชั่นทางด้านข้อมูลอื่นนั้นมีการ เติบโตของรายได้จากการดาวน์โหลดต่อเดือนมากกว่า 2.5 ล้านการดาวน์โหลด ขณะที่ ดร.จู ยัง ซอง รองประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจใหม่ บริษัท เคทีเอฟ ผู้ให้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในเกาหลี ซึ่งเปิดให้บริการ 3จี ด้วยเทคโนโลยี ซีดีเอ็มเอ วันเอ็กซ์ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ให้บริการ 3จีของบริษัทว่า สัดส่วนรายได้จากบริการเสริมที่ไม่ใช่เสียง (นอนวอยซ์) จะเติบโตขึ้นตามประสิทธิภาพความเร็ว ที่สูงขึ้นของเครือข่ายที่ให้บริการ โดยผลประกอบการสิ้นสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้ต่อเลขหมายจากบริการเสริมด้านข้อมูลของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 2 มีอยู่ราว 1.1% ขณะที่ซีดีเอ็มเอ วันเอ็กซ์ ทำได้ 4% และซีดีเอ็มเอ วันเอ็กซ์ อีวี-ดีโอ ซึ่งเป็นพัฒนาการล่าสุดของ 3จี ที่บริษัทเปิดให้บริการแล้วด้วยคุณสมบัติรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุด 2.4 เมกะบิตต่อวินาที สร้างรายได้ในส่วนนี้ได้ถึง 12.8%

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.