มาตรฐานสื่อสารไร้สายยุคที่ 3

ไอทีไร้พรมแดน : พันธ์ศักดิ์ ศรีทรัพย์

วงการสื่อสารโทรคมนาคม พูดถึงการสื่อสารไร้สายในยุคที่ 3 มานานแล้ว นับตั้งแต่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ไอทียู มีแผนกำหนดการพัฒนาเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สายยุคที่ 3 เกือบ 10 ปีมาแล้ว โดยมีแนวคิดที่จะให้เป็นเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคล ที่มีความสามารถใช้งานได้ทุกแห่งทั่วโลก และตลอดเวลา (anywhere, anytime) รวมทั้งพยายามกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคออกมาแนะนำต่อผู้ผลิตทั้งหลาย เพื่อระบบสื่อสารไร้สายของโลก ทว่าหลายฝ่ายยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ด้านมาตรฐานเทคโนโลยีที่ใช้ รวมทั้งบางประเทศยังติดเรื่องของความถี่ที่ใช้งาน โดยเฉพาะพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา มีปัญหากับเขาด้วยเช่นกัน

ขณะที่ ยังไม่มีความลงตัวเรื่องของมาตรฐานสื่อสารไร้สายยุคที่ 3 อยู่นี้ การพัฒนาเทคโนโลยีของแต่ละค่าย เพื่อสร้างจุดเด่นและจุดแข็ง ให้แก่เทคโนโลยีของตัวเองดำเนินการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเป็นมาตรฐานที่มีการยอมรับกันทั่วโลก เพราะนั่นหมายถึงผลประโยชน์มหาศาลที่ตัวเองจะได้รับ จนทำให้ผู้ผลิตชั้นนำหลายรายเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย และหันกลับไปพัฒนา เพื่อสร้างมาตรฐานสื่อสารไร้สายยุคที่ 2.5 แทน และบางรายของบางประเทศก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีไร้สายยุคที่ 4 เลยทีเดียว (ดังเช่นกรณีของผู้ผลิตในประเทศจีน)

อย่างไรก็ดี เพื่อทำความเข้าใจถึงการพัฒนามาตรฐานสื่อสารไร้สาย 3G เท่าที่มีการพัฒนาแล้วในโลกนี้มากมาย ซึ่งพอสรุปเทคโนโลยีต่างๆ ได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยเทคโนโลยี GSM, GPRS HCDS และ EDGE

GSM (Global System for Mobile Communications) แนะนำสู่สาธารณชนเมื่อ ค.ศ.1992 ใช้งานอยู่ในย่านเอเชียและยุโรป และละตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ GPRS (General Public Radio Service) เริ่มใช้งานในปี ค.ศ. 2000-2001 เป็นการอัพเกรดเครือข่ายจีเอสเอ็ม EDGE (Enhanced Date Rates for GSM Evolution) ใช้งานในปี ค.ศ. 2001-2002 เป็นการอัพเกรดเครือข่ายจีเอสเอ็มให้สามารถใช้งานกับ HSCSD/GPRS

เทคโนโลยีกลุ่มนี้ ใช้เทคโนโลยีเข้าถึงร่วม (Multiple Access Technology) แบบ TDMA ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้งานอยู่ในย่านความถี่ 6 แถบความถี่ด้วยกัน คือ GSM 450, GSM 480, GSM 750, GSM 850, Standard GSM 900, Extended GSM 900, Railways GSM 900, DCS 1800 และ PCS 1900

กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยเทคโนโลยี IS-95-A, IS-95-B, cdma2000 (1xRTT), 1xEV-DO และ cdma2000 (3xRTT)

IS-95-A (cdmaOne system) และ IS-95-B (cdmaOne system) นำออกใช้งานเมื่อ ค.ศ. 1995-1997 ในอเมริกาเหนือ เกาหลี และประเทศในภูมิภาคเอเชียบางประเทศ โดยมีการใช้งานใน 4 กลุ่มแถบความถี่ด้วยกันคือ สหรัฐอเมริกาและเกาหลี ใช้ความถี่ 824-849 MHz สำหรับเครื่องลูกข่าย (MS) และ 869-894 MHz สำหรับสถานีฐาน ญี่ปุ่นใช้ความถี่ 887-925 MHz สำหรับ MS และ 832-870 MHz สำหรับ BS สหรัฐอเมริกา ใช้ความถี่ 1850-1910 MHz สำหรับ MS และ 1930-1990 MHz สำหรับ BS เกาหลีใช้ความถี่ 1750-1780 MHz สำหรับ MS และ 1840-1870 MHz สำหรับ BS Cdma2000 (1xRTT) 1xRadio Telephome Technology เริ่มใช้งานเมื่อเดือนมีนาคม 2001 ที่เกาหลีก่อน จากนั้นจึงมีการนำไปใช้งานในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น 1xEV-DO (1xEvolution Data Only) ใช้งานตั้งแต่ ค.ศ. 2001-2002 ในเกาหลี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น cdma2000 (3xRTT) เป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดในกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแผนนำออกใช้งาน

มาตรฐานกลุ่มนี้ใช้เทคโนโลยีเข้าถึงร่วมแบบ CDMA มี 2 กลุ่มความถี่ด้วยกันคือ IS-95-A(NMT-450) ความถี่ 411-483 MHz สำหรับ MS และ 421-493 MHz สำหรับ BS และ IMT-2000 ความถี่ 1920-1980 MHz สำหรับ MS และ 2110-2170 สำหรับ BS

กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วยเทคโนโลยี W-CDMA (FDD), W-CDMA (TDD), W-CDMA (low chip rate TDD) และ TD-SCDMA

W-CDMA (FDD) Wideband CDMA Frequence Division Duplex ใช้งานในเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศในภูมิภาคเอเชีย W-CDMA (TDD) Wideband CDMA Time Division Duplex ใช้งานในเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐ อเมริกา และประเทศในภูมิภาคเอเชีย W-CDMA (low chip rate TDD) ใช้งานในเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศในภูมิภาคเอเชีย TD-SCDMA (Time Division Synchronous CDMA) ใช้งานในจีน และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยี W-CDMA (TDD)

มาตรฐานกลุ่มนี้ใช้เทคโนโลยีเข้าถึงร่วมแบบ CDMA และ TDMA/CDMA มี 3 กลุ่มความถี่ด้วยกันคือ IMT-2000, PCS 1900 และ DCS 1800 ส่วนมาตรฐาน TD-SCDMA กำหนดให้ใช้ความถี่ 2010-2025 MHz และสำหรับจีเอสเอ็ม มี 3 ย่านความถี่ที่ใช้งานกับ GSM 900 กับ DCS 1800

หากสนใจที่จะได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมของรายละเอียดทางเทคนิคของเทคโนโลยีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นสามารถข้อมูลสืบค้นได้ที่ www.etsi.org, www.3gpp.org, www.3gpp2.org และ www.cwts.org

มาตรฐานของเทคโนโลยีใดจะได้เป็นมาตรฐานสื่อสารไร้ยุคที่ 3 ของโลกคงต้องติดตามดูกัน อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าจะต้องไม่มีน้อยกว่า 3 มาตรฐาน จากผู้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลี และญี่ปุ่น แต่อาจมีมาตรฐานเทคโนโลยีของจีนสอดแทรกเข้ามาด้วยก็เป็นได้ และในกรณีของจีนมีแนวโน้มค่อนข้างมากด้วย เพราะอย่างน้อยหากมองดูที่จำนวนประชากรของจีน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,300 ล้านคน จะเป็นกำลังผลักดันที่สำคัญในการเร่งให้ทั่วโลกยอมรับกันได้ไม่ยากนัก ประกอบกับบทบาทของจีนในฐานะเป็นสมาชิกประเทศล่าสุด ขององค์การการค้าโลกนั้นค่อนข้างโดดเด่นทีเดียว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.