ไอพี-วีพีเอ็น เทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลองค์กรแห่งอนาคต

 

บริการสื่อสารข้อมูลส่วนตัวเสมือนจริงที่ใช้อินเทอร์เน็ต โปรโตคอล หรือ IP-VPN เป็นเทคโนโลยีที่เสมือนเป็น วงจรส่วนตัวในเครือข่าย ระยะไกล (Private WAN) ที่ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะ หรือจากไพรเวท ไอพี แบ็คโบน เป็นบริการใหม่เป็นคู่แข่งที่มาแรงจากบริการเดิมที่มีอยู่

 

ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า การสื่อสารข้อมูลองค์กรมีความจำเป็น และสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และถือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย ที่สำคัญประการหนึ่ง โดยปัจจุบันองค์กรมีทางเลือก ทั้งการใช้บริการทั้งการสื่อสารข้อมูลแบบวงจรเช่า หรือลีสด์ไลน์ การใช้เทคโนโลยีเฟรม รีเลย์, เอทีเอ็ม อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเครือข่ายส่วนตัวเสมือนจริง (วีพีเอ็น:เวอร์ช่วล ไพรเวท เน็ทเวิร์ค) ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่ องค์กรสามารถ ติดตั้งอุปกรณ์เราท์เตอร์ และซอฟต์แวร์เพื่อการเข้ารหัสข้อมูลทั้งต้นทาง และปลายทางเพื่อทำให้ส่งข้อมูลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะเสมือนเป็นช่องทางสื่อสารเฉพาะขององค์กรนั้นๆ ได้อย่างปลอดภัย

 

ส่วนไอพี-วีพีเอ็น นั้น เป็นการลงทุนของผู้ให้บริการที่มีไพรเวท ไอพี แบ็คโบนของตนอยู่แล้ว และใช้โปรโตคอล MPLSL : Multi Protocal Label Switch จะให้บริการวีพีเอ็นที่องค์กรลงทุนน้อยกว่าวีพีเอ็นแบบเดิมที่ต้องติดตั้งจุดต่อจุด โดยลูกค้าจะได้รับการส่งข้อมูลแบบปลอดภัย และเชื่อมต่อข้อมูลได้หลายจุดโดยไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ และมีการประกันระดับของคุณภาพของบริการ (QOS) จากผู้ให้บริการ

 

ล่าสุดบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมระดับโลก บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ในประเทศ และบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย กำลังให้บริการ และช่วงชิงลูกค้าในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน และมีหลายสำนักวิจัยระดับโลกที่คาดการณ์ตรงกันว่าไอพี วีพีเอ็นจะเป็นบริการที่ใช้กันโดยทั่วไป (เมนสตรีม) ในอนาคตอันใกล้ ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ระบุว่า หากมีผู้ให้บริการไอพี วีพีเอ็นแพร่หลาย ตลาดเริ่มตื่นตัวรับรู้แล้ว ก็จะเป็นบริการที่ใช้กันทั่วไปในการเชื่อมต่อระยะไกล (WAN Service) โดยปี 2543 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นบริการดังกล่าวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยตลาดใหญ่น่าจะอยู่ในออสเตรเลีย รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

3 รูปแบบการใช้งาน

สำหรับบริการไอพี วีพีเอ็น แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตั้งแต่ เครือข่ายภายในองค์กร (อินทราเน็ต), เครือข่ายเฉพาะกลุ่มพันธมิตรธุรกิจขององค์กร (เอ็กซตร้าเน็ต) และการเข้าถึงจากระยะไกล (รีโมท แอ็คเซส) ส่วนโปรโตคอลที่จะใช้สื่อสารข้อมูลมีทั้ง IPSec, L2TP และ PPTP แต่ละอย่างมีข้อได้เปรียบที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม MPLS จะเป็นโปรโตคอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในภูมิภาค เพราะผู้ให้บริการรายใหญ่เลือกที่จะใช้โปรโตคอลนี้ ที่สามารถรองรับการเพิ่มขยายจำนวนผู้ใช้ และบริการเสริมใหม่ๆ ในอนาคต บริษัทที่ปรึกษาแห่งนี้ ประมาณรายได้จากตลาดไอพี วีพีเอ็น ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ 150.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2543 และคาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยจนถึงปี 2551 อยู่ที่ 55.5% หรือประมาณ 5.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการรับการใช้บริการนี้อยู่ที่ต้นทุนการใช้บริการ และการเข้าถึงเครือข่ายจากทุกอุปกรณ์ ระบบรักษาความปลอดภัย และคุณภาพของการให้บริการ

ส่วนผลตอบรับการใช้บริการนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริการที่นำเสนอ ซึ่งต้องแข่งขันได้กับบริการแวนแบบดั้งเดิม และการตลาด และการส่งเสริมการขาย หากไอพี วีพีเอ็น ลดราคาลงมาได้ก็เป็นภัยคุกคามกับบริการเฟรมรีเลย์ /เอทีเอ็มที่มีอยู่ในตลาด นอกจากนั้นแล้วมีข้อมูลจากบริษัทวิจัยชั้นนำ อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (ไอดีซี) คาดการณ์ว่า บริการไอพี วีพีเอ็นนี้จะเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับธุรกิจ และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดจาก 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2544 มาเป็น 14.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 ด้วย

 

ต้นทุนต่ำกว่าวงจรเช่า 20-30%

ข้อมูลจากสมุดปกขาวของบริษัท พีเอสไอ เน็ต (PSINet) ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมระดับโลก ระบุว่า เทคโนโลยีไอพี วีพีเอ็นนี้จะเปลี่ยนเครือข่ายภายในองค์กร (อินทราเน็ต แลน) ให้เชื่อมโยงออกภายนอกองค์กรที่เป็นเครือข่ายแวน (WAN) แบบปลอดภัย โดยใช้มาตรฐานระบบเปิดและทำงานร่วมกันได้ตั้งแต่ต้นทางผู้ส่งจนถึงปลายทางผู้รับข้อมูล ซึ่งจะมีการเข้ารหัสข้อมูลด้วย ดังนั้นการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้เป็นเครือข่ายระยะไกลขององค์กร ทำให้ลดต้นทุนการเชื่อมต่อวงจรสื่อสารระหว่างประเทศลง 20-30% เทียบกับการวงจรเช่า (ลีสด์ เซอร์กิต) และนั่นหมายถึงองค์กรสามารถเพิ่มความเร็วของสายสองเท่า ขณะที่ลดค่าใช้จ่ายสื่อสารระยะไกล 50% นอกจากนั้นแล้ว ข้อได้เปรียบสำคัญประการหนึ่งไอพี วีพีเอ็น จะสนับสนุนการเชื่อมต่อในทุกรูปแบบทั้งการโทรเข้าเครือข่ายจากโทรศัพท์เคลื่อนที่จีเอสเอ็ม การหมุนโทรศัพท์เข้าแบบอนาล็อก ไอเอสดีเอ็น การใช้โมเด็มความเร็วสูง (เอดีเอสแอล) และไวร์เลส แลน

 

ชี้ข้อดีทั้งผู้ให้/ผู้ใช้บริการ

นายสุพจน์ ศรีนุตพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงประโยชน์จากการใช้งานไอพี-วีพีเอ็น ว่า จะเหมาะกับองค์กรที่มีสำนักงานสาขากระจายในที่ต่างๆ ที่ทำให้เชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างสำนักงานกลาง และสาขาได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการสื่อสารแบบดั้งเดิม รวมถึงอำนวยความสะดวกให้พนักงานที่ต้องเดินทางและทำงานจากภายนอกองค์กรได้เชื่อมต่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญภายในองค์กรแบบระยะไกล และปลอดภัย โดยไม่ต้องเสียค่าโทรทางไกล ส่วนผู้ให้บริการ (เซอร์วิส โพรไวเดอร์) จะได้ประโยชน์เช่นกัน โดยลงทุนเพียงครั้งเดียว ก็สามารถแบ่งช่องสัญญาณที่มีอยู่ให้บริการได้จำนวนมาก เพิ่มขยายระบบง่าย และรองรับบริการที่หลากหลายแอพพลิเคชั่นด้วย "ในไทยเอง มีบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ และบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จะเริ่มให้บริการไอพี วีพีเอ็น มากขึ้น โดยผู้ให้บริการเหล่านี้ จะมีไอพี เน็ตเวิร์คที่ใช้ภายในองค์กรอยู่แล้ว แต่จะต้องลงทุนอุปกรณ์เราท์เตอร์เพิ่มเติม เพื่อสามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้" นายสุพจน์ กล่าว

 

คุ้มทุนใน 3 เดือน

นายอัครพงศ์ ผ่องสุวรรณ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอเชีย เน็ตคอม สำนักงานใหญ่ฮ่องกง ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศ กล่าวว่า แนวโน้มของไอพี/วีพีเอ็น จะเป็นบริการที่มาทดแทนการใช้วงจรเช่า (ลีสด์ไลน์)และเฟรม รีเลย์ ในตลาดองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากมีระบบซิเคียวริตี้ และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าระบบเดิม รองรับแอพพลิเคชั่นมัลติมีเดียได้ ทำให้องค์กรสามารถถึงจุดลงทุนได้ใน 3 เดือน โดยมีข้อมูลจากบริษัทวิจัยระดับโลก การ์ทเนอร์ ระบุว่า ไอพี/วีพีเอ็น จะกลายเป็นบริการมาตรฐานหรือเมนสตรีมใน 5 ปี ขณะที่บริการวงจรเช่า และเฟรม รีเลย์จะลดสัดส่วนลงเรื่อยๆ

 

ทศท ประเดิมตลาดรัฐ

นายมนต์ชัย หนูสง ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนการตลาดและการขายสื่อสารข้อมูล บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ให้บริการไอพี วีพีเอ็นที่ใช้เอ็นพีแอลเอส มากกว่า 1 ปีแล้วโดยมากจะเน้นที่ลูกค้าหน่วยราชการรัฐ 80-90% โดยเฉพาะเครือข่ายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และกรมการปกครอง "การแข่งขันการให้บริการนั้น บริษัทจะมีความได้เปรียบที่จะขอบเขตการให้บริการที่ทั่วถึงจากจุดต่อเชื่อม (POP) ที่กระจายทั่วประเทศ " นายมนต์ชัย กล่าว

 

ทีเอ พร้อมเปิดไตรมาส 4

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ กล่าวว่า บริษัทมีแผนการให้บริการไอพี วีพีเอ็นที่ใช้โปรโตคอลสื่อสาร เอ็นพีแอลเอส ภายในไตรมาส 4 นี้ โดยจะใช้ไอพี แบ็คโบนที่มีอยู่แล้วซึ่งให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (เอดีเอสแอล) ทั่วกรุงเทพฯ บริการนี้ ยังค่อนข้างใหม่ ที่ต้องให้ความรู้ถึงประโยน์ที่ได้จากการใช้งาน ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการสื่อสารข้อมูลแบบเดิม ที่จะเป็นการติดตั้งบริการแบบจุดต่อจุด ส่วนบริการใหม่องค์กรที่มีสำนักงานหลายสาขาสามารถเชื่อมต่อได้ในคราวเดียว ด้านนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีแผนการให้บริการดังกล่าวเช่นกัน โดยมองว่าเทคโนโลยีนี้เป็นแพลทฟอร์มที่หลอมรวมการสื่อสารเสียง ข้อมูล และมัลติมีเดีย ซึ่งผลดังกล่าวทำให้เกิดการลดต้นทุนทั้งบริษัทผู้ให้บริการ และลูกค้าองค์กร

 

ชิงความได้เปรียบจากช่องสัญญาณ

นายตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไอพี/วีพีเอ็น มีแนวโน้มที่จะเป็นที่นิยม เพราะมีประโยชน์กับผู้ใช้ส่วนใหญ่ ทั้งความเร็วเพิ่มขึ้น และราคาต่ำลง ดังนั้นบริษัทสื่อสารทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนจะตื่นตัวการให้บริการดังกล่าว "การแข่งขันในบริการนี้อยู่ที่การใช้ช่องสัญญาณยิ่งมากก็ยิ่งได้เปรียบราคาต่อหน่วย ปริมาณการยึดพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม และคุณภาพเครือข่ายที่ดีกว่า รวมถึงการมีฐานลูกค้าองค์กรที่มากกว่าก็มีโอกาสที่จะโยกฐานลูกค้าที่ใช้บริการลีสไลน์เดิมมาใช้บริการใหม่ได้" นายตฤณ กล่าว เขา กล่าวต่อว่า บริการนี้จะเป็นที่แพร่หลายหรือไม่นั้นอยู่ที่การให้ความรู้กับลูกค้าว่าจะช่วยลดต้นทุน เพื่อให้เกิดความต้องการใช้งาน ส่วนของเทคโนโลยีนั้น ลงทุนไม่สูงมากนัก เพียงเพิ่มอุปกรณ์บางอย่างต่อเชื่อมไอพี แบ็คโบนที่มีอยู่เดิมก็สามารถให้บริการได้แล้ว สำหรับกลุ่มลูกค้าจะเป็นองค์กรที่มีสำนักงานใหญ่ที่จะต้องการเชื่อมต่อกับโรงงานในต่างจังหวัด กลุ่มธนาคารสถาบันการเงินที่เชื่อมต่อระหว่างสาขา

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.