ซอฟต์แวร์อีอาร์พีเฟื่องตามกระแสแข่งขันที่สูงขึ้น

ตลาดของซอฟต์แวร์การบริหารงานทรัพยากรในองค์กร (อีอาร์พี) มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง เหตุผู้ค้าต่างต้องการ สร้างจุดแข็ง ในการแข่งขัน เชิงการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีจุดเด่น ที่ตลาดแรงงาน ราคาถูก ทั้งยังเป็นซอฟต์แวร์ ที่ช่วยเอื้อประโยชน์ ด้านการลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายในองค์กร ด้านการบริหารจัดการลง ทำให้ฐานลูกค้าลงทุน ในแอพพลิเคชั่นดังกล่าวเพิ่มต่อเนื่อง

นายสมพร หิรัญภัทรศิลป์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท มาโคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยราวปีเศษ คาดว่า ตลาดของซอฟต์แวร์อีอาร์พีในประเทศไทย สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทมีขนาด ประมาณ 500 ล้านบาทสำหรับปีที่ผ่านมา ส่วนในปีนี้ อาจจะมีการปรับลดงบประมาณการลงทุนด้านไอทีจากองค์กรลง แต่เชื่อว่าอัตราของจำนวนผู้ใช้ซอฟต์แวร์จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพราะมูลค่าโครงการกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการตัดสินใจลงทุน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสัดส่วนตลาดในปีนี้จะอยู่ในอัตราที่เรียกได้ว่าเกือบอยู่ในสัดส่วนเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยมีฐานตลาดมาจากกลุ่มผู้ประกอบการที่มีการลงทุนเพิ่มเติม และกลุ่มตลาดที่เริ่มเข้ามาลงทุนใหม่ แม้สภาพการณ์ด้านเศรษฐกิจขณะนี้ ถือว่าทำให้เศรษฐกิจปรับตัวแย่ลง เป็นอุปสรรคของการทำตลาดโดยรวม แต่มองว่าจากผลกระทบเชิงเศรษฐกิจเอง กลับกลายเป็นโอกาสสำหรับซอฟต์แวร์ เพราะทำให้องค์กรธุรกิจสนใจการนำเทคโนโลยีด้านไอที เข้ามาใช้ในองค์กรมากขึ้น เพื่อปรับลดค่าใช้จ่าย และเตรียมพร้อมในการแข่งขันเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ตลาดองค์กรขนาดใหญ่-เอสเอ็มอี ยังลงทุนต่อเนื่อง

นางสาวสิธรา พาณิช จากบริษัท ไอเอสเอส คอนซัลติ้ง จำกัด ตัวแทนจำหน่ายและผู้พัฒนาระบบของเอสเอพี กล่าวว่า บริษัทเองมองว่าตลาดในประเทศไทยยังคงมีโอกาสทางธุรกิจสูงอยู่ เพราะจากการพูดคุยกับทีมงานด้านการขาย จะเห็นได้ว่าตลาดในประเทศไทยยังคงมีความต้องการซอฟต์แวร์อีอาร์พีอยู่ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่สามารถให้บริหารตรงกับความต้องการของลูกค้า

ขณะที่นางสาวกาญจนา ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้จัดการด้านอีบิสซิเนส บริษัท ไอซีอี คอนซัลติ้ง จำกัด ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของบริษัท ออราเคิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดของซอฟต์แวร์อีอาร์พี ที่ยังมีช่องว่างอยู่ในปัจจุบัน เป็นตลาดทั้งในระดับองค์กรขนาดใหญ่ ที่จะต้องปรับตัวให้ระบบงานภายในองค์กรเชื่อมต่อกัน ในลักษณะเป็นระบบเปิด (Open System Communication) รวมถึงขนาดกลางและเล็ก ที่ต้องการพัฒนาและลงทุนใหม่ โดยมองว่าตลาดซอฟต์แวร์อีอาร์พีขณะนี้ ยังคงอยู่ในช่วงจุดสูงสุดของยอดการปรับใช้งานสำหรับองค์กร และยังไม่มีทีท่าว่าจะมีอัตราการเติบโต ของตลาดลดลงแต่อย่างใด

ช่วยปรับตัวสู้ตลาดแรงงานราคาถูก

ขณะเดียวกัน นายพอล ไดฮร์ ผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทมาโคล่า เอเชีย จำกัด มีฐานส่งออกซอฟต์แวร์จากบริษัทแม่ในสหรัฐ กล่าวว่า ตลาดของซอฟต์แวร์อีอาร์พีโดยรวมนั้น จะพบว่าในต่างประเทศยกเว้นประเทศไทย, สิงคโปร์ และจีน เป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวของฐานลูกค้าลดลง เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านค่าเงินดอลลาร์ ที่กระทบกับการส่งออกจากสิงคโปร์และไต้หวัน รวมถึงปัญหาการปรับรูปแบบระบบองค์กรในญี่ปุ่น และปัญหาภายในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ตลาดของซอฟต์แวร์อีอาร์พีในประเทศเหล่านี้หดตัวลง

ขณะที่สำหรับประเทศไทยและมาเลเซียนั้น มองว่าการที่ตลาดการใช้ซอฟต์แวร์อีอาร์พีเติบโต เนื่องจากต้องการสร้างจุดแข็งในการแข่งขันเชิงการค้ากับประเทศจีน ซึ่งมีจุดเด่นที่ตลาดแรงงานราคาถูก

ประเทศไทยเองแม้ว่าการใช้งานซอฟต์แวร์จะอยู่ในสัดส่วน 20% ของพนักงานในองค์กร แต่เชื่อว่าจากการขยายตัวของแอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานแอพพลิเคชั่นบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (ซีอาร์เอ็ม) หรือการบริหารความต่อเนื่องในการทำงาน (เวิร์คโฟล์ว แมเนจเมนท์) เป็นต้น และการชี้ให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญของซอฟต์แวร์ จะทำให้การใช้งานเพิ่มมากขึ้นในทุกแผนก ขณะเดียวกัน มองว่าการปรับตัวของซอฟต์แวร์ต่างประเทศ ที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย จะต้องเน้นคุณสมบัติในการจัดการของภาษาไทย (Localization) และการจัดทำรูปแบบของเทคโนโลยีหลัก (Core Technology) ให้เปิดกว้างต่อกลุ่มลูกค้าไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจใด

กลยุทธ์ราคายังเป็นตัวดึงดูด

นางศิริวรรณ ติรเลิศ ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท บริด ซิสเต็สม์ จำกัด กล่าวว่า จากการทำตลาดที่ผ่านมา พบว่าราคายังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค นอกเหนือจากคุณสมบัติด้านความสามารถของซอฟต์แวร์ โดยเห็นว่าซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นในประเทศ สามารถทำตลาดได้ดี เพราะปัจจัยทางด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าซอฟต์แวร์นำเข้าในอัตรากว่า 50%

ภาครัฐปัจจัยผลักตลาดซอฟต์แวร์โต

นายไดฮร์กล่าวต่อว่า ปัจจัยการสนับสนุนจากภาครัฐ จะทำให้ตลาดซอฟต์แวร์มีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในประเทศมาเลเซียนั้น รัฐบาลให้การสนับสนุนภาคเอกชน ด้วยการทุ่มงบประมาณลงในภาคอุตสาหกรรมกว่า 200 แห่ง เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ในสัดส่วน 25% เพื่อการพัฒนาเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน ซึ่งบริษัทเองก็มีลูกค้าเพิ่มขึ้นราว 4-5 รายต่อเดือน

ขณะเดียวกัน นางสาวกาญจนากล่าวว่า บริษัทเองมองว่าต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์มากขึ้น ผ่านการกระตุ้นให้เอกชนลงทุน อาทิ การทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีรูปแบบการใช้งานซอฟต์แวร์ที่คล้ายคลึงกัน พัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกัน โดยมองว่าซอฟต์แวร์อีอาร์พีจะสามารถลดต้นทุนการดำเนินการได้ราว 20-30% เมื่อเทียบกับการทำงานแบบเดิม ทั้งนี้ยังมองว่า หากภาครัฐสนับสนุนเงินทุนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม สำหรับการลงทุนด้านไอทีอย่างในประเทศมาเลเซีย จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจดีขึ้น ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐด้วย

ส่วนนายสุรพล ไพโรจน์ธนชัย ผู้จัดการ บริษัท บริด ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์อีอาร์พี กล่าวว่า บริษัทเองต้องการให้ภาครัฐเน้นความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะมองว่าจะช่วยให้จำนวนการใช้งานแอพพลิเคชั่นเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีการใช้แอพพลิเคชั่นมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการสื่อสารในองค์กร ที่มีสำนักงานสาขาในต่างจังหวัดหลายแห่ง รวมถึงการพัฒนาด้านบุคลากรที่มีความสามารถ ในการสร้างและใช้งานซอฟต์แวร์อย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.