3 G เทคโนโลยีที่ได้แต่เฝ้ารอ

 

อัจฉรา สาสุข

 

10 ปีที่แล้วไม่มีใครคาดคิดว่ามือถือเครื่องเดียวจะสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อได้ทั่วโลก วันนี้สามารถดูทีวี ส่งข้อมูลจำนวนมากผ่านโทรศัพท์มือถือ และหากเป็นยุคหน้า โทรศัพท์มือถือจะหน้าตาเป็นอย่างไร สำหรับไทยในปัจจุบัน ระบบโทรศัพท์มือถือกำลังพัฒนาอยู่ในช่วงร่ำไรกระโดดจากยุค 2.5 มาสู่ยุค 2.75 ของเทคโนโลยี Edge แต่จนแล้วจนรอดยุคปลายของยุคที่สอง ก็ยังเปิดให้บริการแบบจำกัดพื้นที่ เหมือนกับรู้ตัวว่าการลงทุนอย่างเต็มตัวกับเทคโนโลยีความเร็วที่สูงขึ้น ยังเป็นช่องทางที่ไม่คุ้มกับการลงทุน ทว่า หลายประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แม้แต่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เริ่มขยายระบบโทรศัพท์มือถือมาถึงยุคที่สามหรือ 3G กันแล้ว

 

ถ้าจะพูดถึงข้อดี ข้อได้เปรียบของระบบโทรศัพท์ 3จี หลายคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีคงจำได้ขึ้นใจ เนื่องจากเรื่องของ 3จี เรามีการพูดถึงกันมานานหลายปีแล้ว ถึงอย่างนั้น นายสันติพันธ์ จาติกวณิช รองประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ยังช่วยย้ำข้อแตกต่างของระบบโทรศัพท์ยุคที่สองกับยุคที่สามให้ฟังว่า เทคโนโลยีในระบบโทรศัพท์ยุคใหม่จะช่วยเราสามารถส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก จากระบบจีเอสเอ็มความเร็ว 9-10 กิโลบิตต่อวินาที เมื่อยกระดับเป็นจีพีอาร์เอสก็เร็วขึ้นมาอีก 4 เท่า คือ 30-40 กิโลบิตต่อวินาที และเอดจ์ (EDGE) เทคโนโลยีที่ 2 ผู้ให้บริการมือถือค่ายยักษ์ของไทยเพิ่งเปิดให้ใช้บริการในบางพื้นที่เมื่อไม่นานมานี้ อยู่ที่ความเร็ว 150-170 กิโลบิตต่อวินาที ต่างกันลิบลับกับเทคโนโลยีในยุคที่ 3 หรือ 3จี ที่มีความเร็วสูงถึง 2 เมกะบิตต่อวินาที เรียกได้ว่าเร็วมากกว่ากันอย่างทาบไม่ติด และถึงขณะนี้ผู้ใช้มือถือร้อยละ 80 ของผู้ใช้ทั้งหมดจะใช้ระบบจีเอสเอ็ม ซึ่งขณะนี้ได้ก้าวมาสู่ยุคปลายๆ ของยุคที่ 2 แล้ว ทว่าหลายประเทศดังที่กล่าวในตอนต้นก็ได้หันมาใช้บริการมือถือในระบบ WCDMA ซึ่งเป็นโครงข่ายโทรศัพท์ 3จี

 

นายบัญญัติ เกิดนิยม ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด จากอีริคสัน ได้ให้ข้อมูลของการเริ่มต้นใช้ WCDMA ว่าในขณะนี้มีเครือข่ายที่ใช้จริงทั่วโลก 16 เครือข่าย ทั้งในยุโรปและเอเชีย ตามที่ได้เอ่ยในข้างต้น คิดเป็น 3 ล้านเลขหมาย และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 25 เครือข่ายทั่วโลก ซึ่งคุณบัญญัติคาดว่า น่าจะมีผู้ใช้มือถือในระบบนี้เพิ่มเป็น 41 ล้านเลขหมายเลยทีเดียว หากจะดูถึงอัตราการเติบโตแล้ว คุณบัญญัติ ชี้ว่า ระบบจีเอสเอ็มมีอัตราการเติบโตร้อยละ 10 ทั่วโลก หาก WCDMA มีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 15 และในขณะที่ทั่วโลกกำลังเริ่มหันมาใช้ระบบโทรศัพท์ 3จี ร่วมไปกับระบบโทรศัพท์จีเอสเอ็ม ญี่ปุ่นซึ่งใช้ 3จีมานานแล้วก็กำลังพัฒนาล้ำหน้าไปถึงระบบโทรศัพท์มือถือยุคที่ 4 ที่อ้างว่า จะมีความเร็วมากกว่า 3จี 10 เท่า คูณเลขในใจออกมาได้ว่า มีความเร็วถึง 20 เมกะบิตต่อวินาที ที่หลายประเทศเริ่มมองการใช้ระบบเครือข่าย WCDMA เนื่องจากว่า นอกจากการให้บริการด้านข้อมูลได้ดีกว่าระบบ 2จีแล้ว ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในสวีเดนที่ใช้ WCDMA พบว่า สามารถให้บริการด้านเสียงได้ในราคาที่ต่ำลง ลดราคาได้ครึ่งหนึ่งของตลาดเลยทีเดียว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการทำงานของระบบลดลง นี่เป็นข้อได้เปรียบนอกเหนือไปจากการให้บริการด้านข้อมูล คุณบัญญัติ ชี้

 

"โดยที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่เริ่มใช้ 3จีในยุโรปจะมีอยู่ 2 กลุ่มคือ ผู้ให้บริการที่ใช้ระบบจีเอสเอ็มอยู่แล้วให้บริการในเครือข่ายของ 3จีเพิ่ม และผู้ให้บริการหน้าใหม่ที่เข้ามาถึงก็มาให้บริการ WCDMA ซึ่งการใช้เทคโนโลยี 3จีนี้มีเหตุผลอยู่ที่ว่า เพื่อใช้ในการแข่งขันในตลาด และเห็นตัวอย่างทางธุรกิจว่า การให้บริการด้วยเทคโนโลยีนี้แล้วสามารถลดราคาได้มากกว่า กับการใช้ระบบ WCDMA ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องโละเครือข่ายเก่า แล้วเปลี่ยนมาใช้แบบใหม่ ทว่าสามารถให้บริการเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการใช้สูงก็ได้" ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาดของอีริคสัน อธิบาย

 

เริ่มมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง

ขณะที่ทั่วโลกเริ่มหันมาใช้และกำลังจะใช้ระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3จี ไทยเราตอนนี้กำลังทำอะไร

.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (เอสไอไอที) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า ได้เริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาระบบโทรคมนาคมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ประมาณปี 2542 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยอีก 4 แห่ง "เริ่มมองถึงเทคโนโลยี 3จี ซึ่งตอนนั้น (และแม้แต่ตอนนี้) ยังไม่เริ่มใช้กัน แต่ก็ได้มีมาตรฐานเกี่ยวกับระบบโทรศัพท์ 3จี ออกมาแล้ว เลยคิดว่าน่าจะมีการทำวิจัยศึกษาเรื่องนี้ จึงได้รวมกลุ่มกับคณาจารย์ต่างมหาวิทยาลัย ต่างสถาบัน อีก 4 แห่ง ขอทุนวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศึกษาถึงมาตรฐานของ 3จี จนขณะนี้งานวิจัยได้เข้ามาสู่ระยะที่ 2 คือ เริ่มมีการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับโทรศัพท์มือถือและสถานีฐานในระบบ 3จี" .ดร.สวัสดิ์ เล่า และกล่าวต่อว่า "ในการวิจัยเรายังไม่สามารถที่จะทำได้ทั้งระบบเครือข่ายโทรศัพท์ เนื่องจากระบบจะซับซ้อนมาก เรายังไม่มีเงินทุนและบุคลากรมากขนาดที่จะพัฒนาขึ้นมาเองได้ทั้งระบบ จึงทำการศึกษาเฉพาะในส่วนของสถานีฐานกับตัวโทรศัพท์มือถือ" ซึ่งในระบบเครือข่าย 3จีนั้น จะมีอยู่ 2 รูปแบบที่ใช้คือ WCDMA และ cdma2000 ซึ่ง WCDMA นั้นจะใช้กันอยู่ในประเทศย่านยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ต่อมาจากระบบจีเอสเอ็ม ส่วน cdma2000 เป็นระบบที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐและเกาหลี และระบบเครือข่ายที่ทำการวิจัย ทางกลุ่มวิจัยของ ศ.ดร.สวัสดิ์ ได้ศึกษา WCDMA เพราะเป็นตลาดที่กว้าง

 

ถึงจะทำวิจัยแค่ในส่วนของการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของสถานีฐานกับโทรศัพท์มือถือ ผศ.ดร.มงคล รักษาพัชรวงศ์ จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย ได้เล่าให้ฟังว่า ในระยะที่ 2 ของการวิจัยได้มีการแบ่งกลุ่มวิจัยเป็น 6 กลุ่มย่อย เพื่อช่วยกันสร้างในแต่ละส่วนสถานีฐานและตัวมือถือของระบบ 3จีให้ได้ คือจะมีกลุ่มที่พัฒนาสายอากาศและอุปกรณ์ย่านความถี่สูง สำหรับใช้ทั้งในสถานีฐานและในมือถือ กลุ่มที่ 2 พัฒนาส่วนประมวลผลสัญญาณล่วงหน้าทางด้านภาครับ กลุ่มต่อไป พัฒนาส่วนประมวลผลสัญญาณดิจิทัลเบสแบนด์ กลุ่มที่ 4 พัฒนา Layer 2 Protocal หรือ โปรโตคอลสื่อสารระดับชั้นดาตาลิงค์ กลุ่มที่ 5 พัฒนา Software Protocal สื่อสารระดับบน และในกลุ่มสุดท้าย พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ (แอพพลิเคชั่น) สำหรับอุปกรณ์สื่อสารในระบบ 3จี ซึ่งในทุกกลุ่ม ผศ.ดร.มงคล เล่าว่า ต้องพัฒนาทั้งในส่วนของสถานีฐานและมือถือ และทำการทดสอบในกลุ่มตัวเองว่า สามารถคุยกัน (ส่งข้อมูล) ผ่านสถานีฐานได้ จากนั้น ทุกกลุ่มถึงจะมาจับคู่พัฒนาเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มให้ทำงานร่วมกันได้เมื่อนำมาประกอบกัน ซึ่งบางกลุ่มก็มีต้นแบบแล้ว บางกลุ่มก็อยู่ในช่วงพัฒนาอยู่ สำหรับเฟสที่ 2 นี้คาดว่า น่าจะแล้วเสร็จในปี 2549

 

"ของทางกลุ่ม 3 ที่ทางฝ่าย ม.เกษตรฯ รับผิดชอบพัฒนาเอง ขณะนี้ทำตัวมือถือกับตัวสถานีฐานแล้ว แต่ยังเป็นในรูปแบบแผงวงจรอยู่ กำลังจะทดสอบการรับส่งข้อมูลกันเอง โดยทางมือถือจะสร้างข้อมูลขึ้นมา แล้วส่งไปที่สถานีฐาน ทางสถานีฐานจะประมวลผลโดยจะเปลี่ยนเป็นสัญญาณดิจิทัลแล้วส่งข้อมูลกลับมา เพื่อทดสอบการทำงานว่าถูกต้อง ซึ่งเมื่อทดสอบก็พบว่ารับส่งข้อมูลได้ถูกต้อง แสดงว่าวงจรฮาร์ดแวร์ทำงานได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ขั้นต่อไปจะสร้างมือถือขึ้นมาอีกเครื่องหนึ่ง เพื่อเลียนแบบการทำงานของมือถือ คือ ส่งข้อมูลจากมือถือไปยังสถานีฐานแล้วส่งข้อมูลนั้นต่อไปที่มือถืออีกเครื่องหนึ่ง" ผู้ร่วมวิจัยจาก ม.เกษตรศาสตร์ เล่า

 

ถึงแม้ขณะนี้ส่งได้เป็นข้อมูลดิจิทัลเพียงอย่างเดียว ส่วนข้อมูลเสียงนั้น ผศ.ดร.มงคล วางแผนไว้ว่าจะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ทยูเอสบี ลองส่งข้อมูลเสียง ภาพ ไฟล์ข้อมูล ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาตัวทดสอบบนพีซีไว้แล้ว หากทำสำเร็จก็จะเริ่มไปเชื่อมต่อกับภาครับของกลุ่มที่ 2 และสายอากาศและความถี่ของกลุ่มที่ 1 ซึ่งถ้าพัฒนาเรียบร้อยแล้วจะส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สาย อีกด้านของการวิจัย ผศ.ดร.มงคล ว่า จะไปเชื่อมต่อกับกลุ่ม 4 ที่ทำในเรื่องซอฟต์แวร์ระดับสูง ทำให้ระบบมีฟังก์ชันการใช้งานที่ใกล้เคียงกับโทรศัพท์จริง มีการรับส่งสัญญาณ ระหว่างสถานีฐานกับตัวโทรศัพท์มือถือที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง

 

ในการวิจัย แม้ว่าทางกลุ่มวิจัยจะพัฒนาทั้งสถานีฐานและมือถือ ทว่ามือถือที่ทำขึ้นมาไม่ได้จะพัฒนาเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตในตลาด แต่ใช้เพื่อทดสอบระบบ แต่ในส่วนของสถานีฐานนั้น ศ.ดร.สวัสดิ์ กล่าวว่า น่าจะเป็นส่วนที่นำมาใช้ได้จริง หากพัฒนาสำเร็จ สามารถตั้งบริษัท ทำงานร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำในด้านโครงข่ายของระบบสื่อสาร รับงานมาทำในส่วนของสถานีฐานได้ ทางด้าน ผศ.ดร.มงคล เสริมว่า การที่พัฒนาต้นแบบของการสื่อสารของระบบ 3จี ขึ้นเพื่อเป็นการศึกษาเทคโนโลยี สร้างองค์ความรู้ของเราขึ้นมาเอง และเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว จากการที่เคยเชิญศาสตราจารย์จากประเทศเกาหลีใต้ที่เคยทำงานวิจัยด้าน 3จีให้กับซัมซุง ปรากฏว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้ห่างไกลกับเขาเลย ทำได้ใกล้เคียงหรืออาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ ทางด้านองค์ความรู้ประเทศไทยเราก็พัฒนาให้ทัดเทียมและตามทันได้ แต่ปัญหายังติดอยู่ที่ว่า เมื่อทำเสร็จแล้วเราไม่มีบริษัทเอกชนมารับไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า ทำให้ไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง "ตอนนั้นที่แลกเปลี่ยนความรู้กับทางศาสตราจารย์ของเกาหลี โทรศัพท์ 3จีของเขายังทำได้ไม่ถึงความเร็วสูงสุดของระบบ 3จี ส่งข้อมูลได้เพียง 144-192 กิโลบิตต่อวินาที (เคบีพีเอส) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทางญี่ปุ่นมีอยู่แล้ว ส่วนที่ทาง ม.เกษตรฯทำ มือถือมีความเร็ว 384 เคบีพีเอส ส่วนสถานีฐานมีความเร็ว 2 เมกะบิตต่อวินาที (เอ็มบีพีเอส) ทางด้านเทคนิคคิดว่าตามทัน" ผศ.ดร.มงคล เล่า

 

นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่กลุ่มวิจัยนี้พัฒนาขึ้น จะไม่จำกัดแค่ระบบโทรศัพท์ 3จี เท่านั้น ผู้ร่วมวิจัยจาก ม.เกษตรศาสตร์ว่า สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยุค 4จี 5จี ในอนาคตข้างหน้าได้อีกด้วย ถึงงานวิจัยในวันนี้จะใช้กับระบบ 3จี ไม่ทันในปัจจุบัน แต่ ผศ.ดร.มงคล ก็รับประกันว่า ใช้เป็นต้นแบบให้กับอนาคตได้ทันกาลแน่ๆ งานวิจัยชิ้นนี้ทำเพียงบางส่วนของเทคโนโลยี 3จี เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับระบบอื่น หรือใช้เทคโนโลยีที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับงานประเภทอื่นได้อีก ผศ.ดร.มงคล ยกตัวอย่างว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาคอมมิวนิเคชัน โมดูล อย่างเช่น ไมโครโฟนไร้สาย หรืออาจจะนำมาประยุกต์ใช้กับการกระจายเสียงภายในบ้านได้ อย่างเช่น มีศูนย์กลางสำหรับเล่นเพลง ฯลฯ เสียบต่อเข้ากับโมดูล ก็จะสามารถส่งสัญญาณแบบไร้สาย (สัญญาณวิทยุ) ให้กับเครื่องรับได้ ซึ่งการนำมาใช้สื่อสารในระยะใกล้นี้ในปัจจุบันก็มีอุปกรณ์ในตลาดอยู่แล้ว อย่างไมโครโฟนไร้สาย ทว่าเป็นการประมวลผลแบบอนาล็อก แต่แบบที่พัฒนาขึ้นมาจะเป็นการประมวลผลแบบดิจิทัล

 

แต่...ตอนนี้ยังติดในปัญหา

ถึงในเฟสแรกจะมีการศึกษามาตรฐานของโทรศัพท์ 3จี แต่ ผศ.ดร.มงคล ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่พบในระหว่างการวิจัยว่า จริงๆ แล้วมาตรฐานในบางส่วนมีการปกปิดไว้ ทำให้มีปัญหาว่า ระบบที่ทำขึ้นอาจจะไม่สามารถสื่อสารกับระบบอื่นได้ เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นผู้ร่วมร่างมาตรฐานขึ้น ซึ่งทำให้ไม่ทราบรายละเอียดของมาตรฐานทั้งหมด ขณะนี้ได้แต่หวังไว้ว่า หากได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ จะทำให้ข้อมูลที่ยังไม่ทราบนี้เปิดเผยสู่กลุ่มวิจัยได้ "มาตรฐานที่ทำการศึกษามา ทราบรายละเอียดเพียงร้อยละ 80 หลังจากทำวิจัยนี้เสร็จ คาดว่าน่าจะตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา ร่วมกับพันธมิตรที่หาได้ เพื่อพัฒนาระบบและเรียนรู้มาตรฐานในส่วนรายละเอียดร้อยละ 20 ที่เหลือ" ผศ.ดร.มงคล ตั้งความหวัง แต่ก็ยังติดปัญหาพันธมิตรอีก เพราะในขณะนี้คณะกรรมการกำกับการวิจัยมีบริษัท ทีทีแอนด์ที กสท คอร์ปอเรชั่น ผู้เชี่ยวชาญจากทางเนคเทค บริษัทเอกชนที่ทำด้านระบบสื่อสารของไทย และอาจารย์จากกลุ่มวิจัยอีก 2 ท่าน แต่กับทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเองขณะนี้ ยังไม่มีความสนใจที่จะมาร่วมด้วย เพราะ 3จี ยังอีกไกลสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพราะในปัจจุบันเพิ่งเปิดให้บริการเอดจ์ (EDGE) ไปได้ไม่นาน อีกทั้งยังไม่มีแอพพลิเคชั่นที่ต้องการระบบที่ความสามารถระดับ 3จี คิดว่า 3จีในประเทศไทยยังไม่ใช่ช่วงเวลาอันใกล้นี้แน่

 

3จีในไทย เมื่อไรจะมา

กับปัญหาการหันมาใช้ 3จีในไทยนั้น ไม่ใช่แค่ที่ว่าผู้ให้บริการบางเจ้าเพิ่งให้บริการเอดจ์ไปไม่นาน คุณบัญญัติ กล่าวว่า ทั้งระบบจีเอสเอ็มและระบบ WCDMA มีรูปแบบ (แพลทฟอร์ม) คนละแบบกัน คือในระบบจีเอสเอ็มนั้นใช้งานที่ย่านความถี่ 900 กับ 1800 ส่วน WCDMA ต้องใช้งานอยู่ที่ย่านความถี่ 1900 การที่จะหันมาใช้ระบบ WCDMA นั้นหมายความว่า จะต้องสร้างระบบ 3จีขึ้นมาใหม่ ใช้ของเดิมที่เป็นจีเอสเอ็มไม่ได้ ถึงอย่างนั้น คุณบัญญัติยังได้ยกตัวอย่าง การนำระบบ WCDMA มาใช้ในบางประเทศแถบยุโรปจะพัฒนาขึ้นมาในบางพื้นที่ที่มีการใช้งานมาก และยังคงใช้งานร่วมกับระบบจีเอสเอ็ม "ตลาดในยุโรปมีการรวม WCDMA จีเอสเอ็ม เอดจ์ เข้าด้วยกัน เพื่อมาสนับสนุนการให้บริการด้านเสียงให้มีประสิทธิภาพ มีการผสมรวมกันเป็นเครือข่าย เช่น อาจจะลงเครือข่าย WCDMA เฉพาะในส่วนที่ใช้งาน เพื่อให้คุ้มแก่การลงทุน" ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด จากอีริคสัน กล่าว

 

"การใช้งานในแต่ละพื้นที่มีไม่เท่ากัน สร้างถนนเฉพาะในส่วนที่มีคนใช้" คุณสันติพันธ์ กล่าวเสริม กับผู้ให้บริการระบบเครือข่ายมือถือของไทย การลงทุนสูงในเบื้องต้นยังเป็นกำแพงกั้นการพัฒนาระบบ อีกทั้งที่ลงทุนใน 2จี 2.5จีไปแล้ว ยังไม่คืนทุน หรือยังสามารถเก็บเกี่ยวกำไรจากระบบเก่าได้อีก ความต้องการในการใช้ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง อย่างเช่น เครื่องบินใบพัดกับเครื่องบินเจ็ท เมื่อเครื่องบินเจ็ทกำเนิดขึ้นมาคนก็คิดว่า เครื่องบินแบบใบพัดน่าจะหายไป แต่ในปัจจุบัน เครื่องบินแบบใบพัดก็ยังคงอยู่ ใช้งานในส่วนที่ต่างไป สนองความต้องการของคนในส่วนที่ต่างไป เจ็ทไม่ได้เข้ามาให้บริการในทุกงาน อยู่ที่ความต้องการที่จะบริโภค (อุปสงค์) ของผู้บริโภคด้วย ซึ่งในปัจจุบันยังมีน้อยอยู่ ทางผู้ให้บริการก็จะคิดหนักอยู่ว่า ถ้าทำระบบนี้มาแล้วจะคุ้มค่าหรือเปล่า คุณสันติพันธ์ กล่าว

 

"3จีจ่อรออยู่แล้ว แต่ดีมานด์ยังไม่มา"

นอกเหนือจากปัญหาการลงทุน ไทยยังติดปัญหาในเรื่องกฎหมายด้านความถี่ "การที่ไทยจะเริ่มให้บริการ 3จีได้เมื่อไหร่นั้น มาดูในผู้ให้บริการ 5 ราย และ WCDMA ต้องใช้งานในย่ายความถี่ 1900 ซึ่งผู้ให้บริการที่มีความเป็นไปได้ในปัจจุบันก็คือ ฮัทช์กับไทยโมบาย ส่วนผู้ให้บริการอีก 3 รายต้องดูความพร้อมในด้านกฎหมาย ว่ารัฐบาลจะมีกฎหมายสนับสนุนให้มีองค์กรที่ดำเนินงานในด้านโทรคมนาคมหรือไม่" คุณบัญญัติ กล่าว จากเรื่องกฎหมาย ข้ามมาถึงปัญหาของความพร้อมในด้านตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ ซึ่ง WCDMA เมื่อเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ เครื่องที่รองรับได้ยังน้อยอยู่แถมยังราคาค่อนข้างสูง เมื่อราคาถูกลงจะผลักดันให้มีการใช้มากขึ้น คุณบัญญัติคาดว่า ไม่น่าจะเกิน 2 ปี น่าจะเห็นการเริ่มใช้เทคโนโลยี 3จี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของทางผู้ให้บริการด้วย ว่าจะใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มโอกาสของการแข่งขันหรือไม่ กับการที่ 3จีจะมาหรือไม่ จะช่วยให้บริการด้านข้อมูลดีขึ้นแค่ไหน ศ.ดร.สวัสดิ์ ว่า ผู้ใช้มือถือส่วนใหญ่ของไทย ก็ยังคงยืนพื้นที่บริการการสื่อสารด้านเสียงอยู่ดี กับ 3จีตอนนี้คาดว่า ยังไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าวันหนึ่งที่ทั่วโลกใช้ระบบเครือข่าย 3จีร่วมกับระบบจีเอสเอ็มเมื่อไร ไทยเองคงต้องหันมาใช้ 3จีอยู่ดี เป็นการพัฒนาไปตามลำดับขั้นของเทคโนโลยี

กับวันนี้เพียงแต่เฝ้าดูอยู่ว่า 3จี จะมาจริงๆ เมื่อไรเท่านั้นเอง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.