อินเทอร์เน็ตสายพันธุ์ใหม่ ไอพีวี 6
สมสกุล
เผ่าจินดามุข
ย้อนกลับไปช่วงเวลาก่อนที่โลกจะก้าวสู่สหัสวรรษหลายคนยังคงจำได้ดีถึงความโกลาหลของโลกในยุคที่คอมพิวเตอร์คือศูนย์กลางการสื่อสารและข้อมูล
ความหวาดกลัวว่าคอมพิวเตอร์จะทำงานผิดพลาดจากการคำนวณปี ค.ศ. ที่ลงท้ายด้วยทศนิยมสองตำแหน่งที่ผู้พัฒนาโปรแกรมไม่ทันเฉลียวใจว่าเมื่อถึงปี
2000 คอมพิวเตอร์จะประมวลผลทศนิยมสองตัวหลังว่า ปี 2000 หรือ 1900 ไม่ว่าปัญหา Y2K จะเป็นเรื่องกุขึ้นมาให้คนหันมาซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่
หรือเป็นความไม่คาดคิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับการการเปลี่ยนสหัสวรรษก็ตาม ปรากฏการณ์ที่คล้ายๆ
กันนี้กำลังปรากฏขึ้นในไม่ช้านี้ เพียงแต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต
หรือ IPv6 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่หมายถึง โอกาส
ของคนที่มองเห็นอนาคต
เลขประจำตัวคอมพิวเตอร์ทั่วโลก
โดยทั่วไปแล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกตัวที่เชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีคนบางคนนิยามไว้หรูเลิศว่า
เครือข่ายใยพิภพ จะมี ที่อยู่ หรือที่เรียกว่า Internet Protocal address เฉพาะตัวเพื่อให้คอมพิวเตอร์ที่อยู่ต้นทางและปลายทางรู้จักกัน ซึ่งจะรับส่งข้อมูลให้กันและกันได้
เปรียบได้กับบ้านแต่ละหลังต้องมีเลขที่บ้านสำหรับส่งจดหมาย
ที่อยู่ หรือบ้านเลขที่ของคอมพิวเตอร์แต่ละตัวนั้นจะได้รับการจัดสรรจากองค์กรระหว่างประเทศที่มีชื่อว่า NIC หรือ Network Information Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดสรรทรัพยากรในการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับประเทศต่างๆ
รวมทั้ง Domain Name หรือชื่อเวบไซต์ องค์กรดังกล่าวยังได้แยกหน่วยปฏิบัติการสำหรับจัดสรรไอพีแอดเดรสให้กับภูมิภาคต่างๆ
โดยในส่วนของประเทศไทย ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือองค์กรต่างๆ จะทำการขอไอพีแอดเดรสจาก
APNIC รับผิดชอบจัดสรรทรัพยากรให้กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่เลขหมายไอพีกำลังเหลือจำนวนน้อยลงทุกที
เนื่องจากการออกแบบมาตรฐานนี้ไม่ได้คาดหมายว่าประชากรแห่งโลกไซเบอร์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขนาดนี้
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไอพีแอดเดรสเริ่มขาดแคลนนั้นเนื่องมาจากการเติบโตของการใช้งานเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของคอมพิวเตอร์ทั่วโลกที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้น
ดังนั้นความต้องการไอพีแอดเดรสสำหรับคอมพิวเตอร์แต่ละตัวจึงสูงขึ้นตามเป็นเงา เฉพาะในประเทศไทยแห่งเดียวปีที่แล้วมียอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง
6 ล้านคน และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 7 ล้านคน
ปัญหาเรื่องขาดแคลนไอพีแอดเดรสถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงตั้งแต่ปี
ค.ศ. 1900 แล้ว และในการประชุม INET ระหว่างปี 1991 และ 1992
ได้มีการสัมมนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนนำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อออกแบบมาตรฐานอินเทอร์เน็ตใหม่จนในปี
ค.ศ. 1994 ได้มีการประกาศไอพีวี 6
เป็นมาตรฐานใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้แทนมาตรฐานไอพีแอดเดรสปัจจุบัน
หรือไอพีวี 4 ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวในงานสัมมนาเตรียมความพร้อมรับมือมาตรฐานใหม่ไอพีวี
6 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
ปัจจุบัน ไอเอสพี
หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่องค์กร หน่วยงานของรัฐ และเอกชนจะต้องยื่นขอไอพีแอดเดรส
หรือเลขที่อยู่จากหน่วยงาน NIC หรือ APNIC โดยผู้ขอต้องแจกแจงความจำเป็น และในหลายๆ กรณีจะต้องแสดงหลักฐานการสั่งซื้ออุปกรณ์เครือข่ายประกอบสำหรับการขอไอพีแอดเดรสด้วยเพื่อความสมเหตุสมผล
อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลให้จำเป็นต้องเปลี่ยนมาตรฐานจากไอพีวี
4 มาเป็น ไอพีวี 6 ก็คือ แนวโน้มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตจะมีความสามารถในการสื่อสารและเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้ในลักษณะเดียวกับคอมพิวเตอร์
ดังนั้น จำนวนของอุปกรณ์ที่ต้องการไอพีแอดเดรสจึงเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างแนวโน้มในปัจจุบัน
อุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือ พีดีเอ เริ่มถูกใช้งานเพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายมากขึ้น
หรือแม้แต่เครื่องเล่นเกมที่กำลังวางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันได้เพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการเล่นเกมออนไลน์
สำหรับไอพีแอดเดรสสำหรับเวอร์ชั่น
6 ประกอบด้วยตัวเลขขนาด 128 บิต หรือ ตัวเลขฐาน 16 ขนาด 16 บิต 8 ชุด
โดยจะมีหน้าตาอย่างนี้ 3FFE:085B:1F1F:0000:0000:0000:00A9:1234 ซึ่งมากกว่า ไอพีเวอร์ชั่นเก่าที่มีขนาด 32 บิต เท่ากับว่าไอพีแอดเดรสเวอร์ชั่นใหม่มีจำนวนมหาศาลที่สามารถแจกให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อเครือข่ายได้จำนวนมาก
ถึงขนาดนักเขียนด้านไอทีผู้หนึ่งอุปมาว่า สามารถแจกให้กับแมลงทุกตัวบนโลกได้
ญี่ปุ่น : แชมป์ไฮเทคตลอดกาล
ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมเข้าสู่อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ของต่างประเทศว่า
บริษัทยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์อย่างโซนี่ ได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2005 หรือปีหน้านี้ ผลิตภัณฑ์ของโซนี่ทั้งหมดต้องมีคุณสมบัติในการรองรับมาตรฐานไอพีวี
6 แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของโซนี่ที่จะอาศัยประโยชน์จากการเชื่อมต่อไร้สายผ่านเครือข่ายมาตรฐานใหม่เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท
เครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังถูกพัฒนาให้สื่อสารผ่านไอพีมากขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือในปี 2010 แต่ละคนจะมีไอพีแอดเดรสถึงคนละ
100 ไอพี ดร.สินชัยกล่าวถึงแนวโน้มในอนาคต
พร้อมกับเสริมว่า ไอพีแอดเดรสเวอร์ชั่น 6 นี้ มีจำนวนมากถึงขนาดสามารถแจกให้กับอุปกรณ์ประเภทใช้แล้วทิ้งได้
และมีใช้เหลือเฟือถึง 50 ปีข้างหน้า
ดร.สินชัย ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักคนหนึ่งในการจัดเตรียมความพร้อมสำหรับก้าวสู่อินเทอร์เน็ตมาตรฐานใหม่ยังได้ยกตัวอย่างการสื่อสารไร้สายในรูปแบบของ
Voice over IP หรือการใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับพูดคุยโทรศัพท์ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น
ดังเห็นได้จากผู้ผลิตโมเด็มความเร็วสูง ADSL ของญี่ปุ่นรุ่นใหม่เกือบทุกรุ่นมีคุณสมบัติในการใช้งานโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายไอพีแล้ว
แม้แต่โทรศัพท์ที่ใช้ระบบ PHS ซึ่งก็คือพีซีทีของบ้านเราได้พัฒนาให้เป็นโทรศัพท์ที่มีความสามารถในการสื่อสารข้อมูลไร้สายตามมาตรฐาน
802.11b หรือที่เรียกกันว่าไว-ไฟ เพื่อให้ติดต่อกับฮอตสปอตเพื่อต่อสัญญาณไปยังโครงข่ายไอพีเพื่อใช้งานโทรศัพท์ในลักษณะ
Voice Over IP ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการโทรต่างจังหวัด
หรือโทรต่างประเทศ ดร.สินชัยกล่าว
ปีที่แล้ว ไอเอสพีของญี่ปุ่นกว่า
50 รายได้เปลี่ยนมาใช้มาตรฐานไอพีวี 6 แล้ว เนื่องจากแนวโน้มการใช้งานไร้สายเพื่อดาวน์โหลดไฟล์วิดีโอมีอัตราเติบโตสูงสุด
ตามมาด้วยการรับส่งภาพ ไฟล์เสียง และภาพเคลื่อนไหว เนื่องจากการเชื่อมต่อไร้สายในญี่ปุ่นไม่มีปัญหาด้านแบนด์วิธในการรับส่งข้อมูลอีกต่อไปแล้ว
ดังนั้น อนาคตอุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์จึงสามารถสื่อสารติดต่อกันเองได้ และเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่อุปกรณ์แต่ละชนิดจำเป็นต้องมีหมายเลขไอพีสำหรับระบุประเภทของอุปกรณ์เป็นของตัวเอง
อุปกรณ์สื่อสารอีกประเภทหนึ่งที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์คือ
ชิพประจำตัวที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุหรือ RF-ID ที่จะถูกนำมาใช้ติดกับสินค้าอย่างเช่นเสื้อผ้า
หรือพวก IC Card ที่ใช้ติดไปกับซองบุหรี่ และพวก RF-ID
Tag ที่ใช้ติดกับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อระบุที่มาของผลิตภัณฑ์ว่าผลิตมาจากแหล่งไหน
ช่วยให้ติดตามต้นตอได้ในกรณีเกิดโรคระบาด นอกจากนี้
การสื่อสารไร้สายผ่านโครงข่ายของไอพีวี 6 ยังได้เปิดประตูเข้าสู่ธุรกิจการรักษาความปลอดภัยด้วย
ยกตัวอย่างกล้องไอพี คาเมรา รุ่น KX-HCM ที่พัฒนาโดยบริษัทพานาโซนิค
ซึ่งสามารถรับสัญญาณภาพผ่านเลนส์แล้วส่งสัญญาณไร้สายไปยังเครื่องรับ โดยอุปกรณ์ตัวนี้สามารถสั่งงานผ่านเวบไซต์ให้หมุนในลักษณะ
350 องศา และยกขึ้นลงในระดับ 90
องศาได้
ใครที่มีโอกาสไปเมืองนาโงยา
ประเทศญี่ปุ่น อาจมีโอกาสได้ใช้บริการรถแท็กซี่ ไฮเทคของเมืองนี้ที่ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารไร้สายไว้ภายในรถ
อาทิ GPS
สำหรับส่งข้อมูลแจ้งตำแหน่งของรถมายังศูนย์ควบคุม กล้องดิจิทัลไร้สายเพื่อส่งข้อมูลภาพการจราจร
อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพฝนเพื่อรายงานสภาพอากาศ ระบบตรวจสอบเส้นทางจราจร ซึ่งทั้งหมดนี้
ล้วนสื่อสารกันผ่านเครือข่ายไร้สายบนมาตรฐานไอพีวี 6 รถยนต์ในอนาคตจะมีหน่วยประมวลผลหรือซีพียูติดตั้งอยู่ในรถมากถึง
70 ตัวต่อคัน โดยจะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ
อาทิ กุญแจรถ พีดีเอ ลำโพง ระบบนำร่องรถยนต์ วิทยุ
ที่ออกแบบมาสำหรับรถยนต์อัตโนมัติ ดร สินชัยกล่าว
ฐานทดสอบ IPV6 ของไทย
ในส่วนของประเทศไทยเอง ทางศูนย์เนคเทคได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอย่างเช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดทำโครงการทดสอบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพรโตคอลรุ่นที่
6
อย่างเป็นทางการเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา
ภายใต้โครงการหลักไทยสาร-3 โดยมีทีมงานศึกษาสถานภาพการใช้งานจริงในประเทศต่าง
ๆ รวมถึงข้อกำหนดและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องล่าสุด และทำการจัดตั้งระบบเครือข่ายทดสอบขึ้นเพื่อจำลองสภาพแวดล้อมที่เป็นเครือข่าย
IPv6 เพื่อทำการศึกษาและทดลองกลไกการทำงานของตัวโพรโตคอล
การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี การปรับปรุงและพัฒนาแอพพลิเคชั่นรูปแบบต่าง ๆ
ปัจจุบัน
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพีของไทย ได้เตรียมพร้อมสำหรับช่วยเปลี่ยนผ่านไปใช้มาตรฐานใหม่กันแล้วหลายราย
อาทิ อินเทอร์เน็ต ไทยแลนด์ ซีเอส ล็อกซอินโฟร์ สามารถ เคเอสซี เอเชียอินโพร์เน็ต เป็นต้น
และยังมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งเริ่มเชื่อมต่อกับระบบทดสอบนี้เช่นกัน เกียรติ์ อินทรสุริยวงษ์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคและปฏิบัติการ บริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟร์กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ว่า
ทางบริษัทได้ทำการวิจัยและทดลองเชื่อมต่อโครงข่ายมาตรฐานเวอร์ชั่นหกมาตั้งแต่ปี
2544 และปัจจุบันได้เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายระหว่างประเทศ 6 แห่งด้วยกัน และในส่วนของในประเทศทางซีเอสล็อกซอินโฟร์ได้ต่อสายกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย
และเนคเทค โดยได้ทดสอบทั้งในส่วนของอินเทอร์เน็ตเซิร์ฟเวอร์ และเวบเซิร์ฟเวอร์
เช่นเดียวกับทางกสท. ที่ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้ 1 ล้านบาทในการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับทำหน้าที่เป็นเกตเวย์สำหรับเชื่อมต่อระหว่างประเทศ
และภายในประเทศ และพร้อมที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ทดสอบเชื่อมต่อไอพีวี 6 กับกสท.
อย่างไรก็ดี ดร.สินชัยมองว่า กิจกรรมดังกล่าวควรจะมีการจัดตั้งในลักษณะขององค์กร และมีการระดมทรัพยากรเข้าด้วยกันเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น
ประเทศอื่นๆ ทำสำเร็จเพราะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นกลุ่มทำงานหลักขึ้นมาเฉพาะสำหรับไอพีวี
6 ยกตัวอย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีองค์กรเฉพาะมาดูแลในส่วนนี้ การมีองค์กรเฉพาะสำหรับไอพีวี
6 นั้น ดร.สินชัยกล่าวว่า จะช่วยให้วางระบบในการตรวจสอบสถานะของการใช้งานไอพีวี
6 ของประเทศ และยังช่วยส่งเสริมกิจกรรมที่เพิ่มการรับรู้ในระดับสาธารณชน
ไปว่าจะเป็นผู้บริหารธุรกิจ หน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่ด้านกฎระเบียบ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการนำไปใช้งานในระดับครัวเรือน
ธุรกิจ ภาคธุรกิจ ไอเอสพี และในส่วนของผู้ให้บริการโทรศัพท์ไร้สายด้วย สำหรับแผนงานที่ดร.สินชัยวางไว้เป็นตุ๊กตาสำหรับการจัดตั้งหน่วยงานไอพีวี 6 ประกอบด้วย แผนงาน 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่
การพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีไอพีวี 6 และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาและนำเอากลไกที่ช่วยให้การเปลี่ยนจากไอพีวี 4 ไปสู่ไอพีวี
6 เป็นไปอย่างราบรื่นและทำให้เครือข่ายแบบเก่าสามารถรองรับไอพีวีมาตรฐานใหม่ได้ด้วย
หน่วยงานนี้ยังมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้ไอเอสพีและองค์กรต่างๆ ให้หันมาใช้ไอพีแอดเดรสของมาตรฐานใหม่
และใช้เครือข่ายไอพีวี 6 ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนทักษะในการดำเนินงานผ่านการประชุมระหว่างประเทศ
และการจัดประชุมสุดยอดไอพีวี 6 ในไทย
บทบาทของหน่วยงานนี้อีกประการคือ การจัดตั้งศูนย์ทดสอบและรับรองการใช้ไอพีวี 6 ในประเทศ ดร.สินชัย ยังได้เสนอโมเดลสำหรับการส่งเสริมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานไอพีใหม่ด้วย
โดยโมเดลดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ใช้ได้ผลในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โมเดลดังกล่าวได้เน้นการใช้มาตรการส่งเสริมทางด้านภาษี
และการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ให้บริการ เพื่อหนุนให้หน่วยงานและธุรกิจหันมาใช้มาตรฐานไอพีใหม่
มาตรฐานที่ถูกมองว่าเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม 2547
|